ตามสถิติในอดีต ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้นตามอายุ มักพบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด หรือมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ รวมถึงการรับเอาควันบุหรี่มือสอง แต่ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดสามารถพบได้ในคนที่อายุยังน้อย และพบในกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่
มีรายงานจากหลายประเทศในแถบเอเชีย ระบุว่า อุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่จะลดลงเรื่อย ๆ ตามอัตราการสูบของคนรุ่นใหม่ที่ลดน้อยลง
แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ อัตราส่วนของผู้ป่วยมะเร็งปอดจากการไม่สูบบุหรี่กลับพบมากขึ้น และเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าชาย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับค่าฝุ่น PM2.5 สูง เป็นความสัมพันธ์ทางระบาดวิทยาที่ชี้ชัดว่า มลพิษทางอากาศมีผลต่อสัดส่วนของคนไข้ที่เป็นมะเร็งปอดจากการไม่สูบบุหรี่
PM2.5 เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอดอย่างไร เข้าไปกระตุ้นเซลล์ให้เกิดการกลายพันธุ์ และเติบโตเป็นมะเร็งได้อย่างไร ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร อาจารย์แพทย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้คำอธิบายเอาไว้ถึงพิษภัยของฝุ่นจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่อำนาจทะลุทะลวงสูงเกินตัวมหาศาล
ผลกระทบของ PM2.5 นั้น เกิดขึ้นได้ในระยะสั้นและระยะยาว ในช่วงที่ระดับ PM2.5 มีค่าสูง เราจะรู้สึกได้ถึงความอึดอัดหายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว ลมพิษขึ้น ตาแดงระคายเคือง เลือดกำเดาไหล เมื่อฝุ่นจางอาการก็หายไปด้วย แต่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้นเกิดขึ้นในระยะยาว และสร้างผลกระทบรุนแรงมากในอนาคต
ด้วยความเล็กจิ๋วของฝุ่น เมื่อเราหายใจเข้าไปฝุ่นจะสามารถเดินทางเข้าไปถึงเนื้อปอด ถุงลม และดูดซึมเข้ากระแสเลือด กระจายเข้าสู่ทุกระบบทุกอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่มีหลอดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งหมายถึงทั่วร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เมื่อดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดไปสะสมอยู่ที่ใด ก็จะเกิดปัญหาในอวัยวะส่วนนั้น เช่น สะสมที่สมองก็ทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดสมอง
สำหรับการเกิดมะเร็งปอดนั้น PM2.5 ไม่ได้ก่อความผิดปกติขึ้นที่ปอดโดยตรง แต่อนุภาคเล็ก ๆ ของฝุ่นซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการอักเสบเพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมนี้ และการอักเสบเรื้อรังนี่เองที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะ นั่นหมายความว่า อวัยวะส่วนอื่นก็เป็นมะเร็งจาก PM2.5 ได้เช่นกัน หาก PM2.5 เดินทางไปถึง
และเมื่อนำเอาเนื้อปอดมาตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดมะเร็งปอด จะพบยีน Epidermal Growth Factor Receptor หรือ EGFR ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจพบว่า คนไทย 10 คน เกิน 5 คนจะมีการกลายพันธุ์ของยีนนี้ แสดงถึงอุบัติการณ์ของคนเป็นมะเร็งปอดในกลุ่มคนไม่สูบบุหรี่ ที่เพิ่มขึ้นล้อกันไปกับระดับ PM2.5 ที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการเก็บสถิติทางระบาดวิทยา ทำการทดลองในหนูโดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ที่มีค่า PM2.5 ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อีกกลุ่มหายใจเอาอากาศที่มีค่า PM2.5 ในระดับ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เป็นค่ามาตรฐานในอดีตของไทย ปัจจุบันปรับลดลงมาที่ 37.5) ผลปรากฏว่า ตรวจพบเนื้องอกที่มีการกลายพันธุ์ของยีน EGRF ในหนูกลุ่มที่สอง
การทดลองนี้จึงช่วยย้ำชัดว่า PM2.5 เข้าไปกระตุ้นให้เกิดเนื้องอก และเนื้องอกเหล่านี้มีการกลายพันธุ์ของยีน EGRF และเติบโตเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน
ความน่ากังวลจึงตกอยู่ในกลุ่มของคนหนุ่มสาวหรือวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ ที่ต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ท่ามกลางฝุ่น PM2.5 ที่ลอยอยู่ในอากาศ ทั้งนี้ ค่า PM2.5 ที่ขยับสูงขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มอัตราการตายสูงขึ้น 0.7-0.8 เปอร์เซ็นต์
ท่ามกลางปัญหาฝุ่นที่หลายฝ่ายกำลังร่วมกันแก้ไข และเราทุกคนยังไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญได้ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ควรตรวจสภาพอากาศในทุกวัน สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นในวันที่ค่าฝุ่นสูง เป็นต้น
ที่มาข้อมูล: งานเสวนา ‘ศิริราชใส่ใจคุณทุกลมหายใจ’ โดยความร่วมมือระหว่าง Siriraj Health Policy มหาวิทยาลัยมหิดล, สสส. และกรุงเทพมหานคร