พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มีความเหมาะสมอย่างมากกับดินแดนอันอุดมไปด้วยแสงแดดอันยาวนานของบ้านเรา ด้วยมีความเข้มแสงที่สูงลิ่วและค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เว้นเพียงแต่ในฤดูฝนที่จะทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้างตามความเข้มของแสงแดด
ทั้งความง่ายในการประกอบติดตั้งและดูแลรักษา ราคาต้นทุนที่ถูกลงเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีและแรงสนับสนุนของกระแสพลังงานสะอาด นั่นทำให้พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา เช่นเดียวกับที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายกันไปทั่วทั้งโลก
อ้างอิงจาก ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1’ หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า แผน PDP ที่ต้องการจะลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศต่างๆ อย่างก๊าซธรรมชาติ และลิกไนต์/ถ่านหิน ลงในอนาคต และต้องการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ขึ้นราวๆ 2 เท่าจากปัจจุบัน
นั่นก็เป็นการส่งสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลนั้นเอาด้วยกับกระแสพลังงานสะอาด และหนึ่งในนั้นคือเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าร์เซลล์นั่นเอง เมื่อมีแรงสนับสนุนมาอย่างนี้แล้ว เรามาพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์กัน
1. คุ้มค่าด้านการเงิน
นอกจากราคาของแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว เมื่อติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์แล้วสามารถจ่ายไฟได้เลย นั่นส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในแต่ละเลือดลดลงอย่างมากโดยทันที และหากพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้งซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงแล้วนั้น ระยะเวลาการคืนทุนของเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ โดยประมาณคือ 8 ปี แต่หากติดมากๆ อย่างเช่นติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรม บางที่ก็สามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 3 ปีเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากๆ
ในขณะเดียวกันก็ยังมีการสนับสนุนเงินลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยเจ้าของโรงงานที่ต้องการนำเข้าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถขอยกเว้นภาษีนำเข้า 10% และยกเว้น VAT 7% ได้ และ สามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งหนึ่งได้เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในส่วนของการสนับสนุนเงินลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากต้องการลงลึกทางข้อมูลมากขึ้นสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ BOI ได้โดยตรงที่ www.boi.go.th
2. คุ้มค่าด้านสิ่งแวดล้อม
การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์นั้นใช้วิธีวิธีโฟโตโวลตาอิคส์ (Photovoltaics) ซึ่งไม่มีการเผาไหม้ใดๆ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดควันหรือมลพิษทางอากาศ แม้ว่าจะมีการปล่อยซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ออกมาบ้าง แต่ผลกระทบต่อโลกนั้นเทียบไม่ได้เลยกับคาร์บอนไดออกไซด์
การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลต่างๆ มาเผาเพื่อให้เกิดความร้อน มักปล่อยก๊าซอันตรายนานาออกมา อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ฯลฯ ซึ่งก๊าซเหล่านี้เป็นต้นตอของมลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เกิดฝนกรด และปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลกในตอนนี้
3. คุ้มค่าด้านพื้นที่
เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นที่รู้กันว่าค่อนข้างเปลืองเนื้อที่มาก การติดตั้งแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือดาดฟ้าที่ไม่ได้ถูกใช้งานจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ชาญฉลาด ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันก็มีการประยุกต์เอาพื้นที่ภายใต้แผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งานต่างๆ มากมาย อย่างการปลูกพืชที่ไม่ต้องการแสงแดดจัด อีกทั้งพื้นที่ใต้แผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงความชุ่มชื้นเอาไว้ได้มากกว่า เพราะลดการรับความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง ซึ่งเหมาะกับการเติบโตของพืชผักหลากหลายชนิด
นอกจากนั้น สำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้าหลักยังเข้าไม่ถึง การติดตั้งแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาออกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพราะไม่ต้องลากสายไฟฟ้าเข้าไป แต่สามารถเอาเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ระบบ Off Grid เข้าไปติดตั้งได้เลย ทั้งรวดเร็วกว่า ประหยัดกว่า และสะอาดกว่า
4. คุ้มค่าด้านการใช้งาน
เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์จะจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพียงประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน จะเรียกว่าน้อยก็น้อย จะเรียกว่าเยอะก็เยอะ เพราะเป็นพลังงานที่ได้มาฟรีๆ หากต้องการใช้ไฟฟ้าหลังพระอาทิตย์ตกก็สามารถหาแบตเตอรี่มาสำรองไฟในช่วงกลางวันไว้ใช้งานช่วงเวลากลางคืนได้ และถ้าแบตเตอรี่นั้นมีขนาดที่ใหญ่พอ ก็สามารถสำรองไว้ใช้ได้เป็นเวลาหลายวันเลยทีเดียว
อีกทั้งอายุการใช้งานของเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์นั้นก็ยาวนานถึง 25 ปีเป็นอย่างน้อย จากการประเมินเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอายุการใช้งานประมาณ 25ปี ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจะเหลือประมาณ 80% ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะติดตั้งครั้งเดียวใช้งานได้ยันลูกบวชโดยแท้
5. คุ้มค่าเพราะมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน
เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีรูปแบบการใช้งานหลักๆ 3 รูปแบบคือ
1. On Grid คือระบบเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการเชื่อมกับกระแสไฟฟ้าหลักจากการไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าไว้ใช้งานในตอนกลางวัน ส่วนในตอนกลางคืนใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า
2. Off Grid คือระบบเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่เชื่อมกับกระแสไฟฟ้าหลักจากการไฟฟ้า แต่เชื่อมกับแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานในตอนกลางวันไว้ใช้งานในตอนกลางคืน
3. Hybrid คือระบบเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานระหว่าง On Grid และ Off Grid ผู้ติดตั้งสามารถเลือกระบบที่เหมาะสมกับการใช้งานได้อย่างอิสระ
จากความคุ้มค่า 5 ประการของเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้สรุปไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันหากอยากจะหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์บ้าง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไปแล้ว คนทั่วไปสามารถติดตั้งได้ อีกทั้งภาครัฐก็เริ่มหันมาสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปติดตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแผน PDP ฉบับปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นเรื่องเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ณ ตอนนี้ ยิ่งติดไว ยิ่งคุ้มค่า ยิ่งได้อากาศสะอาด และยิ่งช่วยโลกของเราได้อีกทาง
ที่มาข้อมูล:
1. www.nexte.co.th
2. www.solarhub.co.th
3. www.solarreviews.com
4. www.nexte.co.th