ฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพคนในทุกช่วงวัย ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและเพิ่มโอกาสเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็ก
จากข้อมูลการเฝ้าระวังปริมาณฝุ่น PM2.5 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า ใน 50 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม จะมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก 10-126 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยแหล่งกำเนิดส่วนใหญ่มาจากเหตุที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การจราจรขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม
เพื่อปกป้องและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก ขยายผลสู่ชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 เพื่อส่งต่อแนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะให้แก่นักเรียน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กระทบสุขภาพ โดยมีโรงเรียนในสังกัด กทม. เข้าร่วม 437 โรงเรียน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงผลลัพธ์ของโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในระยะที่ 1 ว่า “ได้สร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงผ่านการเรียนการสอนจากครูสู่เด็กและเยาวชน ใน 32 โรงเรียน ส่งต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคม ทำให้เกิดสถานศึกษาต้นแบบรับมือฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ”
โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ระยะที่ 1 ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมระบบข้อมูล องค์ความรู้ และสื่อ เช่น กล่องดักฝุ่น หุ่นยนต์สู้ฝุ่น บอร์ดเกม งานศิลปะ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการขยายผลและสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องระดับชุมชน และสังคม
ในจำนวน 32 โรงเรียนนี้ มีโรงเรียนที่ได้รับผลการประเมินระดับดีเลิศ 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ โรงเรียนประชานิเวศน์ โรงเรียนสุเหร่าใหม่ สำนักงานเขตสวนหลวง โรงเรียนวัดวิมุตยาราม โรงเรียนวัดราชบูรณะ โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ และโรงเรียนวัดกันตทาราราม
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การจัดอบรมครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและเร่งด่วน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุน ยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่น PM2.5
“รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม สู่การผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อบรรลุเป้าหมายกรุงเทพมีค่าฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ภายในปี 2567 ทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป”
โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ 1 ใน 7 โรงเรียนที่ได้รับผลการประเมินระดับดีเลิศ จากโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ได้ใช้ทักษะในการเรียนรู้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-ป.6) พัฒนาผลงานนวัตกรรมเครื่องดักฝุ่น ที่ชื่อว่า ‘TN Dust trap box’
ด.ช.ภาสวัฒน์ สุวรรณศรี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เล่าถึงการทำงานของเครื่องดักฝุ่นนี้ว่า “เครื่องจะทำงานด้วยแนวคิดดูด ดัก ดัน คือเครื่องทำหน้าที่ดูดอากาศ ใช้น้ำดักฝุ่นให้ตกตะกอน มีฟิลเตอร์ช่วยกรองฝุ่น แล้วเครื่องจะดันอากาศที่บริสุทธิ์ออกมา ทำให้ห้องเรียนปลอดฝุ่น PM2.5”
ล่าสุด เครื่องดักฝุ่น ‘TN Dust trap box’ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศในหัวข้อนวัตกรรมเพื่อสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม จากโครงการประกวดผลงานนวัตกรรม GPAS 5 Steps Innovations Competition 2023 สำหรับเยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) อีกด้วย