“we!park ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง แต่อยากเพิ่มพลังให้กับพลเมืองทุกคนมีแรงที่จะอยู่ในเมือง และได้ออกแบบพื้นที่ในเมืองให้ดีขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน และเมื่อเราได้เริ่มต้นด้วยกัน ความต้องการก็น่าจะสอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นสวนสาธารณะก็จะไม่ถูกทิ้งร้าง ตรงนี้แหละเป็นกระบวนการที่เรามองทั้งระบบนิเวศ และใช้บทบาทของวิชาชีพภูมิสถาปนิกเข้ามาเป็นกลไกในการทำงาน”
ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้ง We!Park แพลตฟอร์มที่ตั้งใจชวนทุกคนมาช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะให้เกิดขึ้นในเมืองมากเท่าที่จะทำได้ โดยต่อยอดจากองค์ความรู้และเครือข่ายที่เขากับทีมสั่งสมจากการทำงาน กล่าวกับเราเช่นนั้น
เรามีนัดกับเขา ณ สตูดิโอสีขาวย่านเอกมัย สถานที่ตั้งของบริษัท ฉมา จำกัด และบริษัท ฉมาโซเอ็น จำกัด ซึ่งยศพลมีสถานะเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทภูมิสถาปนิกแห่งนี้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้อาคารและโครงการต่างๆ หลายโครงการ พร้อมกับทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะไปด้วย โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นได้
สถานที่ทำงานของเขาที่แน่นขนัดไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่สีเขียวหลายเฉด วันที่เราพบกัน เป็นวันเดียวกับที่เขาเพิ่งกลับจากการร่วมเดินสำรวจพื้นที่รกร้างย่านทองหล่อ เอกมัย พื้นที่บริเวณคลองเป้ง และฝั่งตรงข้ามสวนสมเด็จสราญรมย์ (ริมคลองเเสนแสบ ฝั่งเอกมัย) กับทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของ กทม. เพื่อนำพื้นที่รกร้างเข้าสู่แผนพัฒนาสวน 15 นาที ให้คนเมืองได้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนจำนวนคนกรุงกับพื้นที่สีเขียว นับว่ายังห่างไกลจากที่เราควรมี คืออยู่ที่ 9-15 ตารางเมตรต่อคน ตามหลักเกณฑ์สำหรับเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขององค์การอนามัยโลก
เราใช้โอกาสนี้คุยกับเขาถึงไอเดียตั้งต้นของแพลตฟอร์ม และโมเดลการทำงานที่เชื่อมทรัพยากรหลากหลายรูปแบบ เพื่อหาหนทางสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะร่วมกัน ไปจนถึงการมีส่วนร่วมกับยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของ กทม. ในการเพิ่มจำนวนและคุณภาพพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก หรือ ‘Pocket Park’ ทุกๆ 400-800 เมตรในเมือง ว่ากำลังดำเนินไปสู่ทิศทางไหน
อยากเห็นเมืองมีพื้นที่สีเขียวที่ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น
ยศพลเป็นภูมิสถาปนิกที่ทำงานออกแบบภูมิทัศน์เมือง ที่ไม่ได้มองว่าภูมิสถาปนิกเป็นแค่อาชีพ ทำงานได้เงินแล้วก็จบ แต่มองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเมือง และใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประกอบกับเมื่อได้มองย้อนกลับมาในมิติของตัวเองที่เป็นคนกรุงเทพฯ เขาพบว่าสังคมกำลังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ฝุ่นควัน รวมถึงพื้นที่สีเขียวก็เกิดได้ยากและมีน้อย
ประสบการณ์การทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ยศพลมองเห็นช่องโหว่ว่า ปัญหาเหล่านี้ขาดตัวกลางในการเชื่อมทรัพยากรที่ทุกคนมีเข้าด้วยกัน เขาจึงริเริ่มโครงการ we!park ขึ้นมา เพื่ออุดรอยโหว่ของปัญหานี้
