ก่อนหน้านี้มีชายคนหนึ่งพายเรือเก็บขยะในคูคลอง ต่อมาก็มีกลุ่มเด็กนักเรียนได้รับการชักชวนให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ไม่ให้คนริมคลองทิ้งขยะลงในน้ำ หลังจากที่บรรยากาศริมคลองบางหลวง บ้านของ ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ดีขึ้นกว่าเก่า เราก็ได้เห็นนักอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อมคนนี้ปรับเปลี่ยนเรือยนต์ที่ใช้ทำงานหาเงิน (แต่ต้องทำใจเรื่องสิ่งแวดล้อม) ให้กลายเป็นเรือไฟฟ้าใต้ชื่อธุรกิจ ‘เรือไฟฟ้าสุขสำราญ Sun-powered Boat’ ที่ไม่ได้เป็นมิตรเพียงแค่แม่น้ำลำคลอง แต่ยังเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัย ชุมชน และโลกใบนี้อย่างยั่งยืน
ภาวะโลกรวน รวนจากน้ำสะเทือนทุกคน
“ผมรู้สึกว่า เมืองมนุษย์เป็นตัวเขมือบทรัพยากร เหมือนสัตว์ประหลาดที่ยื่นแขนขาไปสูบใช้พลังงานของโลกอย่างบ้าคลั่ง แวบแรกของผม ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติของผู้คน ทุกคนเห็นด้วยเมื่อพูดถึงปัญหา แต่การลงมือทำควรจะไปได้มากกว่านี้ เพราะ ณ เวลานี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ตัวประกอบ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข”
เมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนมักนึกถึงมลพิษทางอากาศเป็นอันดับต้นๆ ด้วยความรู้สึกว่าหนีไม่พ้น และฝุ่นควันเป็นเหมือนโจรที่เข้ามาขโมยสุขภาพอันดีของเราถึงในห้องนอน แต่แท้จริงแล้วเรื่องน้ำกลับส่งผลต่อร่างกายได้ไม่ต่างกัน
โดยเฉพาะเรื่องไมโครพลาสติก (อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) เกิดจากการชะล้างทุกสิ่งอย่างลงสู่ธรรมชาติ ตั้งแต่ลำคลองไปจนถึงท้องทะเล เมื่อมนุษย์บริโภคปลาหรืออาหารชนิดอื่น รวมถึงผักและผลไม้ที่ดูดซับน้ำผ่านทางราก ก็ย่อมได้รับไมโครพลาสติกหลากหลายรูปแบบเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเลวร้ายที่สุด ไมโครพลาสติกอาจถูกดูดซับเข้าไปถึงครรภ์มารดา ดังนั้นปัญหาเรื่องน้ำจึงใกล้ตัวกว่าที่ใครหลายคนคิด
สำหรับน้ำที่เป็นส่วนประกอบหลักของชีวิต อีกหลายปัญหาที่ผู้คนริมคลองเผชิญคือ คลื่นกระแทกฝั่งทำลายตลิ่งซึ่งเกิดจากความแรงของเรือยนต์ที่แล่นกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง รวมไปถึงมลพิษทางเสียง และน้ำเสียที่เกิดจากการถ่ายน้ำมันเครื่องลงคลอง เรื่องนี้ ซันได้ค้นพบด้วยตัวเองจากการเห็นคนเรือทำอย่างที่ว่า หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มปฏิบัติการเปลี่ยนเรือโบราณลำเก่าที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญา ให้กลายเป็นเรือไฟฟ้า เพื่อช่วยชีวิตสายน้ำและปลุกกระแสเรือไฟฟ้าให้ตื่นขึ้น
เปลี่ยนเรือเก่าเพื่อความหวังใหม่
อาชีพปัจจุบันของซันคือ คุณพ่อ คนขับเรือไฟฟ้าเพื่อนำเที่ยว และนักรณรงค์ให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทุกอย่างแล่นไปด้วยกันอย่างลงตัวบนเรือแท็กซี่สุดคลาสสิกลำนี้ แต่ก่อนที่เรือลำดังกล่าวจะตกมาถึงมือของซัน เขานั่งมองพาหนะทางน้ำที่ผ่านหน้าบ้านอยู่นานเพื่อหาลำที่ใช่ที่สุด สุดท้ายจึงไปจบที่เรือแท็กซี่ ซึ่งมักจะแล่นมาอย่างช้าๆ เกิดคลื่นน้อย มีควันบ้าง เสียงดังไม่ถึงบ้านริมคลอง แต่ดังตลบอยู่ในเรือ
“ทั้งๆ ที่รู้แต่ก็ซื้อมา เพราะเราตั้งใจจะเก็บเงินซ่อมเครื่องอยู่แล้ว ผมเสียเงินไป 6 หมื่น เพื่อให้ควันน้อยและเงียบ แต่เฟล พอเป็นแบบนั้นผมก็ใช้ไปก่อนเพื่อเก็บเงินมาแก้ไขใหม่ ไอเดียที่อยากพาทุกคนไปรู้จักท้องถิ่นและอนุรักษ์ธรรมชาติจึงยังไม่เกิดขึ้น ด้วยตอนนั้นมีเงื่อนไขของการเข้าร่วมวินเรือ จึงไม่สามารถหางานเองได้ ต้องรับงานที่วินเท่านั้น เรื่องระบบการท่องเที่ยวทางเรือที่ทำกันมาก็เป็นอีกอย่างที่หากปรับได้จะยั่งยืน ปัจจุบันจะเรือท่องเที่ยวพยายามใช้เวลาสั้น วนเร็วกลับเร็ว พานักท่องเที่ยวไปมองๆ จบ ไม่ได้สื่อสาร เรือเองก็รับคนไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะต้องออกรอบให้ถี่เพื่อกระจายรายได้”
หากระบบการท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับการปรับเปลี่ยน เรือในลำคลองก็ไม่จำเป็นจะต้องแข่งกันใช้เครื่องยนต์เพื่อเพิ่มความเร็วในการทำรอบ การพ่นของเสียลงน้ำก็จะน้อยลงเช่นกัน สำหรับซันที่ออกจากวินเรือมาแล้ว การทำเรือไฟฟ้าจึงตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสื่อสารเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนมากที่สุด
“ผมเคยคิดว่าจะเอาเครื่องยนต์ใหม่มาใส่ แต่พอศึกษาไปจริงๆ เรือเราอยู่ในสภาวะอากาศที่โหดร้ายกว่ารถยนต์ พออยู่ในเรือเจอทั้งความชื้นและแดดก็จะพัง เรือโบราณจึงใช้เครื่องยนต์โบราณ แต่ก็เต็มไปด้วยการรั่วไหลของน้ำมันเครื่องและควันพิษ ซึ่งแก้ไม่ค่อยตกเพราะมันเป็นของเก่า ดังนั้นทางเดียวคือการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า”
เรือไฟฟ้าวิ่งได้แรงเช่นเดียวกับเครื่องยนต์ แต่ข้อจำกัดคือเรื่องแบตเตอรี่ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ยกตัวอย่างเรือของซันใช้งบประมาณสองแสนห้าหมื่นบาท เพียงแค่งบแบตเตอรี่ก็ราวหนึ่งแสนบาทแล้ว หากวิ่งเร็วจะต้องเพิ่มแบตเตอรี่เข้าไปอีก เรือไฟฟ้าจึงตอบโจทย์กว่าหากวิ่งช้าลง แต่ในส่วนนี้จะไม่ตอบโจทย์การหารายได้ หากต้องทำรอบตามระบบธุรกิจเดิม
“หากไม่อยากให้การท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ อิ่มตัว เราต้องหาจุดขายใหม่ให้กรุงเทพฯ หากขับเคลื่อนมาเป็นวิถีธรรมชาติ แขกได้ใช้เวลา ได้เรียนรู้มากขึ้น กระจายรายได้มากขึ้น และส่งผลดีต่อคนในพื้นที่มากขึ้น ย่อมเกิดเป็นความยั่งยืน จากนั้นประเด็นที่เป็นข้อจำกัดของเรือไฟฟ้า ก็จะไม่เป็นข้อจำกัดอีกต่อไป มันจะกลายเป็นจุดเด่นด้วยซ้ำ”
เรือไฟฟ้าสุขสำราญ ที่สำราญทั้งผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ชีวิตของซันเริ่มต้นและดำเนินอยู่ริมคลอง เขาเริ่มจากการพายเรือชมธรรมชาติ เห็นบ้าน วัดเก่า และวิถีชีวิตที่น่าสนใจ เมื่อเขารู้ว่าตนเองอยากเล่าเรื่องเหล่านี้ให้แขกเหรื่อผู้มาเยือนมาฟัง เขาจึงเริ่มทำความรู้จักกับชาวบ้านมากขึ้น เพื่อเป็นหนทางในการสร้างรายได้ และให้คนในชุมชนได้ส่งต่อเรื่องราวของตนอย่างภาคภูมิใจ
“ผมพยายามทำทัวร์กระจายรายได้และศึกษาชุมชน ให้แขกมาช้อปปิ้งของท้องถิ่น นี่คือความสุขของผม มันไม่ได้ทำให้ผมมีกำไรมากขึ้น แต่มันคือภาพที่เราอยากเห็น ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและการอนุรักษ์ ถ้าไม่รู้จักจะรักษามันได้อย่างไร ใช่ไหม?
