ก่อนหน้านี้ราวๆ 4-5 ปี ขณะที่ทั่วโลกรู้จักและตระหนักถึงวายร้ายในนามฝุ่น PM2.5 ตัดภาพกลับมายังประเทศไทย เจ้าฝุ่นพิษชนิดนี้กลับถูกสื่อสารแผ่วเบาในหมู่วงวิชาการ กระทั่งในปีที่ 2562 เมืองหลวงถูกปกคลุมด้วยหมอกฝุ่น ประชาชนตามหาหน้ากากอนามัย N95 กันจ้าละหวั่น อาการป่วยไข้จากโรคทางเดินหายใจเริ่มปรากฏกาย
แม้การตามหาความชัดเจนในทางการแพทย์ ถึงสาเหตุของอาการหรือการเกิดโรค จะยังไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าฝุ่นพิษนี้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ PM2.5 คือชนวน หรือตัวเร่ง ให้เกิดการเจ็บป่วยไม่น้อยก็มาก และที่สำคัญ เราทุกคนไม่อาจมีชีวิตที่ดีได้ หากเพียงแค่การได้หายใจในอากาศที่สะอาดยังเป็นเรื่องยาก
การรวมตัวในชื่อเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (Thailand Clean Air Network: CAN) ที่มีทั้งแพทย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม จึงเกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาว
บทสนทนากับ ดร. คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ถัดจากนี้ จึงว่าด้วยการผลักดัน ‘ร่างพระราชบัญญัติกํากับดูแลการ จัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด’ ว่าเหตุใดเรื่องนี้จึงสำคัญ ฝุ่นที่เรามองไม่เห็น แปลว่าไม่มีจริงหรือ กระทั่งว่าเหตุใดกลไกทางกฏหมายเดิมที่มีอยู่ จึงราวกับเป็นอัมพาต ปัญหาที่ส่งผลถึงชีวิตกลับไม่ได้เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ใต้ภูเขาน้ำแข็งของปัญหาสิ่งแวดล้อม มีสิ่งใดเร้นกายอยู่บ้าง
เรื่องของมลพิษทางอากาศ เป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนขนาดไหนในช่วงเวลานี้
มันคือความเป็นความตาย และมาเร็วมาก มีโรคทั้งหลายที่ WHO (World Health Organization) ระบุไว้อันเนื่องมาจาก PM2.5 มีทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง เราไม่รู้หรอกว่าจะแจ็กพ็อตเจอแบบไหน อย่างมะเร็งปอดไม่ได้มาจาก PM2.5 อย่างเดียว แต่อาจจะมาจากสาเหตุอื่น เช่น สูบบุหรี่ มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว มาผสมปนเป แต่ที่แน่ๆ ตัวเร่งอย่างหนึ่งคือการอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นแบบเล็กจิ๋วโดยไม่จำเป็นต้องผ่านรูจมูก มันเข้าผ่านผิวหนัง ไม่เฉพาะปอดเท่านั้น ตับ ไต เลือด สมอง ก็ถึงกันหมด
ในทางการแพทย์ การจะระบุว่า PM2.5 คือตัวการหนึ่งของโรค หรือสาเหตุหนึ่งในการเสียชีวิต เพื่อผลักปัญหานี้ให้เป็นวาระสำคัญ ถือเป็นเรื่องยากหรือไม่
ยาก ยอมรับว่ายาก เพราะระบบเวชระเบียนทางการแพทย์ในโรงพยาบาล เวลาลงเหตุผลในการตาย เขาไม่ได้ลงสาเหตุแรกนะ จะระบุเหตุสุดท้ายที่เป็นเหตุย่อย เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวาย แต่ว่าต้นเหตุใหญ่ที่เป็นมูลฐานเบื้องต้นไม่ได้ระบุ ถ้าหมอยังไม่ได้ตกลงกัน เช่น ทางแพทยสภาฯ หรือระบบสาธารณสุขยังไม่ได้ตกลงกันให้ชัดเจน และระบุอะไรสักอย่างเพื่อระบุสาเหตุการตาย มันก็ทำให้งานตรงนี้ไม่ง่ายเท่าที่ควร
ทีนี้ นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมบอกว่ามันมีทฤษฎีหนึ่ง ทฤษฎีที่ไม่จำเป็นต้องหาหลักความเชื่อมโยงระหว่างเหตุกับผล หลักพื้นฐานกฎหมายทั่วไปต้องการการพิสูจน์เช่นนั้น แต่ว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมมีข้อยกเว้นของหลักนั้น เป็นทฤษฎีอันหนึ่งที่เราเรียกว่า Precautionary principle หรือหลักที่ต้องระมัดระวังไว้ก่อนล่วงหน้า แม้จะไม่มีหลักฐานร้อยเปอร์เซ็นต์มาพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลก็ตาม ซึ่งมันเอื้อกับทุกกรณีของสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้าที่จะมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด กฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้องกับอากาศ มีลักษณะอย่างไร
