คาเฟ่รักษ์โลก ไม่ใช่คำสวยๆ เป็นได้แค่เพียงแนวคิดเท่านั้น เพราะสามารถเกิดขึ้นได้จริง เช่นที่ ‘Solar Café’ ร้านกาแฟที่จริงจังกับการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกกระบวนการ ทุกการจิบจึงช่วยถนอมโลกไปพร้อมกับเอ็นจอยกาแฟในแก้ว
ในยุคที่ธุรกิจคาเฟ่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้เรามีสถานที่เก๋ๆ ไว้ถ่ายรูป นั่งพักผ่อน พบปะเพื่อนฝูง กินอาหารอร่อยๆ จิบกาแฟชงใหม่ๆ มีสถานที่ให้เปลี่ยนบรรยากาศทำงาน หรืออีกหลากหลายกิจกรรม แต่ขณะเดียวกันคาเฟ่ที่เสิร์ฟกาแฟให้เราจิบนั้น มีต้นทุนเรื่องโลกร้อนแฝงอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ นึกไม่ถึง
ต้นทุนแฝงที่ไม่ประนีประนอมต่อโลก เกิดขึ้นตั้งแต่การปลูก การขนส่ง การคั่วบด การทำน้ำให้เดือด ไปจนถึงขยะกากเมล็ดกาแฟ การใช้เครื่องไฟฟ้าจำนวนมากในร้านกาแฟ ที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ ก็เป็นการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อากาศ และก๊าซเสียอีกหลายชนิด กลายเป็นก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ นำมาสู่การเกิดภาวะโลกร้อนอย่างที่เรากำลังเห็นผลกระทบกันอยู่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ก็ได้สะท้อนให้เห็นแล้วเป็นรูปธรรมผ่านภัยธรรมชาติ จนทำให้วิถีปฏิบัติแบบรักษ์โลกและความยั่งยืนเป็นที่สนใจมากขึ้น
ทั้งฝั่งผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบอย่างธุรกิจคาเฟ่หลายแห่งทั่วโลก ก็ได้หันมาทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและผู้บริโภค เช่นเดียวกับ Solar Café ร้านคาเฟ่ขนาดกะทัดรัด ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ต่อยอดไอเดียเรื่องสุขภาพ ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้
ปีนี้ Solar Café เติบโตขึ้นสู่ขวบปีที่ 6 เป็น 6 ปีบนความตั้งใจของร้านกาแฟที่ใช้พลังงานทั้งหมดในร้านจากแผงโซล่าร์เซลล์ แหล่งพลังงานสะอาดของร้าน ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษใดๆ เพิ่มให้กับสิ่งแวดล้อมเลย
ไอเดียสะอาดๆ นี้เริ่มต้นจากแรงขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พยายามสร้างระบบนิเวศภายในมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมให้ดีกว่าเดิม และ วัฒน์-ศิริวัฒน์ หงส์ศิริวัฒน์ อดีตวิศวกรที่เกษียณตัวเองจากการทำงานเมืองนอก แล้วย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยพร้อมความตั้งใจในการออกแบบชีวิตให้มีความสุข กินอาหารเพื่อสุขภาพ และใช้ชีวิตในรูปแบบช่วยถนอมโลก
“ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่มีหัวการค้า ไม่ได้รู้เรื่องเกษตร และก็ไม่ได้หลงรักกาแฟมากจนคิดอยากเปิดร้าน แต่ตอนกลับมาไทย ผมรู้สึกว่าอะไรหลายอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะความเป็นธรรมชาติ ป่าไม้ก็ลดลง ซึ่งผมมีที่อยู่เชียงใหม่ ช่วงแรกก็ตั้งใจกลับมาใช้ชีวิตแบบชิลล์ๆ
“แล้วส่วนตัวผมค่อนข้างจะรักเรื่องสุขภาพ เน้นในเรื่องธรรมชาติส่วนใหญ่ เลยมองว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง ก็มีความคิดอยากปลูกพืช แต่ว่าไม่อยากตัดต้นไม้ที่มีอยู่เดิม เลยไปปรึกษาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาก็แนะนำให้ปลูกกาแฟแทรกกับต้นไม้ดู เพราะว่าเป็นพืชที่อาศัยร่มเงาของต้นไม้ และเป็นการพึ่งพากันระหว่างธรรมชาติ เราก็เลยปลูก”
เมื่อเวลาผ่านไป อุปสรรคที่เกษตรกรทั่วไปต้องเจอ มาทักทายเขาเกือบทุกกระบวนท่า ศิริวัฒน์แก้ปัญหาอยู่หลายปี จนต้นกาแฟที่เพาะปลูกแบบออร์แกนิกก็เติบโตจนให้ผลผลิต ประกอบกับเขาไม่ได้ปลูกในลักษณะธุรกิจ เหล่าผลผลิตนั้นจึงไม่ได้ไปไหน ขณะเดียวกันเขาก็ทนปล่อยให้ต้นกาแฟตายไม่ได้ แต่การดูแลกาแฟที่ปลูกให้โตต่อ ก็ต้องใช้งบประมาณในการหมุนเวียน
เกษตรกรมือใหม่ในวันนั้นกลับไปทบทวนความคิด ว่าควรได้ทำอะไรที่สร้างประโยชน์มากกว่าที่จะอยู่เฉยไปเรื่อยๆ ในที่สุด ศิริวัฒน์ค้นพบว่าเขาอยากสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยที่ดีต่อสุขภาพเพื่อคนอื่นๆ ด้วย จึงตัดสินใจทำต่อในเชิงของธุรกิจ พร้อมกับตั้งใจทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือปลูก เก็บ หมักบ่ม คั่ว และขายไอเดียของเขาค่อยๆ ตกผลึกเป็นคาเฟ่เล็กๆ ที่เสิร์ฟกาแฟและอาหารออร์แกนิก ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะขยับตัวเองมาดูแลร้าน Solar Café ในพื้นที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
โมเดลธุรกิจของศิริวัฒน์ เน้นเรื่องคุณภาพ มีอาหารปลอดสารพิษให้ทาน มีกาแฟออร์แกนิกให้ดื่ม และออกแบบร้านให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเลือกวัสดุเหลือใช้มาตกแต่ง อย่างโคมไฟเพดานประยุกต์มาจากล้อจักรยาน โต๊ะเก้าอี้ทำจากเศษไม้รีไซเคิล นอกจากนี้ยังตอบโจทย์ความยั่งยืนและอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับโลก โดยออกแบบติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา เพื่อใช้งานไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์
“ตอนแรกที่นี่ใช้โซล่าร์แค่ 3 แผง ตอนนั้นยังเป็น 5 กิโลวัตต์ ใช้เฉพาะในส่วนของสเกล พื้นที่ 5 x 3 ตารางเมตร แต่ตอนหลังขยายเป็น 8 x 25 ตารางเมตร และขยับมาเป็นประมาณ 16 กิโลวัตต์ ให้พลังงานทั้งหมดในร้าน เช่น นำไปใช้จ่ายให้กับเครื่องปรับอากาศ พัดลม เครื่องชงกาแฟ หลอดไฟต่างๆ ภายในร้าน เป็นต้น
“และด้วยความที่เป็นคาเฟ่ ร้านเราจะใช้พลังงานสูงในตอนกลางวัน ระบบที่ร้านใช้เป็นระบบ On Grid จะทำงานตามแสงแดด และจ่ายไฟตามโหลดการใช้งาน การทำงานเป็นรูปแบบการผสมไฟระหว่างระบบจำหน่ายไฟของการไฟฟ้า กับพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์
“ถ้าพูดกันตามตรง ในการทำร้านกาแฟ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนเหมือนกัน ส่วนตัวผมเลยอยากช่วยเซฟโลกเท่าที่ตัวเองพอจะทำได้ อย่างตรงนี้เมื่อก่อนมีปัญหาเรื่องฝุ่นค่อนข้างเยอะ พอมีการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากโซล่าร์เซลล์ ก็เป็นอีกตัวช่วยในการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วย ซึ่งผมคิดว่าดีนะ ทั้งประหยัดต้นทุนและได้รักษ์ธรรมชาติด้วย
“และถ้าให้คำนวณเป็นเชิงรูปธรรม เราลดต้นทุนได้อย่างน้อยๆ ก็ประมาณ 30% และอีกอย่างหนึ่งคือ ที่นี่เมื่อก่อนเป็นคาเฟ่ชั้นเดียว แต่เราขยับขยายมาเป็นสองชั้นเพื่อติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้สูงขึ้น ซึ่งพอติดตั้งบนหลังคาของชั้นสอง ก็ทำให้อากาศถ่ายเทมากขึ้น ช่วยให้อุณหภูมิภายในร้านลดลง แล้วการใช้พลังงานในร้านก็จะลดลงตาม”
ฟังเขาเล่าแล้วก็เห็นท่าว่าจริง เพราะแม้ทางร้านจะไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศทั้งวัน แต่หากได้มาเยือนจะสัมผัสได้เลยว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้ร้อนเลย ด้วยบรรยากาศอันร่มรื่นที่รายล้อมด้วยต้นไม้ และโซล่าร์เซลล์บนหลังคาก็ทำหน้าที่เสมือนฉนวนความร้อน ช่วยให้อุณหภูมิภายในร้านลดลง เรียกได้ว่าอบอวลด้วยความสบายอกสบายใจกับการมวลอากาศที่มาจากพลังงานสะอาด แล้วยังให้ฟีลค่อนข้างผ่อนคลายและสงบ
นอกจากจุดเด่นเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ Solar Café ยังใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ด้วยความเชื่อว่ามากกว่าความอร่อยที่จะได้รับ จะต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย ศิริวัฒน์จึงเลือกสรรวัตถุดิบออร์แกนิกที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค มาใช้เป็นวัตถุดิบของร้าน ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิปลอดสาร ผักสลัดจากเครือข่ายฟาร์มออร์แกนิก ใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าวในการปรุงอาหาร ไม่ใช้ผงชูรส และน้ำสะอาดที่ผ่านการกรองเสมอ รวมถึงพยายามเพิ่มการรับรู้เรื่องความยั่งยืน และวิธีการค้าที่เป็นธรรม