“ผมแล่นเรือบางทีเช้าจรดเย็น แวะไปเรื่อยๆ ชาวบ้านก็รู้สึกดี เพราะเราพาคนมาหา พวกเขาไม่ได้มองเรื่องเงิน การมีคนมาชื่นชมบ้านเก่าของเขา มีคนมาหา เขาเกิดความสุขมากกว่าเรื่องรายได้”
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของซัน มีกลุ่มเป้าหมายปัจจุบันเป็นคนไทย 99% หลังจากที่ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด มีชาวต่างชาติขึ้นเรือเขามากกว่า อย่างไรก็ตาม ซันชอบจัดทริปให้คนไทย เพราะเขาสามารถทำให้คนที่มานั่งเรือรู้จักกรุงเทพฯ ในอีกมุมมองได้ ทั้งยังลงรายละเอียดเรื่องเรือไฟฟ้าและการอนุรักษ์ได้มากกว่า ซึ่งผลตอบรับเรื่องเรือไฟฟ้าของซันก็ดีมาก
“ตอนทำเรือเสร็จ เจ้าของคานเรืออายุประมาณเจ็ดสิบกว่า เขาบอกว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้เรืออยู่รอดต่อไปได้ ตอนนี้หมดยุคของเครื่องยนต์น้ำมันแล้ว ดังนั้นเรือไฟฟ้าและเรือโบราณจะเป็นแสงสว่างใหม่ ค่าบำรุงก็น้อยลง เรือเบากว่าเรือยนต์ เรือเล็กที่ใช้ไฟฟ้าจึงเกิดขึ้นได้ง่าย เป็นโอกาสในการฟื้นวิถีชีวิตทางน้ำกลับมาเช่นกัน”
ซันบอกเราว่า การหันมาใช้เรือไฟฟ้ายังมีอยู่น้อย เพราะบางคนมองเป็นการลงทุนที่แพง แต่เขายืนยันว่า เมื่อลงทุนแล้วคุ้มค่าทั้งเรื่องเม็ดเงินและสิ่งแวดล้อม “สมัยก่อน เรือผมทำงานสามสิบวัน ได้กำไรเดือนละหมื่นกว่าบาท ตอนนี้ทำงานประมาณสิบวัน ได้กำไรเพิ่มขึ้นสามเท่า
“ชาวบ้านก็รู้สึกดีกับเรามาก มีคนแซวว่านึกว่าเรือเราเสีย เพราะลอยมาช้าๆ เรือไม่มีเสียง บางคนก็ชี้บอกเราว่าอู่ซ่อมเรืออยู่ทางโน้นนะ มันเห็นได้ชัดว่า เรือไฟฟ้าเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยกับชาวบ้านได้ง่ายขึ้นมาก เดิมทีเรือเสียงดัง ถ้าอยากจะคุยกับคนริมคลองหรือเรือที่สวนกันมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือดับเครื่อง พอน้ำไหลเรือก็ไหลไป ต้องสตาร์ตใหม่เพื่อเอาเรือกลับมาคุยกันต่อ เรือไฟฟ้าที่ไม่มีเสียงจึงสร้างปฏิสัมพันธ์ได้ดีกว่า เขาก็เห็นว่าเราไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรด้วย”
จากชาวบ้านริมน้ำคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ สู่เจ้าของเรือไฟฟ้าที่เข้าใจปัญหาชุมชน และลงมือแก้ไขด้วยตนเอง พร้อมทั้งชักชวนผู้คนรอบกายให้เดินหน้าไปด้วยกัน ทั้งหมดคือความหวังใหม่ที่อาจฟื้นฟูวิถีชีวิตทางน้ำขึ้นมาอีกครั้ง
หากใครสนใจเปลี่ยนเรือยนต์ให้กลายเป็นเรือไฟฟ้า หรือต้องการเริ่มทำธุรกิจท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้และเดินหน้าไปกับซันได้ที่เฟซบุ๊กเพจ เรือไฟฟ้าสุขสำราญ Sun-powered Boat