มันกระจัดกระจาย เมื่อเราออกกฎหมายใหม่เมื่อไร ก็จะมีบางส่วนที่ยกเลิกกฎหมายเดิม แต่ในการยกเลิกนั้น จะยกเลิกเฉพาะบางมาตรา ไม่ได้ยกเลิกในระดับที่คว้านลึกพอหรือเป็นระบบ เพราะฉะนั้นมันจึงกระจัดกระจาย ต่างคนต่างอยู่ บวกกับวิธีบริหารราชการแผ่นดินของเราที่แยกเป็นกระทรวงใครกระทรวงมัน เวลาออกกฎหมายก็จะให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งมีอำนาจในการบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้ กระทรวงหนึ่งไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายอีกกระทรวงหนึ่ง บูรณาการจึงเกิดยาก ทำได้อย่างมากแค่ประสานงาน
เราพึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ในระดับปฏิบัติการมันพึ่งไม่ได้ ใครจะไปเจาะตรวจ มอนิเตอร์กันถี่ยิบ ไม่มีหรอก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่หมายใจจะให้เป็นหัวเรือใหญ่ เขาก็ทำงานเป็นระบบที่เรียกว่า meeting base คือ ทำงานในห้องประชุมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นมันแผ่วมาก สิ่งนี้เราเรียกว่าขาดการบูรณาการ ต่างคนต่างทำ มันก็เลยชนกันบ้าง เกยกันบ้าง หรือไม่ก็ไม่มีใครทำในบางเรื่อง แม้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จะพยายามอุดช่องว่างเรื่องนี้แล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะตราบใดที่คุณไม่ปฏิรูปโครงสร้าง มันก็จะยังอยู่บนฐานเดิม
เรากำลังพูดถึงภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราแก้ไม่ตก เดี๋ยวพอต้นปีปลายปีฝุ่น PM2.5 จะมากันเป็นทีมมโหฬารแล้วก็หายไป มันไม่มีวันแก้ได้ตราบใดที่คุณไม่คว้านลึกลงไปถึงข้างล่าง ระบบราชการที่ยังแยกเป็นส่วนๆ เรื่องที่ควรบูรณาการมากกว่านี้อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่เกิดการบูรณาการ
จะว่าไปแล้ว เราแทบมองไม่เห็นใต้ภูเขาน้ำแข็งของปัญหาสิ่งแวดล้อมเลย
เรามองไม่เห็น นักวิชาการรู้นะและพยายามบอก แต่ไม่มีกลไกอะไร แม้กระทั่งกลไกปฏิรูปประเทศไทยก็ไปไม่ถึง เพราะเอาเข้าจริงเขาก็ไม่ได้ปฏิรูป เขาก็ทำ issue base อยู่ข้างบน วนอยู่ตรงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ไม่คว้านลงมา ทีนี้พอ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดที่เราทำมันพยายามคว้านลงไป บางคนเขาก็เลยไม่เอาด้วย
การสร้างความเข้าใจเรื่องนี้สู่สาธารณชนเป็นเรื่องยาก เพราะไม่เหมือนอย่างกรณีระเบิดหินทำเหมือง หรือตรวจค่าสารพิษในลำน้ำซึ่งรู้ผลเลย แต่อันนี้เป็นอากาศซึ่งมีหลายองค์ประกอบ
ใช่ มันยากกว่าเรื่องน้ำ เพราะน้ำเสียเราเห็นด้วยตา น้ำกับอากาศจะคล้ายกันอย่างหนึ่งคือเป็นสิ่งที่ไหลไปทั่ว ไล่ตามจับยาก กฎหมายน้ำกับกฎหมายอากาศก็ยาก เพราะกฎหมายจะออกแบบมารองรับเรื่องราวของมัน เมื่อน้ำยาก กฎหมายน้ำก็ยาก อากาศยาก กฎหมายอากาศก็ยาก
สังเกตดูง่ายๆ กฎหมายอากาศจะออกทีหลังสุดเสมอ ส่วนกฎหมายน้ำจะออกมาก่อน ซึ่งเป็นแบบนี้ทั่วโลกนะ เพราะว่าในความยากของสองสิ่งที่มันไหลเลื่อนไปทั่ว ไล่จับกันไม่ทัน น้ำยังมีสิ่งที่มองเห็น เมื่อไปอยู่ที่ไหนแอ่งน้ำ ทะเล คลอง บึง เราเห็นและง่ายต่อการตามไปบริหารจัดการ
แต่อากาศมันไม่ใช่แบบนั้น?
อากาศมันไม่ใช่ เพราะหนึ่ง-อากาศเรามองไม่เห็น สอง-มันไหลไปทั่ว ฉะนั้นเวลานี้เราพยายามจะตั้งคำถามว่า ทีกฎหมายน้ำที่มีลักษณะไหลไปทั่วเหมือนกัน เขายังรู้ว่ามีความจำเป็นต้องบูรณาการทุกกฎหมายให้เชื่อมโยงกัน แต่ทำไมเรื่องอากาศถึงทำยากยิ่งกว่าเรื่องของน้ำ แล้วเราเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ (‘ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ….. ) ชื่อมันบอกว่าบูรณาการ ทำไมไม่รับ ทำไมคิดว่าใช้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมอันเดิมก็ได้ ซึ่งเขาไม่เข้าใจลักษณะโดยธรรมชาติของอากาศที่มันสลับซับซ้อนมากกว่าทรัพยากรอื่นๆ
อีกอันหนึ่งที่เข้าใจผิดแล้วยังไม่สามารถไปต่อได้คือสองคำ เขารู้จักแต่คำว่า มลพิษทางอากาศ หรือ air pollution แต่เขาไม่รู้จักคำว่า ‘อากาศสะอาด’ หรือ clean air อันนี้เรื่องใหญ่เลยนะ เพราะถ้าคุณไม่รู้เป้าหมายจะไปไหน คุณก็หลงทาง กรมควบคุมมลพิษก็ดีหรือกรมโรงงานก็ดี เขามีกฎหมาย เช่น กฎหมายโรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม มะรุมมะตุ้มเพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานว่า ถ้าเราจัดการมลพิษทางอากาศได้ดีแล้วละก็ clean air หรืออากาศสะอาดก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
เราเขียนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดขึ้น เพื่อพาคุณไปมองเป้าหมายที่ไกลกว่า เขียนสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ คือ clean air เพื่ออย่างน้อยประชาชนจะได้รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในอากาศสะอาด เขามีสิทธิไปไกลขนาดนั้น
หมายความว่า อากาศสะอาด คือสิทธิที่การันตีว่าเราจะหายใจอย่างปลอดภัย มากกว่าสิทธิที่จะได้รับการจัดการมลพิษทางอากาศจากภาครัฐ ที่เอาเข้าจริงแล้วภาครัฐจัดการได้แค่ไหนก็ไม่รู้?
ใช่ หากรัฐไม่พยายามก้าวข้ามธรณีแห่ง pollution base (ฐานมลพิษ) ไปสู่พื้นฐานทางทรัพยากรเหมือนเรื่องน้ำ เราต้องการน้ำสะอาดเพื่อใช้บริโภคอุปโภคฉันใด เราก็ต้องการอากาศที่หายใจแล้วไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
เราจะมองปัญหา PM2.5 และสิ่งแวดล้อม ในมิติของ ‘ความยุติธรรม’ อย่างไร
อาจารย์เองเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ environmental justice แปลเป็นไทยว่าความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนัยยะลึกซึ้ง หมายถึงความยุติธรรม 2 รูปแบบใหญ่ ๆ
แบบที่หนึ่ง – ความยุติธรรมระหว่างคนในรุ่นเดียวกัน หมายถึงคนที่เกิดมาใน generation เดียวกันแล้วทันเห็นกัน นั่นก็คือความยุติธรรมระหว่างคนรุ่นเดียวกัน ระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน โดยเฉพาะช่วงล่าอาณานิคม และยุคหลังการล่าอาณานิคมที่จะต้องจ่ายหนี้ทางนิเวศให้กับประเทศที่ไปเอาเปรียบเขามา อันนี้คือระหว่างคนรุ่นเดียวกัน ระหว่างประเทศกับประเทศ
อีกส่วนคือ ระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศเดียวกัน ซึ่งอันนี้รัฐต้องบริหารจัดการ เกลี่ยให้ไม่มีใครมาเอารัดเอาเปรียบใคร จนกระทั่งคนหนึ่งต้องตายเพื่ออีกคนหนึ่ง นึกออกไหมว่าถ้าเกิดว่าตัวเองทำลายสิ่งแวดล้อมมาก แล้วได้ประโยชน์กำไรท่วมท้นมหาศาลบนความทุกข์ของคนอื่น นั่นคือสิ่งแวดล้อมมีมลพิษเยอะ ผู้คนสุขภาพแย่เนื่องจากมลพิษเยอะและตายก่อนเวลาอันควร เท่ากับว่าเขาต้องตายเพื่อสังเวยคนที่ได้ประโยชน์และเอาเปรียบเพราะยังไม่ได้จ่ายสิ่งที่เป็นส่วนต่าง นั่นก็คือถ้าคุณใช้เยอะคุณก็ต้องจ่ายเยอะ ถ้าคุณได้ประโยชน์ร่ำรวย แต่ในความร่ำรวยนั้น เบื้องหลังคือการสร้างมลพิษ สร้างขยะ แล้วของเสียเหล่านั้นก็กลับมาทำลายสุขภาพของคนอื่น อันนี้มันไม่แฟร์นะ
แบบที่สอง – ความยุติธรรมระหว่าง generation ระหว่างคนรุ่นปัจจุบันกับรุ่นลูกหลานเราในอนาคต ที่เขาเรียกว่า future generation คนพวกนี้ยังไม่เกิด แต่ในวันหนึ่งเมื่อเขาเกิดมา เขามีสิทธิไหมที่จะ enjoy กับอากาศที่ดี ไม่ต้องมานั่งรับพวกฝุ่น ควันพิษ ของเสีย สารเคมี กากกัมมันตรังสี หรืออะไรที่ย่อยสลายไม่ได้ แล้วลูกหลานก็มารับผิดชอบกันไป อันนี้คือความไม่เป็นธรรม
แม้เขาจะยังไม่เกิดมา แต่ในทางทฤษฎีกฎหมายสิ่งแวดล้อมนั้นถือว่าต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นมันอยู่ในคำว่า sustainable development หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน มันคือความยุติธรรมระหว่างคนในรุ่นปัจจุบันกับคนในอนาคต
ด้วยหลักการดังกล่าว ประเทศไทยได้นำมาใช้อย่างจริงจังไหม
โดยพิธีกรรมและการเขียนไว้ในที่ต่างๆ น่ะใช่ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ทำตามนั้น ยังคงให้ความสำคัญกับคำว่า Economic Development มาก จนกระทั่งไม่ให้ค่ากับคุณภาพชีวิตที่ขึ้นอยู่กับคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช็กดูได้เลยว่างบประมาณนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ในความน้อยมากนั้นยังโดนตัดไปเรื่อยๆ งบประมาณนี่เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนมาก
ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่ออกใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมก็ดี เทรนด์ของมันคือออกมาเพื่อ facilitate เศรษฐกิจ เช่น การเปิด Eastern Economic Corridor (EEC) แล้วออกกฎหมายมาคลุมพื้นที่ไว้เพื่อเขียนยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง กฎหมายโรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายสาธารณสุข นู่นนี่นั่น เพื่อ Facilitate Economic Development มันก็ชัดเจนไหมว่าน้ำหนักเราให้มาด้านเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
แล้วสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้ค้างอยู่แค่คำว่าสิ่งแวดล้อม ใต้สิ่งแวดล้อมมันคือสุขภาพ ความเป็นความตายของประชาชน มันไม่ได้ถูกถ่วงน้ำหนักมากพอ เศรษฐกิจก็เลยหนักอยู่ข้างเดียว แล้วรัฐก็ทุ่มเทงบประมาณทุกสิ่งอย่าง จากการมองแบบเก่า ซึ่งทั้งโลกเขาไม่มองวิธีนี้กันแล้ว คำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยนิยามของมันก็บอกอยู่แล้วว่าต้องสมดุล คือพัฒนาเศรษฐกิจได้แต่ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย เพื่อให้มันสมบูรณ์ยั่งยืน ถ้าไม่สมบูรณ์มันก็ไม่ยั่งยืน
กฎหมายที่เริ่มต้นโดยประชาชนสำคัญอย่างไร เคยมีกรณีศึกษาที่เสนอชื่อผ่านประชาชนแล้วสำเร็จไหม
มันสำคัญมาก แต่มันเพิ่งตั้งไข่เพราะเพิ่งมีเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 และฉบับปี 2560 พอมีกฎหมายรองรับได้ มันก็มาจากแนวคิดที่เราใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม participatory democracy ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างประชาธิปไตยแบบตัวแทน บวกกับประชาธิปไตยแบบทางตรง โดยโครงใหญ่ของระบบจะมีหน้าตาคล้ายประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน แต่จะมีข้อยกเว้นบางช่องทางที่เปิดให้มี direct democracy เช่น ประชามติ ให้ไปลงประชามติได้ ให้เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ เข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อันนี้ถือว่าเป็นเหมือนกับการตั้งไข่
ทีนี้ในการตั้งไข่มันก็ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ถึงขนาดว่า… ออกแบบไว้ให้ผ่านได้เลย แต่มันมีประตูกั้นขั้นหมากเยอะมาก ถ้าเป็นร่างการเงินต้องส่งให้นายกให้ความเห็นชอบ แล้วอะไรๆ ก็เป็นกฎหมายการเงินหมดเลยเพราะเขียนและตีความไว้กว้างมาก สุดท้ายถ้าส่งไปหานายกฯ แล้วนายกฯ ไม่เห็นชอบก็ต้องปัดตกไป ร่างกฎหมายของประชาชนก็สิ้นผล
ถามว่าเคยมีร่างกฎหมายประชาชนที่ผ่านไหม มีแค่หนึ่งอันคือของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่สมัยก่อนไม่มี ครั้งแรกที่มันก่อกำเนิดขึ้นมานั้น มาจากร่างฉบับประชาชนเข้าชื่อ นอกนั้นไม่สำเร็จ เพราะประตูกั้นขันหมากเยอะ ทั้งตัวบทกฎหมายเขียนไว้ กฎหมายหลักคือรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ กฎหมายลูกที่เป็นพระราชบัญญัติก็เขียนเอาไว้ต้องนู่นนี่นั่น ประตูกั้นขันหมากมันก็เกิดขึ้นมา บวกกับเวลานำไปบังคับใช้จริง มันก็จะมีแทคติก มีอะไรต่อมิอะไร ก็เลยไม่ถึงฝั่งสักที
ถ้ายื่นให้นักการเมือง นักการเมืองยื่นให้นายก แล้วนายกเห็นด้วยไม่ปัดตก ก็ต้องบอกว่าเห็นชอบแล้วส่งกลับมาที่สภา บรรจุเข้าวาระ แล้วก็จะได้รับการพิจารณา แต่ทุกวันนี้ไม่ได้แม้แต่จะได้รับการพิจารณา เพราะถูกปัดตกไปก่อนเสียเป็นส่วนใหญ่
เวลาพูดถึง PM2.5 เราจะนึกว่ามีแค่กรุงเทพกับเชียงใหม่ แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอากาศของคนทั้งประเทศ อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยมิตินี้หน่อยค่ะ
จะบอกว่า ‘มองไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี’ เราเคยคุยกับบางชุมชน เขาบอกว่าเขาไม่มีปัญหาเรื่องนี้ อาจารย์ดูสิลมพัดเย็น ลมเย็นแปลว่ามันไม่ได้มีมลพิษขนาดจิ๋ว มันมองไม่เห็นค่ะคุณ แล้วคุณสัมผัสมันไม่ได้อย่างง่ายดาย แต่ไม่ได้แปลว่ามันไม่มี มันทั่วถึงกันหมด มากหรือน้อยจากแหล่งคนละแหล่งเท่านั้นเอง ทางภาคใต้บางฤดู PM2.5 บินมาจากการเผาฟาร์มในอินโดนีเซีย มาจากการเผาอ้อยทางภาคอีสาน หรือมาจากการเผาข้าวโพดทางภาคเหนือ ภาคกลางจะคล้ายๆ กรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ เป็นแหล่งใหญ่เพราะเป็นแอ่งกระทะ PM2.5 ก็จะมาจากยานพาหนะ
‘มองไม่เห็นแล้วนึกว่าไม่มี’ ความไม่รู้นี้มีสาเหตุจากอะไร
เป็นเพราะระบบรายงานของรัฐไม่มี rights to know, rights to information (สิทธิในการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูล) อยู่ที่ไหน นี่คือสิทธิของประชาชน แต่เหตุใด เรื่องที่ต้องรู้กลับไม่ได้รู้ นั่นเพราะรัฐไม่ได้ทำหน้าที่ พอไม่รู้จึงคิดทางบวกเอาเองว่าฉันไม่เป็นอะไร เรื่องนี้อยู่แค่เชียงใหม่กับกรุงเทพ แต่ที่เป็นอย่างนั้นเพราะแรงกระเพื่อมของภาคประชาชนในกรุงเทพและเชียงใหม่มีมาก แต่ไม่ได้แปลว่าที่อื่นปลอดภัย
ปัจจุบันการผลักดันเรื่องร่างพรบ.ไปถึงไหนแล้ว
เรารวบรวมรายชื่อได้ 26,000 รายชื่อไปเสนอรัฐสภา เขารับไว้แล้ว แล้วเขาก็พิจารณาว่าเป็นร่างกฎหมายการเงินไหม ถ้าเป็นร่างกฎหมายการเงินก็จะส่งไปที่นายก ตอนนี้กำลังเดินทางอยู่ คงจะถึงแล้ว นายกก็คงจะขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาการพิจารณา
ประชาชนทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม
ตอนนี้อยากจะขอให้ช่วยแสดงความคิดเห็น คือรัฐสภากำลังแขวนร่างนี้ไว้ในเว็บไซต์รัฐสภา เพื่อให้ประชาชนมาแสดงความคิดเห็น พลังตรงนี้มันอาจไม่ได้มีผลทางกฎหมายก็จริง แต่ว่าอย่างน้อย มันเป็นที่พิงหลังให้เราเวลาเจรจาต่อรองบนโต๊ะ ตามที่สาธารณะ หรือในศาลหากมีใครฟ้องร้องก็จะได้เป็นหลักฐาน นอกจากเว็บไซต์สภาแล้ว เรามีแคมเปญลงชื่อใน
www.change.org ซึ่งได้ประมาณ 40,000 กว่าชื่อแล้ว อยากให้ทุกคนไปช่วยกันแสดงความเห็นทั้งสองที่ ถ้าคิดว่าเรื่องนี้มันสำคัญกับความเป็นความตาย
ท้ายที่สุด ถ้าร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดถูกปัดตกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด จะเกิดอะไรขึ้น
ผู้เสียประโยชน์คือประชาชน เพราะต้องตายฟรี ตายแบบที่ไม่ได้ตายในสนามรบด้วย ตายแบบไม่ได้สมัครใจ ตายในสนามรบเศรษฐกิจ เหมือนเราเป็นเพียงวัตถุดิบอันหนึ่งในกระบวนการผลิต เราถูกด้อยค่าจริงๆ ในรัฐธรรมนูญพูดถึงสิทธิในการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี ฟังดูหรูหรา แต่คุณจะได้สิทธินั้นก็ต่อเมื่อคุณมีสิทธิหายใจเอาอากาศสะอาดเข้าไปในจมูก แล้วสุขภาพถึงจะดี เมื่อสุขภาพดีจึงจะมีชีวิตที่ยืนยาว
แต่ถ้าคุณเคลมว่าประชาชนพลเมืองไทยทุกวันนี้มีสิทธิในชีวิตกันหมดเลย แต่อายุสั้นนะ เอ๊ะ มันฟังดูแหม่งๆ นะ ตกลงมันมีหรือไม่มีอยู่กันแน่ สิทธิในชีวิตยังมีอยู่จริงไหม