นอกเหนือไปจากคาร์บอนเครดิต ที่นำมาใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงจาก ‘warming’ ไปสู่ ‘boiling’ หรือ ‘โลกเดือด’ ไปแล้ว เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ ‘Biodiversity Credits’ ก็ได้ถูกพูดถึงในเวทีระหว่างประเทศ
หนึ่งในนั้นคือเวที COP28 ที่มองเห็นความเป็นไปได้ของการใช้ไบโอเครดิต มาเป็นกลไกในการรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ลดลงอย่างน่ากังวลในปัจจุบัน
ความหลากหลายทางชีวภาพ สัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนอย่างไร แล้วทำไมจึงถูกนำมาใช้เป็นกุญแจอีกดอกในการไขทางออกให้โลกในเวลานี้ เคียงคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก็ต้องเดินหน้าไป
บทบาทสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ คือการเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งเป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งพลังงาน เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์พึ่งพาอาศัย เช่น สัตว์น้ำ แมลง ฯลฯ เป็นบริการทางระบบนิเวศที่ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียหรือขาดสมดุลไป จึงกระทบต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น คือเหตุผลใหญ่ที่ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากจำนวนป่าที่ลดลง ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก สัตว์และแมลงก็ลดจำนวนลงจนถึงสูญพันธุ์ไปด้วย
เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ หรือไบโอเครดิต จึงนำกลไกตลาดมาใช้ในการรักษาและฟื้นฟู แนวทางของไบโอเครดิต มีลักษณะคล้ายกับคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ ที่ผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายเพื่อปกป้องและฟื้นฟู ส่วนผู้ผลิตหรือผู้ขายเป็นผู้ดำเนินการปกป้องฟื้นฟู
นวัตกรรมตลาดไบโอเครดิต ถูกกล่าวถึงใน Sustainability Trends 2024 ในฐานะเทรนด์ของการสร้างความยั่งยืน เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สามารถตรวจสอบปริมาณ ระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ คุณภาพ ผ่านการซื้อขายหน่วยไบโอเครดิต ที่มีผลลัพธ์เป็นข้อมูลเชิงปริมาณมาขอใบรับรองว่ามีการดำเนินการจริง และนำไบโอเครดิตไปขายให้กับผู้ซื้อ ซึ่งข้อมูลนี้จะทำให้รู้ถึงจำนวนความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้น
ข้อดีของตลาดไบโอเครดิต คือทำให้ผู้ที่ลงทุนกับโครงการดูแลรักษาธรรมชาติ สามารถมีเงินทุนในการดำเนินการ หรือกระทั่งอาจได้กำไรจากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อมีการซื้อขายไบโอเครดิตแพร่หลายขึ้น ก็จะเกิดแรงจูงใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การฟื้นฟูดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่จำเป็นที่จะต้องปลูกป่าขึ้นใหม่ซึ่งหลายครั้งมีการแผ้วถางพื้นที่เดิม เพียงแต่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ผู้ดูแลมีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นฟู และคอยปกป้องไม่ให้พื้นที่ถูกรุกราน
ความน่าสนใจและความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อไบโอเครดิต เมื่อปี 2022 มีสมาชิกทั้งองค์กรเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร หน่วยงานรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UNDP (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) UNEP (โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ) และ SIDA (สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน)
ปัจจุบัน โครงการซื้อขายไบโอเครดิตยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะยังขาดมาตรฐานการให้การรับรองไบโอเครดิตที่จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก แต่ก็มีการขยับตัวในหลายประเทศ
ส่วนความเคลื่อนไหวในประเทศไทย ได้มีการเดินหน้าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเก็บข้อมูลและสำรวจพื้นที่ป่าดอยตุงมาเป็นเวลานาน โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและชุมชน สำรวจพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องความรู้และข้อมูลในการเข้าสู่ตลาดไบโอเครดิต ต่อเนื่องจากโครงการคาร์บอนเครดิตที่ประสบความสำเร็จในตลาดคาร์บอนเครดิตมาแล้ว
ข้อมูลอ้างอิง:
– www.bedo.or.th/project/articledetail?id=4141
– www.onep.go.th/19-กุมภาพันธ์-2567-แม่ฟ้าหลวงฯ