Low Emission Zone (LEZ) หรือการกำหนดพื้นที่เขตมลพิษต่ำ เป็นอีกวิธีการควบคุมมลพิษอย่างจริงจังของหลายประเทศในยุโรป ซึ่งช่วงปี 2565 ในไทยเองก็ได้มีความพยายามจับมือกันกับหลายภาคส่วน นำแนวคิด Low Emission Zone ต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่เขตปทุมวันเป็นพื้นที่นำร่อง
ขณะเดียวกัน ด้วยวิกฤตค่าฝุ่นกรุงเทพฯ ที่พุ่งทุกเขต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) ภาคเอกชน และภาคประชาชน เปิดพิธีแสดงเจตจำนงโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone, LEZ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมเตรียมขยาย 4 เขต ค่าฝุ่นสูงในกทม.
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศคือต้นเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตจากทั้งหมดของประเทศ สสส. จึงเน้นสร้างความร่วมมือหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ วัด และประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ต้นทาง
“โครงการในระยะที่ 1 นำร่องในพื้นที่เขตปทุมวัน พัฒนานวัตกรรมสามเรื่องคือ หนึ่ง-ระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) รายงานผลการตรวจสอบสภาพรถและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของผู้ที่ใช้รถในเขตปทุมวัน 1,000 คัน สอง-บริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการในพื้นที่ สาม-ระบบเซ็นเซอร์วัดค่า PM 2.5 ที่แสดงผลทันที
“ถือเป็นการสร้างมาตรการกลไกการมีส่วนร่วมลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งไฟฟ้าสาธารณะ พลังงานสะอาด บำรุงรักษาตรวจสอบสภาพรถ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด กลายเป็นถนนอากาศสะอาดลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลงถึง 10%”
นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า โครงการในระยะที่ 2 เร่งขยายเพิ่ม 4 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ คลองสาน ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย บางรัก และผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการต้นแบบลดมลพิษทางอากาศเพิ่ม 100 องค์กร ภายในปี 2567
ขณะที่ นายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้อำนวยการ ศวอ. กล่าวว่า “ปัญหาฝุ่น เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมาก ผมเองอยู่ภาคเหนือทนทุกข์เรื่องนี้มา 15 ปี จึงเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งในเมืองมีต้นตอมาจากควันไอเสีย ชนบทมาจากการเผาในที่โล่ง วิธีการจัดการปัญหาก็ต่างกัน
“ดังนั้นในสถานการณ์มลพิษทางอากาศ ในนาม ศวอ. ทั้งในระยะที่ 1 และ 2 เรามีบทบาทสำคัญในการหาแนวทาง สร้างการสื่อสาร สร้างการรับรู้ และที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่จะดีกว่านี้”
ว่าที่ ร.ต.วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี อยู่ที่ 47.0-105.0 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร) จากสองสาเหตุหลัก คือการจราจรขนส่งในเขตพื้นที่เมือง และการเผาไหม้ในที่โล่ง
“โครงการ LEZ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือเป็นการพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เกิดพื้นที่นำร่องเขตปทุมวัน ที่นำไปสู่การประยุกต์ในพื้นที่อื่น ๆ ที่สอดคล้องตามแผนการลดฝุ่น 365 วัน ปี 2567 ของ กทม. ได้
“ที่ผ่านมา กทม. มีแผนหลักในการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 โดยดำเนินการร่วมกับ 23 หน่วยงาน ตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ โครงการเขตมลพิษต่ำก็เป็นหนึ่งโครงการที่อยู่ในแผน ซึ่งมีทั้งการตรวจสภาพรถที่เข้าออกให้มีควันดำไม่เกินมาตรฐาน เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ บริการฟรีของมาบุญครอง และการตรวจวัดคุณภาพอากาศกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ใช้เครื่อง Sensor for All” ว่าที่ ร.ต.วิรัช กล่าว
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของงาน ได้มีเสวนาพิเศษเรื่อง ‘เขตมลพิษต่ำช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นเมืองได้จริงไหม’ โดยภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและพร้อมแสดงเจตจำนงร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนใช้รถสาธารณะพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องไปทิศทางเดียวกันว่า เขตมลพิษต่ำช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นเมืองได้จริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายภาคส่วน
นอกจากนี้ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจ กทม. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรื่อง LEZ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นการก้าวข้ามมาอีกขั้น และความจริงแล้วอากาศสะอาดไม่สามารถทำได้เพียงเขตใดเขตหนึ่ง เพราะอากาศไหลไปไหลมา ต้องทำร่วมกัน โดยมีสี่ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ
“คือหนึ่ง-ความรู้ สอง-ความกล้า แต่ความกล้าจะความหมายก็ต่อเมื่อเราต้องมีพลังจากภาคอื่นที่มาร่วมกัน รวมถึงเสียงจากภาคประชาชน สาม-ความต่อเนื่อง เพราะการแก้ปัญหาในอากาศ ต้องมีความต่อเนื่องกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง และสี่-ยอมรับและเข้าใจในข้อจำกัดของกันและกันในแต่ละหน่วยงาน รับฟังอย่างตั้งใจ และต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน”