ช่วงหน้าแล้งของทุกปี เราจะได้เห็นภาพข่าวและฝุ่นควันหนาฟุ้งบดบังทัศนวิสัยในภาคเหนือ ด้วยต้นเหตุจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งของพื้นที่เกษตรกรรม ที่ยังคงใช้วิธีจัดการพื้นที่ปลูกด้วยการเผากันอยู่
แต่สิ่งที่ตามมาคือ ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากไฟเหล่านี้ไม่ได้สร้างปัญหาแค่ในจุดเกิดความร้อนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพราะควันที่กระจายได้อย่างอิสระตามทิศทางของลม ได้สร้างมลภาวะทางอากาศปกคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ ทั้งในเขตป่า พื้นที่เกษตร และยังครอบลอยอยู่เหนือชุมชนในเมืองที่สร้างผลกระทบต่อไปเนื่องไปอีกเป็นลูกโซ่ ทั้งรบกวนชีวิตประจำวันที่ชวนเดือดร้อนรำคาญ ลามเป็นผลกระทบต่อสุขภาพ ไปจนถึงเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวต้องขอเปลี่ยนทิศเดินทางไปที่อื่นแทน เมืองท่องเที่ยวหลายเมืองสูญเสียรายได้จากฝุ่นควันไปไม่น้อยในแต่ละปี
เท่าที่ผ่านมาเราได้เห็นว่ามีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายระดับ ตั้งแต่การเฝ้าระวัง ป้องกัน และดับไฟ ที่มีชุดปฏิบัติการประจำชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า มีข้อบังคับเพื่อควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้จัดเก็บเศษวัสดุเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น แทนที่จะปล่อยให้เป็นชนวนของเชื้อเพลิงไปอย่างสูญเปล่า
‘ชิงเก็บ ลดเผา’ ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขและป้องกันไฟป่า ที่เป็นต้นทางของฝุ่นควันเจ้าปัญหาเหล่านี้ โดยเริ่มต้นขึ้นปลายปี 2563 และเกิดปฏิบัติการนี้ในช่วงฤดูกาลปี 2564 ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ในปีที่แล้ว โครงการชิงเก็บ ลดเผา ได้เก็บขนเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 2,500 ตัน ช่วยลดจุดความร้อนในพื้นที่ชิงเก็บได้มากกว่าร้อยละ 52 และจำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลดลงมากกว่าร้อยละ 8 ทั้งยังตั้งเป้าว่าปี 2565 นี้จะสามารถจัดเก็บวัสดุเชื้อเพลิงได้ 3,000 ตัน และลดจุดความร้อนให้ได้ร้อยละ 60
แนวทางของโครงการนี้ คือการนำเอาแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงเข้ามาใช้ โดยเน้นการเก็บขนเชื้อเพลิงออกจากพื้นที่ป่า แล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่อ โดยกรมป่าไม้จะใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงในระบบโมดิส (MODIS) และระบบเวียร์ (VIRS) มาวิเคราะห์พื้นที่สุ่มเสี่ยง เมื่อตรวจพบว่าพื้นที่ตรงจุดไหนมีเศษวัสดุจำนวนมาก ก็จะเร่งเข้าไปชิงเก็บเศษวัสดุอย่างกิ่งไม้ใบไม้ก่อนเกิดช่วงไฟป่า และทำแนวกันไฟในพื้นที่
เศษวัสดุเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อโดยร่วมทำงานกับอีกหลายภาคส่วนและชุมชนในพื้นที่ เช่น การนำไปบดอัดแล้วเผาให้กลายเป็นถ่านอัดแท่ง นำไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ และมีบริษัทเอกชนเข้ามาขอซื้อเศษวัสดุไปใช้งาน ซึ่งได้สร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนได้อีกทางหนึ่ง ไปพร้อมกับการลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า
จากการปฏิบัติการปี 2564 ที่สามารถลดจุดความร้อนจากการชิงเก็บอย่างเห็นผล ในปีนี้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ก็ได้บริษัทเอสซีจี ซิเมนต์ เข้ามาเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อน ซึ่งจะทำให้วัสดุเชื้อเพลิงจากโครงการชิงเก็บ ลดเผา ถูกนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และจะมีการบริหารจัดการ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า โดยการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดโครงการอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงทำงานร่วมกันกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าให้กับประชาชน เพื่อปูทางไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เราได้เห็นความร่วมมือระหว่างกันของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ปัญหาฝุ่นควันที่รุกรานธรรมชาติและความเป็นอยู่ของผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ผลกระทบไม่ได้ตกอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง และการหาทางออกก็ไม่ได้อยู่ที่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน