อินเดียมีมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในโลก อากาศที่ปกคลุมเมืองต่างๆ ของอินเดียมักมีฝุ่นเขม่าสีดำขนาดเล็กแต่พิษภัยร้ายนัก หรือที่เราเรียกว่า PM2.5 นั้น คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าหนึ่งล้านคนในแต่ละปี และวิกฤติหนักสุดในปี 2019 จนนิวเดลีได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หลังจากเจอปัญหาหมอกควันในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สาเหตุการเกิดมลพิษของอินเดียมาจากหลายส่วน นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซพิษจากยานพาหนะจำนวนมากแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศในเอเชียใต้เป็นผู้ผลิตอิฐและกระเบื้องรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เตาเผาอิฐคิดเป็น 20% ของการปล่อยคาร์บอนสีดำหรือเขม่าสีดำทั่วโลก สถาปนิกชาวอินเดีย Tejas Sidnal ถึงกับสะพรึงเมื่อรู้ว่าบทบาทของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เขายึดอาชีพอยู่นั้น เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อากาศเลวร้าย
และในฐานะสถาปนิก…เขาคิดว่าต้องรับผิดชอบ “เราใช้อิฐก้อนเดียวกันมานานกว่า 5,000 ปีแล้ว มันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง”
Sidnal มุ่งมั่นที่จะทำให้การก่อสร้างมีความยั่งยืนมากขึ้น และจัดการกับมลพิษทางอากาศของอินเดีย เขาเปิดตัว Carbon Craft Design โดยการใช้คาร์บอนสีดำที่สกัดจากอากาศเสีย และอัพไซเคิลเพื่อสร้างกระเบื้องอาคารที่ผลิตขึ้นด้วยมืออย่างประณีตด้วยช่างฝีมือดั้งเดิม กระเบื้องคาร์บอนแต่ละแผ่นเหล่านี้ มีค่าเทียบเท่ากับการทำความสะอาดอากาศเสียได้ 30,000 ลิตร หรือเท่ากับหนึ่งวันเต็มที่มนุษย์หนึ่งคนต้องได้รับอากาศบริสุทธิ์!
ในการผลิตกระเบื้องคาร์บอน Carbon Craft Design ร่วมมือกับ Graviky Labs บริษัทอินเดียที่สร้าง ‘Air Ink’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดักจับเขม่าคาร์บอนจากรถยนต์และโรงงาน แล้วแปลงเป็นหมึกและสี วิธีการของ Graviky Labs จะใช้อุปกรณ์กรองเพื่อดักจับเขม่าคาร์บอนจากไอเสียดีเซลและเครื่องกำเนิดเชื้อเพลิงฟอสซิล จากนั้นนำเข้ากระบวนการขจัดสิ่งปนเปื้อน เช่น โลหะหนักและฝุ่นออกจากเขม่า และมอบคาร์บอนบริสุทธิ์ให้กับ Carbon Craft Design ในรูปแบบผง
จากนั้น Carbon Craft Design จะออกแบบโมเดลตั้งต้น และให้ช่างฝีมือกระเบื้องแบบดั้งเดิมในทมิฬนาฑูและคุชราตผลิตกระเบื้องอย่างประณีต โดยใช้ผงเขม่าผสมกับวัสดุต่างๆ เช่น เศษหินอ่อน ผงหินอ่อน ซีเมนต์ พร้อมด้วยสารยึดเกาะที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ กระเบื้องมีสามขนาด 8″x8″, 10″x10″ และ 12″x12″ ในเฉดสีเดียว 6 เฉด ตั้งแต่สีดำ สีเทา 4 เฉด และสีขาว ซึ่งกระบวนการนี้ใช้พลังงานแค่ 1 ใน 5 ของพลังงานที่จำเป็นในการผลิตกระเบื้องเคลือบแก้วในปัจจุบัน
นับตั้งแต่เปิดตัวกระเบื้องแผ่นแรก ลูกค้าของ Carbon Craft Design มีทั้งแบรนด์แฟชั่นระดับโลก และบริษัทสถาปัตยกรรมในอินเดีย รวมถึงร้าน Adidas ในมุมไบ ก็นำไปใช้ปูผนังและพื้น ซึ่งได้ทั้งความสวยงาม ความดิบเท่อย่างมีเสน่ห์ และยังมีส่วนช่วยลดมลพิษ
Sidnal กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะให้กระเบื้องแต่ละแผ่นมีวัสดุเหลือใช้อย่างน้อย 70% และต้องการผลิตกระเบื้องคาร์บอนในราคาที่จับต้องได้ “เพราะความยั่งยืนต้องไม่ใช่ของแพง”
ที่มาข้อมูล:
1. www.carboncraftdesign.com
2. www.thebetterindia.com/225013/mumbai-startup-air-pollution-tiles-carbon-craft-design-sustainable-innovation-india-ang136
3. edition.cnn.com/style/article/carbon-tiles-air-pollution-india-hnk-spc-intl/index.html
4. www.carboncraftdesign.com/blog/what-is-carbon-craft-design
5. edition.cnn.com/style/article/carbon-tiles-air-pollution-india-hnk-spc-intl/index.html