หลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว การกำจัดตอซังและฟางข้าวในนาด้วยการเผา คือวิธีการเตรียมพื้นที่เพื่อการทำนารอบต่อไป แต่เรื่องนี้กลายเป็นอดีตไปแล้วสำหรับชาวนาในสามวาตะวันออก
เพราะความตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีที่มาจากการเผาในพื้นที่เกษตร ทำให้เกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา มองหาวิธีจัดการเศษวัสดุในรูปแบบอื่น ด้วยการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวแทนการเผาทิ้งแบบเดิม
“เขตคลองสามวาเคยติดอันดับท็อป 10 ของฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อไรก็ตามที่มีปัญหาฝุ่น พี่น้องเกษตรกรจะตกเป็นจำเลยตลอดว่าเราเป็นต้นเหตุ เราจึงเปลี่ยนวิธีการกำจัดโดยนำมาอัดเป็นฟางก้อน เพื่อจะได้ไม่ต้องเผา และช่วยลดปัญหาฝุ่นด้วย” พรชัย เขียวอ่อน ประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว แขวงสามวาตะวันออก เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่เกิดจากความเห็นพ้องกันของชุมชน
พวกเขาร่วมกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นเมื่อปี 2559 และขอสนับสนุนเครื่องอัดฟางข้าวพร้อมรถแทรกเตอร์ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำมาบริหารจัดการฟางข้าวของชาวนาในพื้นที่เขตคลองสามวา
ฟางอัดก้อนที่แปรรูปได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการเพาะเห็ดฟาง เป็นวัสดุคลุมแปลงผัก เป็นอาหารสัตว์ ไปจนถึงเป็นของตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ในงานอีเวนต์ต่างๆ เมื่อถูกจำหน่ายออกไปเปลี่ยนเป็นรายได้กลับมายังเกษตรกรอีกต่อหนึ่ง
“ปัจจุบันเรามีสมาชิกในกลุ่มกว่า 30 ราย รวมพื้นที่เกษตรทั้งหมดประมาณ 1,200-1,300 ไร่ หลังจากที่เราคุยกันในกลุ่มว่าจะไม่มีการเผากันแล้ว เราก็ใช้สองวิธี คือการทำฟางอัดก้อน และไถกลบตอซังเพื่อให้เป็นปุ๋ยอยู่ในนา เพราะบางพื้นที่เป็นนาหล่ม ใช้อุปกรณ์หนักลงไม่ได้ หรือนาบางแปลงข้าวล้มก็อัดฟางไม่ได้ เพราะฟางเสียหายหมดแล้ว”
เครื่องอัดฟางที่ทางกลุ่มมีอยู่ 2 ชุด ทำหน้าที่เปลี่ยนเศษฟางเป็นสินค้าที่มีมูลค่า ทั้งยังสอดรับกับภารกิจในแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งเสริมประโยชน์จากการไม่เผาชีวมวล และต่อยอดมาสู่การแปรรูปฟางอัดก้อนให้เป็นฟางอัดแท่ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า
โดยทำงานร่วมกับโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพื่อสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ซึ่งได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องยนต์ต้นกำลังชีวมวล ที่ใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างเศษไม้หรือฟางอัดแท่ง มาแปลงเป็นพลังงานด้วยกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น โดยไม่ทำให้เกิดฝุ่นควันที่เป็นมลพิษทางอากาศ
การแปรรูปฟางอัดก้อนให้เป็นฟางอัดแท่ง ได้รับความร่วมมือจากบริษัท บุญโอบกิจการ จำกัด ซึ่งพีรศักดิ์ หอระตะ วิศวกรที่ปรึกษาการผลิตฟางอัดแท่ง เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนที่ต้องเริ่มจากการนำฟางอัดก้อนมาเข้าเครื่องย่อยจนละเอียด แล้วเข้าสู่กระบวนการอัดแท่งด้วยเครื่องอัดที่เผาไหม้ในตัวด้วยความร้อน 280-300 องศาเซลเซียส จนฟางยึดติดกันเป็นก้อน
ทั้งนี้ ฟาง 1 ก้อน จะได้ฟางอัดแท่ง 1 ก้อน โดยระหว่างกระบวนการจะสูญเสียน้ำหนักฟางประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จากการฟุ้งกระจายหรือความชื้นที่หายไประหว่างเผา ฟางอัดแท่งที่ได้จะเป็นฟางที่เผาไหม้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงนำมาผึ่งให้แห้งก่อนนำไปใช้งาน ซึ่งสามารถใช้แทนฟืนหรือใช้กับเครื่องผลิตแก๊สซิไฟเออร์ เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า
“ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกเอาไปใช้กับมอเตอร์วิดน้ำเข้านา ปกติเกษตรกรใช้ไฟเดือนหนึ่งก็หลายพันบาท เครื่องยนต์ต้นกำลังชีวมวลจึงตอบโจทย์ได้ดี เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้พี่น้องเกษตรกร ผมมองว่ามันได้ประโยชน์หลายต่อ หนึ่งคือไม่เกิด PM2.5 ฟางจากนาได้ใช้ประโยชน์ และเอามาทำเป็นแก๊สได้” พรชัยให้ความเห็น
และเขายังมองต่อไปอีกว่า “ผมคิดถึงการต่อยอดฟางอัดแท่งนี้โดยการเผาสุกร้อยเปอร์เซ็นต์ในเตาอบฟาง เพื่อเป็นถ่านใช้ในครัว หรือหากโครงการนี้มีการนำไปใช้กับอุทยานแห่งชาติที่มีเศษไม้ใบไม้เยอะและไฟฟ้าเข้าถึงยาก ก็น่าจะดี”
หลังจากนี้ ทั้งอุปกรณ์ผลิตฟางอัดแท่ง และเครื่องยนต์ต้นกำลังชีวมวลที่พัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว จะนำมาติดตั้งที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว แขวงสามวาตะวันออก เพื่อใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกร และเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ไปยังผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม นำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานหรือวิสาหกิจชุมชนที่มองหาแนวทางใหม่ๆ ในการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเช่นเดียวกัน