เรามีนัดกับไอซ์-ธวัชชัย ปาละคะมาน ในเช้าวันเดียวกับที่คนกทม. จดจ่อรอฟังผลการรับรองผู้ว่าฯ คนใหม่จากกกต. และบ่ายวันนั้นเอง จากนักวิจัยด้านความความยั่งยืน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยประธานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ไอซ์ก็ได้สวมเสื้อทีมกทม. ในฐานะเลขานุการรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ทวิดา กมลเวชช) ด้วยในทันที
ไอซ์เป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่สนใจปัญหาและความเป็นไปด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ เราได้รู้จักเขาจากการเป็นหนึ่งในทีม People Matter (PM4.0) ที่ได้รับรางวัล Best Innovation จากการประกวดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ของสสส. เมื่อปี 2564 ด้วยผลงานแพลตฟอร์มดิจิทัลสาธารณะ เพื่อการจัดการมาตรการ PM2.5 แบบชี้เป้า
แม้ว่าแพลตฟอร์มนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นเป็นหน้าตา แต่ดีเอ็นเอของแพลตฟอร์มนี้ ก็ได้ถูกนำไปฝังไว้ในยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ของแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ช่วงปลายของยุคผู้ว่าฯ อัศวิน ซึ่งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในวันนี้และอนาคตได้
เราคุยกับถึงการทำงานของแพลตฟอร์มที่จะเอื้อต่อการแก้ปัญหา PM2.5 และการฉายภาพให้เห็นว่า เมื่อเข้าไปฝังอยู่ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของกทม.แล้ว จะมีทิศทางการเดินต่ออย่างไร ในบรรทัดต่อจากนี้
One Platform for all สะท้อนเสียงของประชาชนให้มีส่วนร่วม
“เรามีงานวิจัยเรื่องอากาศเยอะมาก เราไม่ได้ขาดความรู้เรื่อง PM2.5 เรามีเครือข่ายที่ทำงานเข้มแข็ง แต่เราขาด linkage ไปสู่การแก้ปัญหา” ไอซ์ชี้ไปที่จุดอ่อนของการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ด้วยว่าเขาทำงานอยู่ในวงวิชาการ ได้เห็นสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ทำงานกันมา ได้เห็นเครื่องมือการแก้ไขปัญหา เห็นองค์ความรู้ที่มีอยู่มากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ขาดสะพานที่จะเชื่อมโยงถึงกัน
“ถ้าพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่เฉพาะมลพิษทางอากาศ เราพบว่ามีหน่วยงานที่ทำอยู่เยอะมาก แล้วหน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลไม่เท่ากัน บางทีอาจทำซ้ำกับอีกหน่วยงานแต่เป็นละชื่อ เราพยายามจะแชร์ว่าภาครัฐอาจไม่ต้องเริ่มคิดโครงการใหม่ แพลตฟอร์มนี้เราหยิบองค์ประกอบที่มีอยู่แล้ว มาลิงค์ให้เป็นระบบเดียวกัน เมื่อหน่วยงานรัฐเห็นกันเองว่าคนโน้นทำเรื่องนี้อยู่ จะได้ไม่ทำซ้ำกัน แต่จะทำอย่างไรเพื่อไปหนุนเสริมกัน
“ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราควรนำมาทำเป็น open data อาจจะทำเป็นแพลตฟอร์มเล็กๆ ไม่ต้องรอให้มันวิกฤติแล้วเราถึงไปเรียกร้องดูข้อมูล ปัจจุบันรัฐลงทุนในเซนเซอร์เหล่านี้เยอะ แต่อาจจะใช้ข้อมูลไม่คุ้มค่า
“แล้วความรุนแรงของปัญหามลภาวะในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน แต่ละเขตก็มีงบประมาณไม่เท่ากัน ดังนั้นมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่จึงไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องทำสิบอย่างเหมือนที่นักวิชาการบอก แต่ทำตามงบประมาณที่มี ตามระดับความรุนแรงของปัญหา และประชาชนควรมีช่องทางในการส่งเสียงกลับไปได้ว่า สิ่งที่รัฐทำไปมันเวิร์กหรือเปล่า ถ้ามันไม่เวิร์กกับกทม. จะเปลี่ยนได้มั้ย
