ฝุ่นในกรุงเทพฯ นั้นต่างไปจากภูมิภาคอื่น ๆ เพราะมีต้นกำเนิดฝุ่นมาจากปัญหาการจราจรเป็นหลัก การหาทางออกให้กับปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเมืองหลวงจึงมีแนวทางที่แตกต่างไปด้วย
และเพื่อทางออกที่สร้างผลลัพธ์ในระยะยาว ‘โครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพื่อสุขภาวะคนเมือง (หลวง)’ โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย หรือ Scenario Thailand Foundation จึงเกิดขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
โครงการนี้เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งมีตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอากาศสะอาด มาร่วมระดมความคิด สร้างสรรค์กิจกรรมที่จะทำให้เกิด Snowball Effect หรือสามารถเดินต่อได้เอง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากศักยภาพของกิจกรรมดังกล่าว
และจากสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ค้นหากลไกจัดการกับ PM2.5 ที่จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2565 ได้พัฒนามาเป็น 7 กิจกรรมที่พร้อมขับเคลื่อนโครงการระยะ 2 ในปี พ.ศ. 2566 และได้จัดให้มีการทำกระบวนการ Social Lab หรือห้องทดลองทางสังคม เพื่อนำกิจกรรมเหล่านั้นมาวางแผนขับเคลื่อน สร้างกิจกรรมหรือพื้นที่ต้นแบบให้เกิดการขยายผลเป็น Snowball Effect ต่อไป
โดยในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Social Lab ครั้งที่ 1 ของโครงการระยะ 2 ได้มีการระดมความคิดเพื่อวางแผนพัฒนากิจกรรมทั้ง 7 ที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่นเมืองหลวง ซึ่งประกอบด้วย
1. พัฒนาศักยภาพบุคลากรของ กทม. ในการทำรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion)
เป็นกิจกรรมดัดแปลงรถกระบะเล็ก 4 ล้อของ กทม. ให้เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เริ่มต้นจากการคัดเลือกรถต้นแบบที่จะนำมาออกแบบดัดแปลง พร้อมกับมีการอบรมเจ้าหน้าที่ กทม. หลังจากนั้นจะมีการทดสอบสมรรถภาพรถ จัดทำชุดความรู้ หลักสูตรคู่มือประกอบการดัดแปลงรถ EV เพื่อให้เป็นแนวทางที่นำไปใช้ต่อในอนาคต
2. พัฒนาเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล
เครื่องยนต์ดีเซลที่ถอดออกจากรถกระบะ กทม. จะไม่นำไปขายทิ้งเป็นเศษเหล็ก แต่ถูกนำไปพัฒนาเป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังชีวมวล เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นเครื่องปั่นไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามบริบทพื้นที่ โดยมีการคำนวณชีวมวลที่เหมาะสม เพื่อออกแบบเครื่องยนต์ต้นกำลัง จากนั้นจะมีการเลือกพื้นที่การเกษตร คัดเลือกกลุ่มเกษตรกร และติดตั้งเครื่องยนต์ต้นกำลังในพื้นที่เกษตร สาธิตการใช้งาน และทำวิดีโอเผยแพร่ความรู้ รวมทั้งจัดทำแพลตฟอร์มการคำนวณปริมาณชีวมวลที่เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อในอนาคต
3. พัฒนาแพลตฟอร์ม Open Data ของ กทม. ในส่วน PM2.5
เดิมทีนั้นหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับ PM2.5 ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลอยู่แล้ว แต่ไม่ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกัน และทาง กทม. ก็มีแพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูล https://data.bangkok.go.th ซึ่งเปิดใช้งานอยู่ จึงเกิดแนวคิดพัฒนาแพลตฟอร์ม Open Data ของ กทม. ในส่วน PM2.5 ขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลและเปิดเผยผ่านแพลตฟอร์ม ให้เกิดการใช้งานเป็นสาธารณะ ทำให้หน่วยงานที่ต้องการใช้ข้อมูลต่าง ๆ สามารถกรองข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้
4. พัฒนา ออกแบบ แผนผังการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนและกรองฝุ่น PM2.5 ตามนโยบายการปลูกต้นไม้ล้านต้นของ กทม.
จากนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คน กทม. ตามแนวคิดเมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียว 9-15 ตารางเมตรต่อคน จึงได้มีการผลักดันการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนและกรองฝุ่น PM2.5 ให้เมืองหลวง กิจกรรมนี้จะมีการจัดเตรียมข้อมูลและสำรวจพื้นที่ จัดทำแผนแม่บทและพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการปลูกต้นไม้ล้านต้นของ กทม.
5. บูรณาการส่งเสริมพฤติกรรมการเดินทางลดฝุ่น
การเดินหรือปั่นจักรยานเป็นการเดินทางที่ช่วยลดฝุ่นได้อย่างแน่นอน แต่ด้วยสาธารณูปโภคต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการพัฒนาเพื่อเป้าหมายดังกล่าว ทำให้การเดินหรือปั่นจักรยานใน กทม. เป็นเรื่องยากและไม่สะดวก จึงต้องมีการพัฒนาฟุตพาทให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ และพัฒนาเส้นทางนำร่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จริง
6. บูรณาการการบังคับใช้กฎหมาย
เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีส่วนช่วยในการลดมลพิษ อาทิ การตรวจจับควันดำ การตรวจจับรถเก่า ตรวจการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจการปล่อยฝุ่นของไซต์งานก่อสร้าง แต่หน่วยงานเหล่านี้ถือกฎหมายต่างฉบับกัน และมีบทลงโทษที่ต่างกัน จึงควรต้องบูรณาการวิธีบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบังคับใช้ และมีมาตรการลงโทษไปในทิศทางเดียวกัน
7. การประกวด Case Competition ผลงานจากเยาวชน โดยทีม Youthful Issue
Youthful Issue เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ City Lab ของ กทม. ที่มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเยาวชน อาทิ การจัดประกวดนวัตกรรมลดฝุ่น PM2.5 จากมหาวิทยาลัยใน กทม. และปริมณฑล เปิดเวทีให้เยาวชนแสดงศักยภาพ สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม
ทั้งนี้ กิจกรรมต่าง ๆ โครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพื่อสุขภาวะคนเมือง (หลวง) จะมีการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม 1BlueSky เพื่อสื่อสารและสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดฝุ่น มีการนำข้อมูลในมิติต่าง ๆ มาสร้างเป็น Infographic คลิปวิดีโอ กิจกรรม ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนพฤติกรรมลดฝุ่นด้วยกัน