เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่น่ายินดีสำหรับผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และอาจเป็นแรงสนับสนุนเล็กๆ ให้พลพรรรคที่หวังอยากเห็นค่ามลพิษทางอากาศในเมืองลดลง และกำลังตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ได้มีเหตุผลอีกหนึ่งข้อมาสนับสนุนทางเลือกใหม่ของตัวเองว่า นี่แหละ เหมาะแล้วว่าทำไมรถคันใหม่ถึงต้องไม่ใช้น้ำมันแบบเดิมๆ แล้ว
สิ่งที่ไม่ใช่เรื่องคิดไปเองคือ ตอนนี้หลายต่อหลายคนมีความสนใจในตัวรถยนต์ไฟฟ้า เพราะเราเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศกันมานานเกินพอแล้ว ยิ่งคนในเมืองใหญ่จะรู้ดีว่ามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป และยิ่งเมืองใหญ่ที่มีการใช้รถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงกันอย่างหนาแน่น ก็ยิ่งปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม แล้วย้อนกลับมาสู่ลมหายใจของเราเป็นเงาตามตัว
ล่าสุดกรมขนส่งทางบก ได้ออกนโยบายมาสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีรถประจำปี ในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และยังได้กำหนดคุณสมบัติของกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ความเร็วขั้นต่ำรวมถึงส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถที่จะจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ซึ่งจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถใช้งานบนท้องถนนร่วมกับรถประเภทอื่นได้อย่างปลอดภัย
รถพลังงานไฟฟ้าประเภทไหนจดทำเบียนได้บ้าง
รถที่จะจดทะเบียนนั้นครอบคลุมทั่วถึงทั้งรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร รถยนต์บริการให้เช่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนแบบพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์
รถเหล่านี้จะต้องติดเครื่องหมาย ‘e’ หรือมีการกำหนดรหัสหรือรุ่นของผู้ผลิต ที่แสดงถึงการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวร และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าหรือความเร็วสูงสุดไม่เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะต้องติดเครื่องหมาย ‘s’ ไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวร และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
ในส่วนของรถยนต์รับจ้างสามล้อ รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในขณะที่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ แต่ไม่เกิน 4 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ทั้งนี้ มอเตอร์ไฟฟ้าของรถทุกประเภทข้างต้น จะต้องขับเคลื่อนรถรวมน้ำหนักบรรทุกด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กำหนดได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาทีด้วย
อัตราภาษีประจำปีที่ใจดีกว่ารถเติมน้ำมัน
สิ่งที่ดึงดูดใจเราขึ้นได้อีกนิด เมื่อรู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าหลายประเภทสามารถจดทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบกได้หากมีคุณสมบัติดังที่กล่าวถึงไปข้างต้น คือภาษีรถประจำปีที่รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ระบุเอาไว้ว่า
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะจัดเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถตามรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้) เช่น รถเก๋งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,510 กิโลกรัม เสียภาษีรถประจำปีตามน้ำหนักของรถตู้ ในอัตราคันละ 1,300 บาท ต่างจากกรณีรถเก๋งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีการจัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซีซี) และคำนวณอัตราภาษีก้าวหน้าแบบขั้นบันได จึงมีอัตราภาษีที่สูงกว่า โดยจะมีส่วนลดภาษีสำหรับรถที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
ส่วนรถตู้ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จัดเก็บภาษีในอัตรากึ่งหนึ่งของรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เสียภาษีรถประจำปีคันละ 100 บาท แต่รถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะเสียภาษีประจำปีในอัตราคันละ 50 บาท เท่านั้น
หากยังมีข้อสงสัย หรืออยากทราบรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถนำมาจดทะเบียนและอัตราภาษีรถประเภทต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก www.dlt.go.th
ด้วยมาตรการลดภาษีรถประจำปีรถยนต์ไฟฟ้าให้มีอัตราที่ต่ำกว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และให้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีกำลังมอเตอร์ตามที่กฎหมายกำหนด สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนให้คนหันมามองรถพลังงานไฟฟ้า ที่จะช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดฝุ่น PM2.5 ได้อีกทาง
และเมื่ออากาศดี คุณภาพชีวิตของคนเมืองก็คงจะดีขึ้นได้บ้างอีกสักเรื่อง
ที่มาข้อมูล:
1. www.dlt.go.th
2. www.itax.in.th