“สิ่งหนึ่งที่ประชาชนควรจะรับรู้คือ หน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่กำลังแก้ปัญหา PM2.5 ช่วงเวลานี้ ใครทำอะไรอยู่ คงไม่ใช่ให้ประชาชนไปตามดูในเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงาน สิ่งที่เราคิดคือมันต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Policy Dashboard เช่น ตอนนี้หน่วยงานแรกจับควันดำ หน่วยงานที่สองควบคุมเรื่องการเผา มีหน่วยงานไหนอีกที่กำลังทำงานอยู่ในพื้นที่ของเรา เมื่อประชาชนรับรู้ เขาจะอยากเข้าไปมีส่วนร่วม อันนี้สำคัญ เพราะเหมือนว่าที่ผ่านมารัฐก็ทำแต่รัฐ แต่รัฐอาจจะพูดน้อยไปหน่อย ประชาชนเขาก็ไม่รู้
“แล้วเวลารัฐประเมินการทำงานของตัวเอง อย่างแย่ก็ 89% ซึ่งอาจไม่ใช่การประเมินที่จะมีผลให้คุณให้โทษกับหน่วยงานนั้นโดยตรง ประชาชนจึงควรมีสิทธิที่จะประเมินด้วย เหมือนที่เราบ่นๆ กันว่าทำไมรัฐทำสิ่งนี้แล้วแย่จังเลย แทนที่เราจะปล่อยให้คำบ่นบนหน้า feed เหล่านี้ไหลไปเรื่อยๆ เราเปลี่ยนเป็น feedback ดีไหม อย่างน้อยก็เป็นกระจกอีกด้านที่ช่วยสะท้อนให้รัฐเห็น
“เช่น ประชาชนบอกว่าฉีดน้ำบนยอดตึกไม่ชอบเลย ทางวิชาการมันก็ไม่เวิร์ก เขาอาจฟังไม่ได้ยิน แต่ถ้าสมมติมีประชาชนนับพันคนโหวตใน dashboard ตัวนี้ว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาให้เขา เสียงประชาชนจะดังขึ้นนะ และมันอาจไปกระตุ้นให้รัฐปรับปรุงมาตรการเหล่านี้ เหมือนมีประชาชนคอยตรวจตราการทำงานอยู่ว่ารัฐทำอะไร ภาษีของเขาถูกจัดสรรมาเพื่อแก้ปัญหานี้มากน้อยขนาดไหน ให้การทำงานเป็น citizen centric ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางสักนิดหนึ่ง และประชาชนก็มีช่องทางหรือวิธีการที่เสนอเข้าไปได้ เสียงจากประชาชนจะช่วยผลักดันการทำงานของรัฐ ซึ่งกลไกเหล่านี้จะเป็นเหมือนจิตวิทยาการเมืองเล็กๆ”
การรวมข้อมูลไว้ในระบบเดียวเช่นในแพลตฟอร์มที่เขาออกแบบ จึงได้ประโยชน์ทั้งรัฐกับรัฐ รัฐกับประชาชน และประชาชนกับประชาชน ซึ่งเป็น win-win situation ที่น่าสนใจไม่น้อย
นวัตกรรมจากการประกวด สู่แผนพัฒนากทม.
นอกจากเป็นนักวิชาการ ก่อนหน้านี้ไอซ์ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมดูแลยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ของแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร เขาให้ความเห็นว่า แต่เดิมนั้นยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการพัฒนาสิ่งแวดล้อมค่อนข้างล้าหลัง หนึ่งในนั้นคือความล้าหลังในเชิงคอนเซ็ปต์
“เช่นโลกพูดถึงเรื่องความยั่งยืนเมื่อปี 2015 แต่ที่ผ่านมากรุงเทพฯ เรายังพูดกันแค่พื้นที่สีเขียวกับปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเท่าไรดี เรื่อง climate change ไม่มีเลย แต่อาจจะโทษเขาก็ไม่ได้เพราะอำนาจในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของกทม. มันแหว่งๆ พอมันล้าหลังในเชิงคอนเซ็ปต์ มันเลยถูกฟรีซเอาไว้
“แต่คนทำงานสิ่งแวดล้อมใน กทม. เก่งมากนะครับ เขาเองก็อยากจะเปลี่ยน และพอดีกับที่ฝ่ายนโยบายซึ่งทำแผนเมื่อสักเกือบปีที่ผ่านมาเขามีการรื้อแผน เลยได้เอาคอนเซ็ปต์เรื่องความยั่งยืนใส่ลงไปในแผนด้วย เช่น พื้นที่สีเขียวไม่ใช่เขียวแค่ปลูกต้นไม้ แต่เป็นการเขียวที่เข้าถึงได้ใน 10 นาที 15 นาที มีความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สีเขียวเหล่านั้น
“กลยุทธ์หนึ่งที่เราจะพูดถึงเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง คือเมื่อก่อน กทม. จะแยกมลพิษก้อนหนึ่ง สีเขียวก้อนหนึ่ง ทางเท้าก้อนหนึ่ง เวอร์ชั่นใหม่อาจจะแยกอากาศ แยกน้ำ แยกเสียง แยกขยะ แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่ผูกปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน คือ เรื่องการจัดการ”
และดีเอ็นเอในแพลตฟอร์มของไอซ์ ก็ได้เข้าไปอยู่ในกลยุทธ์การจัดการสิ่งแวดล้อมของกทม.
“คือกรุงเทพมหานครต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็น all in one ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ที่ไม่ใช่แค่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเดียว แต่เป็นเหมือน watch dog และอย่างน้อยที่สุดคือ ความเห็นของประชาชนสามารถสะท้อนกลับมาที่ กทม. ได้
“อีกอันหนึ่งที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวแพลตฟอร์มของเราโดยตรง แต่ว่าได้ใส่ไว้ในแผนเหมือนกัน คือเวลาเราพูดถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งที่มักจะเป็นหลุมพรางให้บอกว่าทำไม่ได้ คือเราไม่มีงบประมาณ คำนี้เราจะได้ยินบ่อยมาก สิ่งที่เราแทรกเอาไว้คือ กทม.อาจจะคิดถึงการทำในลักษณะที่เรียกว่า ‘กองทุนสิ่งแวดล้อมของเมือง’ ผมเชื่อว่ามีภาคเอกชน มีเครือข่าย แม้กระทั่งประชาชนบางคนที่เขาใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมระดมทุน เป็นกึ่งๆ crowdfunding และกทม.อาจจะหยิบเอางบจากกองทุนสิ่งแวดล้อมของเมือง ไปพัฒนาเป็น pocket park หรืออะไรที่ไม่ใช่การใช้งบเป็นพันล้าน
“ปัญหาของการแก้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราเจอคือระบบราชการจะช้า เพราะว่าขั้นตอนเยอะ สมมติปัญหาปีที่แล้ว คิด solution มาแล้วว่าจะแก้ แต่เบิกงบจัดการได้ปีหน้า ปัญหามันเปลี่ยนแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันซับซ้อน ไปเร็วเกินกว่าวิธีคิดแบบเดิมจะตามได้ทัน บางปัญหามันรองบไม่ได้ รอเวลาไม่ได้ ถ้าเราพูดเรื่องนี้สัก 30 ปีที่แล้วอาจจะรอได้ เพราะปัญหาไม่ได้งวดเหมือนตอนนี้ อากาศไม่แปรปรวนขนาดนี้
“ปัจจุบันผมพูดเลยว่า ถ้าเรารอที่จะเสนอทีละเครื่องมือ ทีละแพ็กเกจ มันไม่ทันในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะอากาศ น้ำ คีย์เวิร์ดสำคัญเลยก็คือ อาจจะเสนอเครื่องมือใหม่ก็ได้ แต่ทำยังไงให้เครื่องมือที่มีอยู่เดิมได้ถูกใช้จริงๆ ตอนนี้เราใช้ไม่ถึง 30% เช่น กทม.ตั้งหลักว่าจะเก็บค่าบำบัดน้ำเสียมานานมากแล้ว แต่ยังไม่ถึงไหนเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในแผน ถามว่าทำยังไงให้เครื่องมือเหล่านี้ขยับได้มากขึ้น ถ้าเป็นศัพท์รัฐศาสตร์จะมีคำหนึ่งคือ เคลื่อนทั้งองคาพยพ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าทุกจุดเราเชื่อมกันได้แล้ว มันจะขยับ อาจจะไม่ใช่การขยับใหญ่ ต่อให้ขยับทีละนิดก็ยังดีกว่าไปทำโรงบำบัดน้ำเสียเป็นหมื่นล้าน”
ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง
เมื่อขยับเข้ามาพูดถึงเรื่องปัญหาฝุ่นในเมือง มุมมองจากไอซ์ก็เป็นความเห็นที่ชวนนำมาคิดและน่าขยายผลต่อ
“ผมไม่อยากให้คนจำว่า พอถึงปลายปีหน้าหนาว ปัญหาฝุ่นจะมา แต่อยากให้เน้นย้ำและพูดถึงเสมอว่า พฤติกรรมของฝุ่นในเมืองอาจจะเปลี่ยนไปได้ ช่วงกลางๆ ปีมันอาจจะมาขึ้นได้ เพราะว่าฝุ่นในกทม. มันมีความเฉพาะของมัน ไม่เหมือนภาคเหนือที่เราเห็น hot spot และรู้ว่าเราจะจัดการมันยังไง
“กทม.นี่ วันดีคืนดีฝุ่นเผาจากกัมพูชามาถึง การพูดถึงเรื่องฝุ่นในกทม. จึงไม่เคยง่าย และจะไม่มีวันง่าย ฉะนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้กลไกการตอบสนองกับปัญหามันอยู่ตัว คือหมายความว่า ถ้าเราใช้วิธีคิดว่าเราจะทำให้ฝุ่นเหลือ 0 ให้ได้ หรืออยู่ภายในมาตรฐานให้ได้ตลอดเวลา ลืมไปได้เลย เราควบคุมมันไม่ได้ ฉะนั้นแล้ว ระยะสั้นถึงกลาง สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ ทำยังไงก็ได้ให้เมือง หรือชุมชน รวมถึงปัจเจกถ้าเป็นไปได้ มีศักยภาพในการตื่นตัวรับกับวิกฤติ ที่อาจมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นได้ไหว
