แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนั้นแน่นอนว่าส่วนสำคัญมาจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะในเมืองที่การจราจรหนาแน่นนั้น เรียกได้ว่าปัญหาจากควันพิษนับเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายหนักใจและต้องการเร่งแก้ไข
และแม้ช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 จะทำให้การใช้รถใช้ถนนลดน้อยลง แต่ในอีกมุมก็กลับกระตุ้นให้เกิดแหล่งมลพิษที่อาจทำให้คุณภาพอากาศในอนาคตแย่ลงกว่าเดิม นั่นก็คือการเพิ่มจำนวนของร้านขายอาหารแบบ drive-throughs
จริงอยู่ว่าร้านขายอาหารแบบ drive-throughs ที่มีบริการขายสินค้าโดยไม่ต้องลงจากรถ นั้นช่วยลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ลงได้หลายระดับ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดสถานการณ์ที่รถนับสิบคันต้องติดเครื่องต่อแถวกันยาว และหลายครั้งต้องติดเครื่องรอไม่ต่ำกว่า 30 นาที ซึ่งก่อมลพิษเท่ากับในภาวะการจราจรติดขัดเลยทีเดียว
โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีจำนวนร้าน drive-throughs มากถึง 2,000 แห่งทั่วประเทศ แถมมีอัตราการเติบโตของร้านอาหารประเภทนี้ขึ้นระหว่างปี 2015-2020 สูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงโรคระบาดเป็นต้นมา
แต่ความสะดวกดังกล่าวมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย เมื่อมีการประเมินว่า ผลกระทบเชิงลบของร้านอาหารรูปแบบนี้ สร้างมลพิษอย่างมีนัยสำคัญ และผลาญพลังงานเกินจำเป็น กว่านั้นยังเชื่อมโยงกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศมากกว่า 4 หมื่นรายต่อปีด้วย
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษ ออกมาตรการควบคุมการตั้งร้าน drive-throughs อย่างจริงจัง ด้วยเป้าหมายเพื่อปกป้องและปรับปรุงคุณภาพอากาศของชาวอังกฤษให้ดีขึ้นกว่าเดิม
และไม่เพียงรัฐบาลอังกฤษเท่านั้นที่เริ่มเพ่งเล็งการเกิดขึ้นของร้านอาหารประเภทนี้ แต่ในอีกหลายเมืองใหญ่ทั้งในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ก็ต่างให้ความสำคัญกับการควบคุมมลพิษจากท่อไอเสียของรถที่จอดรอซื้ออาหารเหล่านี้เช่นเดียวกัน ด้วยเป้าหมายการพัฒนาเมืองของประเทศฝั่งตะวันตกในปัจจุบัน คือการสร้างความยั่งยืนในเรื่องระบบสาธารณสุข ระบบอาหาร และคุณภาพชีวิต ซึ่งสวนทางกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มจำนวนของร้านอาหาร
drive-throughs ในหลายประเด็น
คำถามต่อมาคือ หากไม่ใช่ร้านอาหารแบบ drive-throughs มีวิธีการอื่นๆ หรือไม่ที่ทั้งสะดวกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนเมืองไปพร้อมกัน
ในเรื่องนี้รัฐบาลอังกฤษและนักพัฒนาเมืองเห็นตรงกันว่า บริการส่งอาหารถึงหน้าประตูบ้าน หรือบริการเดลิเวอรี่นั้นเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หากปรับเครื่องมือการขนส่งให้เป็นมิตรกับเมืองมากขึ้น เช่น การใช้จักรยานหรือรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งตอบโจทย์ทั้งความสะดวก การลดการปฏิสัมพันธ์ในภาวะโรคระบาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยในคราวเดียว
ที่มาข้อมูล:
1. https://theconversation.com/time-for-the-uk-to-say-goodbye-to-drive-throughs-for-the-sake-of-our-environment-our-health-and-our-culture-175556
2. https://www.telegraph.co.uk/food-and-drink/features/britain-became-drive-through-nation/