‘The Air We Share’ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นในเมืองกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), บีทีเอส กรุ๊ปฯ, กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน นำเอาองค์ความรู้และแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นในเมืองหลากหลายมิติ มาสร้างความรับรู้และเข้าใจกับคนเมือง ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และสามารถปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
โดยบีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้เปิดพื้นที่บริเวณทางเดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ แยกปทุมวัน เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการลดผลกระทบต่อสุขภาพ ผ่านนิทรรศการซึ่งนำเสนอการขนส่งทางเลือกลดฝุ่น และเสียงสะท้อนของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อ PM2.5 ที่จะมีไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2567 จากฝุ่นพิษนี้
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนในอากาศ เป็นหนึ่งในปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป หรือ The European Economic Area (EEA) ที่ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อมนุษย์
หากได้รับในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อหุ้มปอด ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดเป็นอันดับ 2 รองจากบุหรี่ ส่งผลให้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน
“กิจกรรม The Air We Share นิทรรศการสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมของสังคมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่จัดขึ้นนี้ เน้นให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดฝุ่นละออง ช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในการทำกิจกรรมนอกอาคาร หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง นำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมในการแก้ปัญหาร่วมกัน”
ด้าน วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงมาตรการลดฝุ่นที่กรุงเทพมหานครดำเนินการอยู่กว่า 30 เรื่อง อาทิ การรณรงค์ Work from Home เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระดับสีแดง ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย รณรงค์เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรองอากาศรถยนต์ ห้องเรียนปลอดฝุ่น ฯลฯ
“ส่วน The Air We Share เป็นกิจกรรมนำร่องในเขตปทุมวัน เน้นสร้างองค์ความรู้ให้ทุกคนตระหนักว่า ปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศ ถือเป็นการพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง มุ่งลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว สอดคล้องแผนการลดฝุ่น 365 วัน ปี 2567 ของ กทม.”
นอกจากเวทีเสวนาที่ให้ความรู้เรื่องฝุ่นจากการจราจรและขนส่งและผลกระทบ พร้อมแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และการร่วมกันแก้ปัญหาของภาคีเพื่ออากาศสะอาดแล้ว ในวันเปิดงานยังมีกิจกรรมจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ
โครงการเขตมลพิษต่ำในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำเสนอองค์ความรู้การจัดการฝุ่นด้านวิทยาศาสตร์และสังคม การป้องกันและหลีกเลี่ยงฝุ่นในแต่ละฤดู พร้อมเรียนรู้ผ่านเกมที่เหมาะกับทุกวัย เชื่อมโยงกับกฎหมายอากาศสะอาดที่กำลังอยู่ในการผลักดัน
โครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพื่อสุขภาวะคนเมือง (หลวง) และสภาลมหายใจกรุงเทพฯ กับองค์ความรู้ในการลดฝุ่นในเมืองหลวง อาทิ ดัดแปลงรถยนต์ดีเซลเก่าเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ช่วยลดการเผา โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นของกรุงเทพมหานคร พร้อมข้อแนะนำในการปลูกต้นไม้ลดฝุ่น ฯลฯ
โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น ที่มีน้อง ๆ นักเรียนจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มาร่วมรณรงค์ช่วยกันลดฝุ่นผ่านผลงานศิลปะ ชวนปลูกต้นไม้ลดฝุ่น และนำเสนอเครื่องกรองฝุ่นที่แผ่นกรองทำจากผักตบชวา กาบกล้วย ลิ้นมังกร
นวัตกรรมซอฟต์แวร์แก้ปัญหาฝุ่น โดย Aiya Engineer ทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากกิจกรรม ‘YouThful Issue Competition’ การแข่งขันนวัตกรรมแก้ปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไอเดียการตรวจจับรถที่ปล่อยควันเสียเกินเกณฑ์ โดยทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิดสาธารณะที่มีอยู่เดิม
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ การรับมือกับฝุ่น PM2.5 การสังเกตอาการ และหากมีอาการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM2.5 สามารถเข้ารับบริการตรวจและรักษาได้ฟรีที่คลินิกมลพิษทางอากาศ ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ซึ่งจะเปิดให้บริการพิเศษเฉพาะช่วงที่ค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐานเป็นเวลา 3 วันขึ้นไป
แพลตฟอร์มแนะนำสำหรับคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น อาทิ แพลตฟอร์ม ‘4 HEALTH’ โดยกรมอนามัย ที่ช่วยให้เราได้ติดตามคุณภาพอากาศ ประเมินอาการป่วยจาก PM2.5 ปรึกษาแพทย์ และค้นหาคลินิกมลพิษเพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง ค้นหาห้องปลอดฝุ่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงด้วยแพลตฟอร์ม ‘ห้องปลอดฝุ่น’ พร้อมวิธีสร้างห้องปลอดฝุ่นที่ปลอดภัยได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีมินิเวิร์กช็อปการทำเครื่องฟอกอากาศ DIY หน้ากากกันฝุ่น DIY การปลูกต้นไม้กรองฝุ่น ห้องปลอดฝุ่น บอร์ดเกม PM2.5 Bangkok crisis ที่ล้วนเป็นความรู้และไอเดียในการป้องกันตัวเองจากฝุ่นร้าย
ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในงานนี้ ล้วนช่วยให้เราทำความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM2.5 ได้มากขึ้น ทั้งที่มาของฝุ่น พิษภัยของฝุ่นที่มีต่อสุขภาพ แนวทางแก้ปัญหาที่รัฐกำลังดำเนินอยู่ วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยง รวมถึงหนทางที่พวกเราทุกคนจะช่วยกันลดฝุ่นได้ เพื่อให้อากาศในเมืองนี้สะอาดขึ้น