เราได้มีโอกาสติดตามเหล่าผู้ก่อการดี ที่ชวนกันมาระดมสมอง ขบคิดหาหนทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเมือง ของโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ซึ่งจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 ไปเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อค้นหาเทรนด์หรือแนวโน้มการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของพื้นที่เมืองหลวงและปริมณฑล ว่าเราควรจะไปในทิศทางไหน ด้วยแนวทางที่แก้ปัญหาได้ และมีแรงผลักที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง
โครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย หรือ Scenario Thailand Foundation และ 1BlueSky ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ซึ่งได้เชิญภาคีจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน ที่ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาและเผชิญฝุ่นควันทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ กรมการขนส่งทางบก กรมธุรกิจพลังงาน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ศูนย์วิชาการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงภาควิชาการ สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน ฯลฯ มาร่วมกันค้นหาคำตอบที่จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปด้วยกัน
เทรนด์แก้ปัญหาฝุ่นควันซึ่งได้ข้อสรุปตรงกันจากทุกแนวความคิด ผ่านเวิร์กช็อปที่ใช้กระบวนการ Transformative Scenario Planning ซึ่งเป็นการสร้างภาพเหตุการณ์จำลองเพื่อประเมินอนาคต วิธีการของกระบวนการนี้ก็คือ จะรวบรวมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น แล้วดูว่าแรงขับเคลื่อนนั้นจะทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นได้บ้าง เพื่อให้เกิดภาพอนาคตข้างหน้าขึ้น และหากภาพที่เกิดเป็นเช่นนั้นแล้วจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนภาพที่วาดขึ้นรางๆ ให้เห็นชัดเจนในมิติต่างๆ
ซึ่งกระบวนการ Transformative Scenario Planning ก็เป็นกระบวนการที่ได้รับความนิยมในการกำหนดกลยุทธ์แนวทางการปฏิบัติ ทั้งในภาคธุรกิจและหน่วยงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง โดยการสร้างภาพจำลองเพื่อหาภาพอนาคตครั้งนี้ เรามี STEEP Analysis เป็นเครื่องมือในการเชื่อมไปถึง Golden Goal หรือเป้าหมายสูงสุด ที่จะใช้ในการวางแผนการทำงานต่อไป
STEEP คือเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับความนิยมท่ามกลางหลายๆ โมเดล ในการหาแนวโน้มสถานการณ์หรือเทรนด์ รวมถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อปัญหา หรือช่วยในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในเวิร์กช็อปนี้เราหมายถึงปัญหา PM2.5 ในเมือง (หลวง) ที่เกิดจากภาคการจราจรและขนส่งทางบก ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก
โดย STEEP จะเป็นการพิจารณาเหตุการณ์จาก 5 มิติ คือ
- S Social ที่เป็นเหตุการณ์หรือแนวโน้มโดยทั่วไป เน้นที่บุคคลและสังคม เช่น ความเป็นอยู่ สุขภาพ จริยธรรม ค่านิยม ไลฟ์สไตล์ การทำงาน สุขภาพ การบริโภค
- T Technological หมวดนี้จะเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น นวัตกรรมและการพัฒนา การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลกระทบของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- E Economic คือเหตุการณ์ด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ สกุลเงินและการค้า
- En Environmental ซึ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศในเชิงบวกและลบ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับดิน น้ำ อากาศ การผลิตและใช้พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พลังงาน และทรัพยากร
