เพื่อให้โครงการต้นแบบแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คมชัดขึ้น เวิร์กช็อปโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 ครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้นในเวลาไม่นานหลังจากจบเวิร์กช็อปแรก ที่ครั้งนั้นการระดมไอเดียได้เกิดจุดร่วมของความเห็นว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะเป็นจุดเปลี่ยนและแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นควันในเมืองหลวง
เวิร์กช็อปครั้งที่ 2 เดินตามแนวโน้มที่กำหนดขึ้นเพื่อสร้างโปรโตไทป์ในการแก้ปัญหา หลังจากทบทวนแนวคิดเดิม ก็เดินทางมาสู่กระบวนการเหลาแนวคิดอีกครั้ง โดยเริ่มต้นที่การนำจุดแข็งของผู้เข้าร่วมแต่ละคนมาแชร์ แล้วจับคู่ Paired Walk ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการจับคู่ความคิดเพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียว่าเราจะทำอะไรในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5
โดยมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ว่า วิธีแก้ปัญหานั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมสามารถทำกันได้เองก่อน และต้องเกิด snowball คือกระบวนการแก้ปัญหานั้นจะต้องเกิดผลให้มีการทำต่อซ้ำๆ ในสังคมหมู่มาก จนสามารถโตได้เอง แล้วขยายต่อไปจนถึงจุดเปลี่ยน
ซึ่งแนวคิดที่นำเสนอออกมา ล้วนเป็นไอเดียที่น่าสนใจ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนตรงที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และแผนงานจากหน่วยงานต่างๆ ยังไม่สอดคล้องกัน การทำ Open Data ยังมีความท้าทายในการทำงานในเรื่องข้อมูลที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ถ้าสามารถทำให้มีแพลตฟอร์มซึ่งมีตัวชี้วัดที่ถูกต้อง ก็จะดึงความอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้มากขึ้น
หรือการลดฝุ่นควันจากรถ ควรจะมีกระบวนการจูงใจให้คนอยากทำ เช่น การมีมาตรการทางภาษี ให้ดาวกับรถสามารถลดควันพิษได้ดี หรือมีการตรวจเช็กซ้ำจากต่างหน่วยงาน การทำงานเรื่องฝุ่น PM2.5 และมลพิษด้านต่างๆ ของแต่ละองค์กรที่มีผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถอยู่มาก แต่ยังขาดการสื่อสารที่ดี การปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เก่ามาสู่การใช้งานในรูปแบบใหม่ หรือการปรับตัวเองมาสู่การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าขององค์กรเอกชน ฯลฯ
แนวคิดและปัญหาต่างๆ นำมาสู่กระบวนการทำงาน โดยถูกวางเป็นโปรโตไทป์ ซึ่งเรื่องที่จะเป็นต้นแบบได้จะต้องเป็นเรื่องที่สามารถใช้เวลาการทำงานในหนึ่งปีข้างหน้า ทำให้เกิดผลและเกิดการแตกตัวต่อยอดได้เอง จากนั้นจึงช่วยกันรีดไอเดียเพื่อให้แนวทางมีความคม ชัด และลึกขึ้น ผ่านกระบวนการ Systems Thinking หรือความคิดเชิงระบบ เพื่อหา pain point ภายใต้โจทย์ต่างๆ ผ่านการขบคิดร่วมกันโดยจัดแบ่งตามกลุ่มของโจทย์ที่สร้างขึ้น และทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนของการทำงานจริงว่า สิ่งที่จะทำนั้นเกิดจากปัญหาอะไร และจะสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อทดแทนหรือแก้ปัญหา จากนั้นจึงช่วยกันพัฒนาโครงการต้นแบบโดยมี ‘เลโก้’ เป็นเครื่องมือ
เลโก้ชิ้นจิ๋วหลากสีสัน ของเล่นพัฒนาทักษะเด็กที่เราคุ้นเคย ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการคิดกลยุทธ์ ที่ไอเดียต่างๆ จะเกิดขึ้นในเวลา head, hand, heart ได้ทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ผ่านกิจกรรม Lego Serious Play ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทุกคนในเวิร์กช็อปต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า การได้จดจ่ออยู่กับการสร้างโลกจินตนาการตรงหน้า ทำให้ความคิดที่ยุ่งเหยิงและหนักอึ้งก่อนหน้าถูกพังทลายลงจนหมดสิ้น ในขณะที่ความคิดใหม่สดได้ผุดขึ้นระหว่างนั้นอย่างไม่ทันรู้ตัว
วิธีการจำลองภาพความคิดออกมาให้เป็นภาพเช่นนี้ เป็นไปตามทฤษฎีที่ว่า หากเราจมกับการใช้ความคิดเพียงอย่างเดียว จินตนาการจะไม่สมดุล จึงต้องดึงตัวเองออกจากสภาวะความคิดนั้นก่อน และเมื่อเราได้ใช้จินตนาการอย่างสมดุลแล้ว ภาพที่เกิดขึ้นจะกว้างไกลกว่าและลึกกว่า
เพราะความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นตอนที่เราไม่มีตัวตนที่สุด เลโก้เหล่านี้จึงทำหน้าที่พาทุกคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปกลับสู่ความเป็นเด็ก โจทย์ที่กระบวนกรกำหนดให้ทุกคนสร้างสะพานเลโก้ที่ยาวที่สุด สูงที่สุด และแข็งแกร่งที่สุด ในเงื่อนไขว่าจะต่อยังไงก็ได้ให้สนุกที่สุด ถูกสั่งให้รื้อทิ้งหลังจากต่อเสร็จ จากนั้นถูกต่อขึ้นใหม่ตามโปรเจ็กต์ที่อยากทำ ก่อนจะถึงการต่อครั้งสุดท้ายที่ทุกคนในกลุ่มจะร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น โดยมีโจทย์ให้โมเดลจำลองที่ช่วยกันสร้างนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา PM2.5 โดยระหว่างนั้นคนที่ต่อจะเล่าไปด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่ แล้วภาพที่เคยปรากฏอยู่แต่ในความคิด ก็กลายมาเป็นภาพที่จับต้องได้ผ่านโมเดลจำลองเหล่านี้