“เหมือนอย่างที่หลายคนพูด แต่ก็ต้องพูดต่อ คือปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของทุกคน ทุกคนมีบทบาทที่จะรับมือและแก้ไขต่างกัน รัฐต้องไม่โบ้ยว่าประชาชนดูแลตัวเองสิ ก็สมมติข้างบ้านเผา เราไปจะบอกให้โรงงานหยุดเผาก็ไม่ได้ รัฐต้องไปบอก คุณต้องทำในฟังก์ชั่นที่คุณทำได้ จะด้วยกฎหมายหรืออะไรก็ตาม ปัจเจกก็ต้องช่วยกัน แต่ทำยังไงให้บทบาทแต่ละคนมันเหมือนเสริมสานพลังกันได้ จริงๆ แล้วในยุคนี้ การพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมันทำให้เราก้าวข้ามความไม่เข้าใจกันทางการเมืองไปได้เลย ผมว่ามันเป็นจุดร่วมที่น่าสนใจ
“ส่วนหนึ่งที่ผมพยายามดีไซน์แพลตฟอร์มให้เป็นโจทย์ของ กทม. ก็เพราะว่ามีองค์ประกอบต่างๆ ที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้พร้อมกันหมด ลองหลับตานึกนะว่าเอาแพลตฟอร์มนี้โยนลงไปเลยในกทม. มันมีกลไกให้รับลูก แล้วเราเชื่อมร้อยกันได้ สำนักสิ่งแวดล้อมเป็นสื่อกลางได้อยู่แล้ว กทม.มีงบประมาณที่พอไปไหว มีระบบข้อมูลอยู่แล้ว และกทม.ก็มีเว็บรายงานสภาพอากาศ มีระบบเซนเซอร์เยอะมาก เรียกว่ามีความพร้อมสุด และปัญหามันซีเรียสสุด impact กับคนสูงสุด ไปทำพื้นที่อื่นอาจเกิดข้อกังขาว่าจะคุ้มค่าหรือเปล่า
“แต่ถ้าถามว่าพื้นที่อื่นจะเอาแนวทางของแพลตฟอร์มนี้ไปใช้ต่อได้มั้ย แค่เอาคำว่า PM2.5 ออก ใส่ปัญหาอื่นแทนลงไป ก็ใช้งานได้เหมือนกันเลย”
การเดินหน้าต่อในยุคผู้ว่าฯ คนใหม่
เนื่องจากเราคุยกับไอซ์ในเวลาที่ กกต.ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่ จึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่านโยบายที่ได้วางเอาไว้ในแผนพัฒนาฯ จะเดินหน้าต่อไปในทิศทางไหนอย่างแน่ชัด แต่ไอซ์ก็มีความเชื่อว่าจะได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจังในทีมของผู้ว่าฯ ปัจจุบัน
“ช่วงหาเสียงเราได้ให้ข้อมูลกับทุกฝ่ายในฐานะนักวิชาการ อาจารย์ชัชชาติก็ได้มาพูดคุยว่าคอนเซ็ปต์มีแล้ว ทำยังไงให้มันลงตัวเข้ากับกลไกที่มีอยู่เดิม เพราะอาจารย์ชัชชาติเองก็ทำงานกับเครือข่ายที่ไม่ใช่เครือข่ายของรัฐ ของกทม.อยู่เยอะ ซึ่งเราอยู่ในแวดวงสิ่งแวดล้อมจะรู้ว่าสิ่งนี้สำคัญ และเราเห็นน้ำหนักของความพยายามที่จะใช้ข้อมูลสามส่วน คือหนึ่ง พยายามทำให้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วเป็นข้อมูลเปิด (open data) และทิศทางของอาจารย์ก็คือการใช้ข้อมูลเป็นหนึ่งในฐานการตัดสินใจ
“และส่วนที่สาม ผมอยากจะยกเครดิตให้คนทำงานในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร คือผมได้เคยเข้ามาช่วยปรับแผนครั้งหนึ่งแล้วเมื่อสักปี 2560 ตอนนั้นเป็นการปรับเล็ก จนเมื่อปีที่แล้วที่มีการปรับแผนใหม่ เห็นได้ชัดเลยว่าคนทำงานสิ่งแวดล้อมของกทม.เขาอยากเปลี่ยน ในสำนักของกทม.มีข้อมูลในเรื่องอากาศ เรื่องน้ำดีมากๆ เขามีความตั้งใจมาก
“ดังนั้นถ้าเบอร์หนึ่งของกทม.ลุย ก็น่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง”