“เวลาที่เราไปเมืองนอก เราจะรู้สึกว่าประเทศที่เราไปอากาศดี แต่ที่เมืองไทยเราไม่เคยได้ยินใครพูดว่าเมืองไทยอากาศดีมาก พวกเราเลยอยากทำให้อากาศบ้านเราดีขึ้น และแก้ปัญหานี้ให้ไปได้ไกลที่สุดให้ได้ นั่นคือแพสชั่นของพวกเรา” ลิซ่า วรสาธิต สมาชิกทีม ‘Coalesce’ บอกกับเราถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอและเพื่อนๆ รวมทีมกันนำเสนอโปรเจ็กต์สู่ ‘YouThful Issue Competition’ การแข่งขันนวัตกรรมแก้ปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร
และผลงานที่มีชื่อเดียวกันกับชื่อทีมอย่าง ‘Coalesce’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมเครื่องกำจัด PM2.5 ที่หลงเหลือจากการฟอกของเครื่องฟอกไอเสียรถยนต์ เพื่อสร้างเขตปลอดฝุ่น ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้วยแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และสามารถเติบโตเป็น snowball ได้หากได้รับการสนับสนุนและพัฒนาต่อให้เกิดมูลค่าทางการตลาด
นอกจากลิซ่า นักศึกษาแพทย์จาก University of Nottingham แล้ว ทีม ‘Coalesce’ ยังประกอบด้วย หนูผิง-พิมพ์ลดา อำไพฉลวย นักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยเดียวกันกับลิซ่า, แคส-กษิดิศ เลาหบุตร คณะวิศวกรรมเคมี Imperial College London, นพ-ภวัต เอนกฤทธิ์มงคล คณะวิศวกรรมการแพทย์ Imperial College London, และ นะคะ-ธิดาภา ธรรมพีร คณะวิศวกรรมอุตสาหการ จาก Northwestern University
ทั้งหมดเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่แม้จะกำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา PM2.5 ที่ยังหนักหนาอยู่ในเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ
เมื่อทราบข่าวการแข่งขันระหว่างที่ปิดเทอมและกลับเมืองไทย ทั้ง 5 คนซึ่งเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว จึงรวมกลุ่มกันระดมความคิด ด้วยต้นทุนทักษะและความถนัดที่ต่างคนมี “นอกจากทักษะจากการเรียนที่มีความหลากหลาย ทุกคนยังมีบุคลิกหรือทัศนคติที่หลากหลายด้วย ความเห็นที่ต่างกันทำให้เรามองเห็นอะไรได้กว้างขึ้น” หนูผิงเล่าถึงส่วนผสมนั้น
ทักษะการสื่อสารและความเป็นผู้นำของลิซ่า ความสามารถในการนำเสนองานและความคิดสร้างสรรค์ของหนูผิง ความถนัดในเชิงเทคนิคและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ของแคส ความสนใจด้านธุรกิจและด้านเทคนิคของนพ และความใส่ใจในรายละเอียด รอบคอบ และตรรกะสูงของนะคะ คือความลงตัวของการทำงานอย่างสร้างสรรค์
และนั่นก็คือที่มาของไอเดียสร้างเขตปลอดฝุ่นด้วยเครื่อง ‘Coalesce’ อุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งเข้ากับท่อไอเสีย เพื่อกำจัด PM2.5 ที่หลงเหลือจากการฟอกของเครื่องฟอกไอเสียรถยนต์ ซึ่งเครื่องฟอกไอเสียดังกล่าวมีความสามารถในการกำจัด PM2.5 ได้เพียง 72-80 เปอร์เซ็นต์
“พวกเราเริ่มต้นจากการวิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ก็ได้ข้อสรุปว่า ฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่ที่ล่องลอยอยู่นั้นมาจากการปล่อยของรถยนต์สันดาป ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับชั่วโมงเร่งด่วน หลังจากนั้นเราจึงเริ่มคิดค้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างตรงจุด โดยอิงหลักการของเทคโนโลยีการตกตะกอนไฟฟ้าสถิต (ESP) เป็นหลัก”
ไอเดียนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Electrostatic Precipitators หรือ ESP อุปกรณ์ขจัดอนุภาคฝุ่นที่เป็นสารแขวนลอยออกจากก๊าซไอเสียซึ่งใช้ในโรงงานขนาดใหญ่ โดยการใช้ประจุไฟฟ้าสถิตแรงดันสูง และชาร์จอนุภาคประจุลบเพื่อดึงดูดอนุภาคเข้ากับขั้วไฟฟ้าบวก
พวกเขานำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับท่อไอเสียรถยนต์สันดาป โดยออกแบบ ดัดแปลง และคำนวณใหม่ เกิดเป็นเครื่อง Coalesce โลหะทรงกระบอกขนาดเล็ก ซึ่งดึงพลังงานจากไดนาโมไดชาร์จในรถยนต์ มีระบบการทำงานแบบจิ๋วแต่แจ๋ว นั่นคือฝุ่นละอองที่ออกจากเครื่องฟอกไอเสียจะถูกส่งผ่านโลหะที่มีประจุลบ ทำให้ฝุ่นละอองถูกชาร์จกลายเป็นประจุลบไปด้วย และไอเสียที่ออกมานั้นจะมีรูปเป็นกระแสไหลวน ทำให้อนุภาคที่มีประจุลบถูกดันผ่านเข้าตะแกรงโลหะที่มีประจุบวก ซึ่งจะดูดและดักจับอนุภาค PM2.5 ที่หลงเหลือจากการทำงานของเครื่องฟอกไอเสีย