“ผมอยากให้ร้านนี้เป็นร้านอาหารเชิงคุณภาพ คือใช้วัตถุดิบที่ดี แต่ราคาไม่สูง วัตถุดิบทุกอย่างพยายามใช้ที่ปลอดสารเคมี ตอนแรกเริ่มจากคัดสรรวัตถุดิบจากสวนกาแฟออร์แกนิกของตัวเองที่เชียงใหม่ โดยทุกขั้นตอนของการเก็บเมล็ดกาแฟเราทำเองหมด ตั้งแต่ปลูก ดูแลจนถึงอายุการเก็บ การหมักบ่ม แล้วนำมาคั่วเองที่ร้าน ซึ่งต้นทุนไม่สูง ตัวนี้จะช่วยเฉลี่ยรายได้อื่น
“บางคนจะบอกว่าธุรกิจร้านอาหารควรจะได้กำไร 60% ขึ้นไป ต้นทุนคือ 30-40% แต่ที่นี่ไม่ใช่ ของเราเป็นต้นทุนอาหาร 60% กำไร 30-40% เพราะอย่างที่บอก ผมไม่ได้เป็นนักธุรกิจ ไม่มีหัวธุรกิจ แต่ผมมองว่าการแลกเปลี่ยนควรจะสมเหตุสมผล ไม่ใช่ว่าทำเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่ได้ แต่ควรจะได้ทั้งสองฝ่าย คือชุมชนอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”
สิ่งที่เขากำลังพูดถึง มีตั้งแต่การปลูกกาแฟแบบออร์แกนิกโดยปราศจากยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช หรือสารเคมีอื่นๆ ที่จะสร้างอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และส่งตรงมาถึงผู้บริโภค ไปจนถึงหาวิธีการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ร่วมงานกับฟาร์มออร์แกนิกของเกษตรกรเครือข่าย มาสู่อาหารเพื่อสุขภาพในราคาที่เหมาะสม
ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนเล็กๆ ที่ Solar Café กำลังพยายามทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาดเท่าที่ตัวเองพอจะทำได้ พร้อมกับกำลังหาวิธีจัดการกับขยะเศษอาหารจำนวนมากในคาเฟ่ ด้วยวัฏจักรธรรมชาติ เปลี่ยนเศษอาหารมาเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ในสวนตัวเอง และลดปัญหาขยะไปในตัว
“จริงๆ ทุกอย่างในร้านที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้พัฒนาต่อยอดความคิดอยู่ตลอด อย่างที่เข้าใจคือผมเป็นวิศวกร ไม่ได้รู้เรื่องการค้า การเกษตรเท่าไหร่ พอมาทำร้านก็ได้เห็นปัญหาว่ามีขยะจากเศษอาหารค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ก็เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับถังย่อยสลายขยะอินทรีย์ ถังแยกเศษอาหาร หนึ่งเลยก็เพื่อเศษของเหลือจะไม่ถูกทิ้งไปอย่างเสียประโยชน์ ขยะก็จะได้ไม่เป็นตัวส่งกลิ่นเหม็น และก็ได้กำจัดขยะ นำไปเป็นปุ๋ยที่สวนด้วย เพราะตอนนี้สวนผมก็ต้องใช้ปุ๋ย ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยอยู่ ถ้าเราผลิตเองได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนได้อีกทาง และคิดว่ามันจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ด้วย“
ก่อนจะจบบทสนทนา เขาบอกกับเราว่าหมุดหมายของการทำร้านนี้ไม่ได้นำธุรกิจเป็นตัวตั้ง แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ไม่แสวงหากำไรเลย เพียงแต่กำไรหรือยอดขายจำนวนมาก ไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะเดินไปสู่เป้าหมายสำหรับ Solar Café
เพราะ Solar Café ต้องการพัฒนาเชิงคุณภาพ ควบคู่ไปกับความคิดรักษ์โลก ที่ถึงแม้ว่าเขาบอกว่ายังไม่ได้สุดโต่ง แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่เขาสนใจและพยายามทำงาน ทดลอง พัฒนาต่อยอดความคิดตัวเอง เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้แบบยั่งยืน
ตามรอยไปจิบกาแฟที่คาเฟ่ดูแลโลกด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ที่ Solar Café หน้ายิมเนเซียม 7 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น
Facebook: Solar Cafe