- P Political จะเป็นด้านที่เกี่ยวกับรัฐบาลและการเมือง โดยประเภทของเหตุการณ์จะอยู่ในด้านการเมืองการปกครอง กฎหมายและนโยบาย
เวิร์กช็อปนี้เราแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมออกเป็น 5 กลุ่มแบบแรนดอม ทำให้ได้สมาชิกกลุ่มที่มาจากต่างภาคส่วนกัน เกิดส่วนผสมของความคิดที่หลากหลายมุมมอง เมื่อหยิบเอาเหตุการณ์จากทั้ง 5 มิติของ STEEP ซึ่งผู้ร่วมเวิร์กช็อปได้ช่วยกันค้นเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยต่อการเพิ่มหรือการลดของฝุ่น มาสรุปเป็นเทรนด์และแรงขับ มีการเลือกภาพมาจำลองสถานการณ์ด้วยการตัดแปะแบบเปเปอร์มาเช่เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และอธิบายความคิดของตัวเองผ่านกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ก็ได้ภาพจำลองเหตุการณ์ของอนาคตที่น่าสนใจเอามากๆ
ด้วยเวลาที่มีอยู่จำกัด ความคิดแบบ ‘ปิ๊งแว้บ’ ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึก ทำให้เราได้ไอเดียที่ผุดวาบ เต็มไปด้วยความสดใหม่ และบางอย่างก็เหนือคาด และความคิดแบบนี้นี่เองที่ทำให้เกิดความกล้าจินตนาการเพื่อสร้างเทรนด์ของตัวเอง
จากหลายๆ ไอเดียที่เกิดจากวาบความคิดของผู้เข้าร่วม ที่ล้วนมีระดับความคิดและความเชี่ยวชาญไม่ธรรมดา จะถูกเหลาให้แหลมคมขึ้นจากกระบวนการ ที่ต้องยกข้อชื่นชมให้กับกระบวนกรที่ค่อยๆ นำวิธีการต่างๆ มาสกัดความคิดเหล่านี้ จนเกิดเป็นแนวโน้มหรือเทรนด์ที่น่าสนใจ และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือความคิดทั้งหมดล้วนมุ่งมาในทิศทางเดียวกัน
ซีนาริโอ หรือฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านกระบวนการคิดเชิงระบบ เราพบว่าทั้ง 5 กลุ่ม หยิบเอามิติด้านเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นคีย์สำคัญในการแก้ปัญหา PM2.5 ในเมือง ซึ่งต้นตอเกิดจากภาคการจราจรและขนส่ง ยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV จึงเป็น ‘พระเอก’ ของอนาคต โดยมีพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้ใหญ่ที่จะช่วยดูดซับมลภาวะให้เมือง เป็นแนวทางสำคัญที่ตามติดกันมา
และจากการสร้างชุดภาพอนาคตของทุกกลุ่มนั้น ‘EV Go Green ประเทศไทยไม่มีวันเหมือนเดิม’ คือภาพอนาคตที่ได้รับการโหวตร่วมกันมากที่สุด และมีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติมากที่สุด จากนั้นผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทุกคนจึงได้ช่วยกันค้นหาเป้าหมายร่วม หรือ Golden Goal โดยมีคีย์สำคัญว่า เป้าหมายจะต้องโตได้เองแบบ ‘snowball’
และเมื่อผนวกเข้ากับคำว่า ‘Circular Economy’ ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดอยู่ด้วยแล้วนั้น หากเป้าหมายที่จะทำอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากับการลงทุน ก็จะทำให้สังคม EV โตได้ด้วยตัวเอง และเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง
โดยเป้าหมายที่ทุกคนเห็นร่วมกันก็มีข้อสรุปอยู่ว่า ภายใน 3 ปี จะต้องเปลี่ยนรถสาธารณะให้เป็นรถ EV ทั้งหมด, สนับสนุนให้รถใหม่เป็นรถ EV ให้ได้ 30%, ดัดแปลงรถเก่า 10,000 คันเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน และมีสถาบันการเงินรวมทั้งนโยบายภาษีเข้ามาช่วยสนับสนุน
หลังจากจบเวิร์กช็อปครั้งแรกไปแล้ว จะมีการจัดเวิร์กช็อปครั้งที่ 2 ขึ้นอีก เพื่อนำเป้าหมายนี้ไปออกแบบการทำงาน สร้างต้นแบบเพื่อดูความเป็นไปได้ว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นพลังและความตั้งใจของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป ที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ผ่านกระบวนการคิด และการออกแรงคิดจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเห็นผลในอนาคต
ภาพ: Scenario Thailand Foundation