และเมื่อดับรถ ไฟจะหยุดจ่ายไปยังขั้วไฟฟ้าของอุปกรณ์ดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต ทำให้อนุภาค PM2.5 ที่จับตัวเป็นก้อนหลุดออกจากแผ่นขั้วบวก ถูกรวบรวมไว้ในระบบจัดเก็บด้านล่าง และสามารถกำจัดออกได้ในทุก 3-4 เดือน ซึ่งเมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตแล้ว มีราคาราวกว่า 800 บาท เมื่อเทียบกับการดักจับ PM2.5 ได้มีประสิทธิภาพขึ้น จึงเป็นการลงทุนคุ้มค่า
“ตอนเริ่มคิดโปรเจ็กต์ เราวางโรดแมพไปถึงอนาคตเลย การพัฒนาตัวอุปกรณ์พวกเราทำเองทั้งหมด และเราได้รับคำแนะนำเชิงการตลาดจากหลายภาคส่วนในการนำเครื่องนี้ไปใช้จริง ก่อนวันแข่งขันเราได้นำเสนอให้บริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอะไหล่ดูก่อน และได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก เป็นสัญญาณที่บอกกับเราว่ามันไม่ได้จบแค่การแข่งขัน แต่สามารถต่อยอดเป็นสตาร์ตอัพได้ เพราะมีตลาดรองรับอยู่”
ส่วนใครจะเป็นผู้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์นี้กับรถยนต์นั้น นพเล่าว่า “เป็นการดีลกับบริษัทที่ประกอบและจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งจากการได้พูดคุยบริษัทเหล่านี้ มีความยินดีที่จะนำเครื่องของเราไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตท่อไอเสีย โดยติดตั้งคู่กันเลย”
ทั้งนี้พวกเขายังมองไกลไปถึงการพัฒนาและโอกาสในอนาคต ทั้งการเพิ่มการผลิตในขนาดต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับรถทุกประเภท การขยายตัวไปยังเมืองหรือต่างประเทศที่ประสบปัญหาคุณภาพอากาศเช่นเดียวกัน การเกิดความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับผลิตภัณฑ์ได้ในวงกว้าง โดยที่ผลิตภัณฑ์นี้จะช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนโดยการเลือกใช้วัสดุยั่งยืน การใช้พลังงานอย่างเหมาะสมระหว่างการทำงาน และพิจารณากระบวนการกำจัดเมื่อหมดอายุการใช้งาน เพื่อนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม
การร่วมเข้าแข่งขัน ‘YouThful Issue Competition’ ครั้งนี้ ทีม ‘Coalesce’ เล่าว่าเป็นโครงการที่ให้ประสบการณ์ที่ดีในหลายด้าน ทั้งการได้พัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าการทำงานเป็นทีม การสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ การได้คิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนให้ดีขึ้น ได้เรียนรู้กระบวนการทำธุรกิจและการตลาด และได้มีความมั่นใจว่าตัวเองสามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้
“ช่วงปิดเทอมที่กลับมาไทย พวกเราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพฯ โครงการนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีของพวกเรา ที่จะมีก้าวแรกในการมีส่วนร่วมทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น”
หลังจากชนะการแข่งขัน สมาชิกทั้ง 5 ของทีม ‘Coalesce’ เดินทางกลับไปศึกษาต่อในอังกฤษและอเมริกา และได้วางแผนการพัฒนาและทดลองอุปกรณ์นี้ต่อ “เราจะเริ่มต่อยอดโครงการโดยเริ่มจากเร่งพัฒนาและทดลองผลิตภัณฑ์ของเราให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ทำการจดใบรับรองอย่างเป็นทางการ และเพื่อให้โครงการของเราประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น พวกเราพร้อมที่จะร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานที่มีความสนใจพัฒนาโครงการนี้ไปกับเรา”
ทั้งนี้ หากบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ มีความสนใจที่จะร่วมพัฒนาเครื่อง ‘Coalesce’ เพื่อสร้างเขตปลอดฝุ่นไปด้วยกันกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจต่อการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างจริงจังเช่นพวกเขา สามารถติดต่อได้ทางอีเมล coalesce.main@gmail.com