ท้ายที่สุดแล้วจากการระดมไอเดียในเวิร์กช็อป 1BlueSky ครั้งที่ 2 ได้เกิดแนวทางเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ขึ้น 6 แนวทาง ซึ่งประกอบด้วย การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย, การสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, EV Fleet ของเอกชน, การเดินทางลดฝุ่น, Open Data และ EV Conversion
และเพื่อความแหลมคมของแนวทางเหล่านี้ กระบวนการพูดคุย ‘เชื่อ-ไม่เชื่อ’ จึงถูกนำมาใช้เพื่อสกัดไอเดียให้แข็งแรงผ่านการจับคู่แลกเปลี่ยน โดยฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า โปรเจ็กต์ที่คิดกันไว้สำเร็จแน่นอนพร้อมกับยกเหตุผลมาสนับสนุน และโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเชื่อให้ได้ ส่วนฝ่ายที่ไม่เชื่อจะต้องค้านแบบหัวชนฝาว่าโปรเจ็กต์นี้ล้มเหลวแน่นอนด้วยเหตุผลที่เห็นต่าง ซึ่งการคัดง้างกันนี้ทำให้มองเห็นจุดพร่องของแนวคิด และปัญหาหรืออุปสรรคในมุมที่กว้างและลึกขึ้น
องค์ประกอบสร้างความสำเร็จของโครงการ ถูกเขียนขึ้นหลังจากนั้นโดยยึดตามหลักความเป็นจริงที่เป็นไปได้ เช่นเดียวกับปัจจัยที่ทำให้ล้มเหลวซึ่งถูกเขียนขึ้นมาคู่กัน ทั้งสองปัจจัยถูกคลี่ภาพออกมาให้เห็นกับดักที่เป็นอุปสรรค และวิธีการที่ทำให้ทะลุกำแพงกับดัก จนเกิดเป็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้นว่า โครงการเหล่านี้จะทำอะไร ทำเพื่ออะไร และให้ใครทำตาม เพื่อให้เกิดการขยายผลต่อ ซึ่งแต่ละแนวทางก็มีข้อสรุปในขั้นต้นว่า
- การบูรณาการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสร้างความตระหนักในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ทุกประเภท และการจัดการลดฝุ่นจากแหล่งต้นกำเนิด
- การสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะมีการทำสื่อโฆษณาให้คนเดินทางลดฝุ่น โดยมีโจทย์เป็นผู้ใช้รถในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเน้นในกลุ่มเจเนอเรชั่น Y เพื่อให้เกิดการลดใช้รถยนต์ส่วนตัว และนำเสนอการเดินทางทางเลือกที่ไม่สร้างฝุ่น
- EV Fleet เพื่อทำให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในองค์กร โดยการสร้างองค์กรต้นแบบที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อสนับสนุนการใช้งาน ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริหารในองค์กรต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของตนเอง ไม่ว่าจะองค์กรเอกชน หน่วยงานรัฐ ไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้าน
- การเดินทางลดฝุ่น ด้วยการทำให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ที่จะส่งผลให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยมุ่งเป้าไปยังคนทำงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ ที่ขับรถส่วนตัวไปทำงาน
- Open Data จะมีการหาแนวทางให้นโยบาย Open Data เกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในการเริ่มต้นนั้นจะต้องร่วมกันหาหน่วยงานหลักที่จะมาเป็นเจ้าภาพในการจัดการและดูแล
- EV Conversion เสนอให้นำรถยนต์เก่ามาเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ผ่านธุรกิจให้บริการเครื่องต้นกำลังจากเครื่องยนต์เก่าด้วยเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อให้นักธุรกิจเกษตรได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการลดขยะเครื่องยนต์เก่า ในขณะที่เกษตรกรในชุมชนก็ได้นำเศษที่เหลือจากภาคการเกษตรไปส่งต่อเพื่อทำเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นการลดการเกิด PM2.5 จากการเผาในภาคเกษตรกรรมไปในตัว
เวิร์กช็อป 1BlueSky เป็นเวิร์กช็อปในโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย หรือ Scenario Thailand Foundation และ 1BlueSky ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ร่วมกับภาคีต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน ซึ่งต่างก็หวังจะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเมืองหลวงให้เกิดขึ้นอย่างเห็นผล ซึ่งหลังจากเวิร์กช็อปครั้งนี้แล้ว ทุกแนวทางจะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการทำงาน เพื่อพัฒนาให้เกิดโครงการจริง และผลักดันให้เกิดแก้ปัญหาขึ้นจริง
เห็นความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปในครั้งนี้แล้ว เชื่อว่าพลังบวกที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในอนาคต
ย้อนกลับไปทำความรู้จักกับเวิร์กช็อปครั้งแรกได้ที่ 1bluesky.org/article/ev-go-green-trend-from-1bluesky-workshop
ภาพ: Scenario Thailand Foundation