“แพลตฟอร์มกลางอย่าง we!park ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขอบริจาคพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือถูกออกแบบแล้วแต่ยังไม่ตอบสนองความต้องการ โดยจะช่วยเชื่อมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทุน ความรู้ ที่ดิน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับโครงข่ายทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมือง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพ และภาคสถาบันการศึกษา ซึ่งล้วนมีทรัพยากรต้นทุนที่สามารถสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เช่น ภาครัฐมีที่ดินแต่ไม่มีงบประมาณ ส่วนเอกชนมีงบประมาณแต่ไม่มีผู้ออกแบบ หรือผู้ออกแบบมีองค์ความรู้ แต่ไม่รู้จะไปเชื่อมกับใคร
“เราเน้นการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็กๆ ในชุมชน เนื่องจากการมีพื้นที่สีเขียวปริมาณมากแต่เข้าถึงยาก ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี และพื้นที่ที่มีศักยภาพก็ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ we!park ให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงมากกว่า
“การมีพื้นที่สาธารณะสีเขียวทุกๆ 400 เมตร หรือในระยะเดินถึง ทำให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึง เกิดการกระจายตัวของโครงข่ายได้รวดเร็ว และสามารถสอดแทรกเข้าไปยังจุดต่างๆ ของเมืองได้ง่าย สร้างประโยชน์ให้กับทุกชีวิตในเมือง ไปถึงช่วยดูดซับมลพิษ เกิดพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจให้กับชุมชน หรือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านได้”
สร้างสรรค์พื้นที่เล็กๆ ร่วมกับทุกภาคส่วน ที่ไม่ได้ตั้งธงให้เป็นสวนเท่านั้น
กระบวนการออกแบบพื้นที่สีเขียวของทีม we!park เกิดขึ้นจากการเข้าไปศึกษาพื้นที่ รับฟังความคิดเห็น ถามความต้องการชุมชน จากนั้นจึงจัดหาทุนมาปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่ชุมชนได้ออกแบบร่วมกัน โดยมีภาครัฐหรือเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ
“เราจะเริ่มตั้งแต่กระบวนการทางความคิด มีการแลกเปลี่ยนว่าทางเลือกไหนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันยังไง ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีรายละเอียดต่างกัน อย่างกรณีคลองสาน เนื่องจากเป็นย่านพหุวัฒนธรรม เขาก็อยากสะท้อนเรื่องราวชุมชน ประวัติศาสตร์ มีตลาดนัด เส้นทางจักรยาน ซึ่งมองไปไกลกว่าสวน มองไปถึงเรื่องเส้นทางท่องเที่ยว
“ก็จะต่างกับชุมชนที่ไม่มีต้นทุนทรัพยากรด้านนี้ ที่จะไปเน้นเรื่องคุณภาพชีวิต เช่น ชุมชนโชฎึก มีทั้งผู้สูงอายุและเด็ก เราก็ผสมผสานตามความต้องการของชุมชน รวมทีมกับ art4d กลุ่มปั้นเมือง นักออกแบบมืออาชีพ และนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยแปลงโฉมพื้นที่รกร้างริมคลองผดุงกรุงเกษม ให้เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ
“ฉะนั้นเมื่อเราลงไปศึกษาพื้นที่ ทำกระบวนการมีส่วนร่วม ก็ไม่จำเป็นว่าผลลัพธ์จะต้องเป็นสวนเสมอไป บางชุมชนอาจต้องการกิจกรรม เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ในเมืองด้วยกัน หรือทำเวิร์กช็อป
“ด้านกระบวนการทางกายภาพ เราก็เชื่อมทรัพยากรทุกภาคส่วน เช่น เคลียร์พื้นที่เพื่อจัดการขยะ แยกขยะ ช่วยกันทาสี อีกนัยหนึ่งก็เป็นเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองด้วย คือเป็นสวนที่คุณออกแบบได้ มีสิทธิที่จะเสนอ มีสิทธิที่จะมาช่วยกันทำ ร่วมแชร์ทรัพยากร เกิดเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่จับต้องได้ และตอบสนองความต้องการของทุกคนจริงๆ
“ที่ผ่านมาสวนสาธารณะในหลายแห่งถูกทิ้งร้าง เพราะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน แต่ถ้าชุมชนได้คิดได้ออกแบบเอง เขาจะรู้สึกผูกพัน ช่วยกันดูแล ตั้งกฎระเบียบในการเปิดปิด หรือถือกุญแจเปิดปิดร่วมกับเขต ทำให้ค่อยๆ สร้างความเป็นเจ้าของร่วมมากขึ้น”
พื้นที่สาธารณะสีเขียว เป็นพื้นที่เพื่อทุกคน
ตลอดการสนทนา ยศพลย้ำเสมอว่า การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ดีให้สำเร็จ ต้องอาศัยหลายภาคส่วน และที่สำคัญต้องมีการสื่อสารองค์ความรู้ให้กับทุกระดับ เพื่อสร้างค่านิยมร่วมของสังคมให้เห็นความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียว
“ที่ผ่านมาพื้นที่สาธารณะสีเขียวเกิดขึ้นได้ยาก ผมว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรค คือถ้าโจทย์แรกบอกว่ารัฐเป็นคนทำคนเดียว อันนี้ยาก เพราะรัฐก็มีทรัพยากรจำกัด แต่ถ้าคุณกระจายทรัพยากร ให้ทุน ปรับกฎหมาย ก็ทำให้ปลดล็อกอะไรได้บ้าง อย่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นตัวกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินทำประโยชน์อะไรสักอย่าง บ้างก็ปลูกกล้วย ปลูกมะนาวเพื่อเลี่ยงภาษี แต่ถ้ารัฐสนับสนุนให้นำมาทำประโยชน์ที่ได้มากกว่านั้น อย่างสร้างพื้นที่สีเขียว แล้วสามารถลดหย่อนภาษีได้ สังคมก็จะได้พื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ
“อีกด้านหนึ่งก็คือ อุปสรรคเรื่องฐานข้อมูล สมมติมีเงินอยู่พันล้าน แล้วคุณจะรู้ได้ยังไงว่าควรจะลงทุนกับพื้นที่สีเขียวตรงไหนถึงได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งฐานข้อมูลจะเป็นตัวบอกว่าพื้นที่นี้ประชากรเป็นกลุ่มมีรายได้น้อย มีเกาะความร้อนสูง ฝุ่นควันเยอะ เป็นจุดรับน้ำของเมือง ฉะนั้นควรจะลงทุนตรงนี้เพื่ออะไร ต้องทำเรื่องนี้เพื่อจะชี้เป้าให้เห็นเหตุผลการใช้เงินภาษีในการลงทุน แล้วทุกอย่างต้องโปร่งใส ถึงจะตอบได้ว่าทำแล้วได้ประโยชน์อะไร
“และที่สำคัญต้องประเมินผล เช่น ทำไปแล้ว 3 ปี คนในละแวกนั้นสุขภาพดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดี ฝุ่นลดลง ราคาที่ดินรอบๆ เพิ่มขึ้น จะต้องมีการทำตัวชี้วัดเหล่านี้ เพื่อที่ทุกคนจะได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งพอเห็นผลว่าทำแล้วดี ใครจะปฏิเสธที่จะไม่ทำ ในเมื่อทุกคนวิน developer ได้เงิน คนทั่วไปก็ได้สวน ได้คุณภาพชีวิตที่ดี”
ขณะเดียวกัน ยศพลมองว่าเรื่องนี้ต้องผลักดันให้เกิดสัญญาประชาคมด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองคือสิ่งที่สังคมต้องการ ซึ่งรัฐก็ต้องผลักดันร่วมกับสังคมให้เกิดขึ้นจริง ทำให้เกิด Business Model หรือ Ecosystem ที่จะเกิดการลงทุนเรื่องเมือง ทั้งยังสามารถสร้างอาชีพได้ เป็นต้นว่า เอกชนบริจาคที่ดิน รัฐนำภาษีที่เก็บได้มาดูแลจ้างงานในชุมชน จ้างคนมาตัดแต่งต้นไม้ เก็บขยะ จ้างนักออกแบบ จัดตั้งกองทุนในการดูแล หากทำได้ครบทั้งวงจร ทุกภาคส่วนก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน และวงล้อของความยั่งยืนจะหมุนไปแบบไม่มีการหยุด
“we!park เองพยายามทำเรื่ององค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดออกไป ล่าสุดเราจัดอบรมให้บุคลากรของรัฐ ในหัวข้อ แนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และจัดทำคู่มือการทำพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park) ที่ถอดบทเรียนจากการทำงานของ we!park ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยสรุปเป็นแนวทางการทำงาน หลักการ ตัวอย่างกรณีศึกษาการพัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในชุมชน เพื่อให้คนที่จะมาทำเรื่องนี้สามารถต่อยอดได้โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่” (สำหรับคนที่สนใจสามารถดาวโหลดได้ที่ shorturl.asia/flDUA)
พื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็ก ปลุกเมือง ปลุกพลังพลเมือง
ปัจจุบันโครงการของ we!park มี 5 พื้นที่นำร่องคือ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ซึ่งได้รับบริจาคพื้นที่จากภาคเอกชน และถือเป็นสวนนำร่องอีกแห่งหนึ่งตามโครงการ Green Bangkok 2030, สวนป่าเอกมัย เกิดขึ้นจากพื้นที่เศษเหลือของการพัฒนาบริเวณถนนทางข้ามแยกยกระดับจากถนนเพชรบุรีไปถนนเอกมัย ด้านล่างของทางยกระดับติดกับคลองแสนแสบ, สวนสาธารณะที่คลองสาน, สวนชุมชนโชฎึกที่เขตตลาดน้อย และลานกีฬาแสงทิพย์ พื้นที่ใต้ทางด่วน ย่านอ่อนนุช
“we!park ได้เข้าไปส่วนหนึ่งของการช่วยพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยล่าสุดได้เข้าไปมีส่วนกับนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ตอนนี้เราทำงานกับทีมที่ปรึกษาผู้ว่าฯ อยู่ 3 เรื่อง คือนโยบายต้นไม้ล้านต้น การเปลี่ยนภูมิทัศน์บนพื้นที่รกร้างของเอกชน และที่ดูเป็นพิเศษก็คือเรื่องสวน 15 นาที ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ทีมเราทำอยู่แล้ว ก็เข้าไปดูพื้นที่เป้าหมาย ตอนนี้อยู่ในช่วงสำรวจว่า กทม.มีพื้นที่ตรงไหนบ้างที่จะสามารถเข้าไปพัฒนาได้เลย”
เป้าหมายของสวน 15 นาที คือเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ที่มีคุณภาพ และระยะการเข้าถึงจากบ้าน 15 นาที หรือประมาณ 400-800 เมตร และหาก กทม.จะยึดจากข้อมูลที่ทีม we!park เคยสำรวจไว้ตลอดการทำงานเมื่อ 2 ปีก่อน ว่าถ้าต้องการมีพื้นสีเขียวในระยะเดินถึงทุก 400 เมตร สัดส่วนควรอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เมือง หรือเกิดสวน 30 สวนต่อปี ซึ่งใน 10 ปีข้างหน้าก็คือ 300 สวน
ฟังดูเหมือนเป็นตัวเลขที่เยอะ แต่ยศพลบอกว่า ถ้าอยากผลักดันให้สำเร็จตามเป้านั้นสามารถทำได้ แต่ต้องเอาจริงระดับนโยบายและบูรณาการร่วมกัน อีกทั้งเรื่องพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องที่ยึดโยงไปถึงความมั่นคงในชีวิตหลายด้าน อาทิ ปัญหาโลกร้อน ฝุ่น PM2.5 น้ำท่วม และจากหลายผลงานวิจัยก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การมีสวนสีเขียวใกล้บ้าน ช่วยทั้งเรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพใจของคนเมืองให้ดีขึ้นได้
“เราอยากเห็นภาพเมืองที่ทุกคนได้ไปใช้ชีวิต ออกไปเดินได้ อากาศไม่ร้อน มีพื้นที่สร้างสรรค์ แต่มิติที่สำคัญคือต้องทำให้ทุกคนหรือพวกเราด้วยกันเองรู้สึกมีแรงที่จะอยู่ในเมือง การมีแรงที่จะอยู่ในเมืองสะท้อนให้เห็นว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่ฟังคน ซึ่งจริงๆ ผมว่าเมืองเรามีจุดแข็งเรื่องพลเมือง มีเสียงของคนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดี แต่ปัญหาคือว่าทำยังไงให้เสียงเหล่านี้มีพลังมากพอที่จะไปเปลี่ยนกายภาพหรือโครงสร้างได้ กลายเป็นเมืองที่เราส่งเสียงแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
“ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว สุดท้ายจะไม่ใช่แค่เมืองน่าอยู่นะ แต่เป็นสังคมที่น่าอยู่ด้วย”