“เราไม่ได้อยากเปลี่ยนโลก เราอยากเปลี่ยนลูก ถ้ามีเด็กแบบนี้เยอะๆ โลกจะมีความหวัง” ธีร์เมศ จิรอารีย์ชัย หรือ ‘พ่อชัย’ บอกกับเราถึงสิ่งที่ครอบครัวได้ทำมา ด้วยจุดเริ่มต้นจุดแรกเพียงอยากให้ลูกของเขาได้เห็นและซึมซับความ ‘รักษ์’ สิ่งแวดล้อม
ภาพที่เราคุ้นเคยกับพ่อชัยและครอบครัว ซึ่งหมายรวมถึงภรรยาคือแม่แนน-ริญญารัตน์ และน้องเชรี-เอมปวีร์ คือการเป็นจิตอาสาเปิดจุดรับขยะกำพร้าเพื่อส่งต่อให้กับ N15 Technology ที่จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาของโรงงานปูนซีเมนต์ การส่งขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ไปกำจัดในระบบ RDF ซึ่งเป็นระบบปิด ข้อดีคือทำให้ขยะเหล่านี้ไม่ไปสุมกองกันอยู่ในบ่อขยะ ที่หากวันดีคืนดีเกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะขึ้นมาจะสร้างมลพิษมหาศาล หรือแม้จะนำไปสู่การฝังกลบก็ใช้เวลาถึง 400-500 ปีกว่าจะย่อยสลาย
พ่อชัยทำโปรเจ็กต์เรื่องจัดการขยะมานาน ตั้งแต่ลูกสาวคนเดียวของเขาเพิ่งเรียนอนุบาล 3 ที่โรงเรียนทอสี ด้วยเหตุผลว่าหากจะปลูกฝังให้ลูกใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่จับต้องได้ง่ายที่สุดคือเรื่องขยะ จากที่เคยอาสาเข้าไปจัดการขยะในงานวิ่งแบบทำด้วยใจ ก็ได้ขยายผลเข้าไปสู่โรงเรียนที่น้องเชรีเรียนอยู่ขณะนั้น
“มันเป็นเรื่องสำคัญที่บอกว่าจะต้องแยกขยะนะ แต่งานรณรงค์อะไรก็ตามที่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เรากลัวว่ามันจะเป๋ เพราะถ้ามีคนเข้ามาเพื่อเอาสิ่งนี้ไปเป็นผลประโยชน์ มันสุ่มเสี่ยงที่จะออกนอกทางง่าย แล้วมันจะกลับมาสู่เส้นทางที่เรารณรงค์ยาก เราจึงระวังเรื่องนี้
“ที่เราทำเพราะเราอยากสอนลูก เราอยากให้ลูกโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพ คิดดูนะว่ารุ่นนี้ถ้าเขาโตขึ้นไปโดยมองเรื่องเงินเป็นเรื่องรอง แต่มองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลัก การเริ่มต้นความคิดแบบนี้ ธุรกิจหรือเรื่องอะไรที่เป็น upcycling ก็คงจะไปได้จริง”
พ่อชัยทำเรื่องขยะในงานวิ่งอยู่ราวสองปี ระหว่างนั้นเขาพบว่าการทำแบบนั้นอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนความคิดและวิถีของคนทิ้งขยะได้ และไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ เขาจึงกลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยการปลูกความคิดนี้ลงในเด็ก
“เราไม่กล้าไปบอกคนอื่นว่าดูลูกเราสิ แต่วิธีเดียวที่เราจะทำได้คือการไปบอกเด็กๆ ว่าควรทำแบบไหน เราจึงเข้าไปช่วยออกแบบการจัดการขยะให้โรงเรียน แยกเศษอาหารมาทำปุ๋ย แยกขยะมาตรฐานปกติจะเป็น 4 ถัง แต่เราแยกเป็น 7 ถัง จนสุดท้ายเราแยกละเอียดขึ้นเป็น 11 ถัง”
การแยกแบบละเอียดและครบวงจรขนาดนี้ หากจะให้ได้ผลก็ต้องมีคนเฝ้าจุดทิ้ง และคนนั้นไม่ใช่ใครอื่น นั่นคือพ่อชัยและแม่แนน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เมื่อเด็กๆ เห็นว่าทำไมครอบครัวนี้ต้องทำแบบนี้ พอเลิกเรียนเด็กๆ อาสาเข้ามาช่วยทำ และเมื่อเรื่องแยกขยะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในตัวเด็ก พ่อชัยผู้ช่างคิดโปรเจ็กต์ก็จัดกิจกรรมพาเด็กออกไปวิ่งเก็บขยะนอกโรงเรียน เพื่อให้พวกเขาได้เห็นของจริงว่าขยะหนึ่งชิ้นที่เริ่มมีที่มาจากคนคนหนึ่ง จะไปจบที่ตรงไหน เช่น หากไม่เก็บขึ้นมา ขยะจะลงท่อ แล้วลงคลอง ออกแม่น้ำ และไปไกลถึงทะเล
“มีวันหนึ่งที่ผู้ปกครองไลน์มาบอกว่า ลูกบอกว่าทำไมบ้านเราไม่แยกขยะ คือเขากลับไปคุยกับพ่อแม่” คุณชัยเล่าเรื่องที่ทำให้ใจฟู ก่อนที่คุณแนนจะช่วยเสริมว่า “ผู้ใหญ่จะฟังลูกนะ ลูกมีอิทธิพลกับในบ้านทุกเรื่อง” และด้วยเหตุผลนี้ ครอบครัวนี้จึงเลือกที่จะจุดความหวังให้อนาคตด้วยการเปลี่ยนที่เด็ก ซึ่งนั่นก็หล่อหลอมให้ลูกสาวของเขามีความระแวดระวังในการที่จะทำอะไรที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
ตอนนี้น้องเชรีอายุ 11 ขวบ และเพิ่งย้ายโรงเรียนใหม่ แม้โรงเรียนปัจจุบันจะไม่ได้เคร่งครัดเรื่องการแยกขยะ แต่เธอยังคงทำเรื่องนี้อยู่เป็นนิสัย ทั้งการดื่มเครื่องดื่มโดยไม่ใช้หลอด เก็บขยะไปทิ้งเมื่อเห็นหล่นอยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง ไปจนถึงเก็บเงินส่วนตัวเพื่อทำโครงการฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวจร ซึ่งก็เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเมืองที่ควรได้รับการจัดการ
คุณชัยให้ความเห็นว่า การจะปลูกฝังเด็กสักคนหนึ่งให้แคร์ต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือเรื่องวินัยกับการใส่ใจผู้อื่น “แม่ให้เขาทำงานบ้านทุกอย่างตั้งแต่เด็ก อยู่อนุบาลเขาซักถุงเท้า ซักชุดชั้นในเองแล้ว ให้เขารับผิดชอบตัวเองให้ได้ก่อน วินัยกับการใส่ใจผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเขาไม่ได้ตัวคนเดียวบนโลก เขาต้องอยู่กับคนอื่น ทำอย่างไรให้อยู่กันได้อย่างมีความสุข แต่เราก็ทำได้ระดับหนึ่ง เพราะถึงจุดหนึ่งเขาก็ต้องไปสู้กับสิ่งเร้าเอง แต่สำหรับผม การที่เด็กคนหนึ่งถอดแม็กซ์ตัวหนึ่งไปใส่กระปุกเพื่อแยกขยะ โลกก็มีความหวังแล้ว
“ผมมองว่าทุกกิจกรรมของเรามันเบียดเบียนโลกอยู่แล้ว เราเชื่อว่าคนเกิดมาต้องตาย ผมเองก็เชื่อว่าวันหนึ่งจะไม่มีมนุษย์บนโลกนี้ แต่ระหว่างนั้นเราจะไม่ทำอะไรเลยหรือ ฉะนั้นเรื่องขยะไม่ใช่ปัญหาเดียวหรอก หากจะบอกว่าขยะทำให้น้ำเสีย จริงๆ เราก็เสียเงินซื้อน้ำไปเยอะโดยไม่รู้ตัว แม้แต่อากาศเราก็ยังต้องซื้อเลยนะ การที่เราติดเครื่องกรองอากาศ นั่นคือเราเสียเงินซื้ออากาศแล้วนะ ดิน น้ำ อากาศ มันแยกกันไม่ได้ ฉะนั้นผมไม่โทษขยะ แต่ต้องโทษที่คน”
“สำหรับผม ไม่ว่าจะมีถึง 7R, 5R แต่ผมเชื่อใน 3R มากที่สุด Reduce, Reuse, Recycle และ Reduce คือการลด จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องขยะได้แน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าหลักๆ เลยก็คือลดที่ต้นทาง และเรื่องกฎหมาย สำคัญมากหากต้องการให้เห็นผลในภาพรวม”
โครงการ ‘รักษ์กันคนละนิด a little bit caring’ ที่เริ่มต้นจากไอเดียคุณชัย เกิดขึ้นเมื่อปี 2019 ซึ่งหลังจากไม่ได้ทำกิจกรรมกับโรงเรียนแล้ว เขายังคงทำเรื่องนี้ต่อด้วยการเปิดบ้านเป็นจุดรับขยะเพื่อส่งต่อไปกำจัดในระบบปิด ก่อนจะย้ายจุดไปยังวัดพระรามเก้าเพื่อให้คนที่มาดรอปขยะมีความสะดวกมากขึ้น ผลลัพธ์ของโครงการนี้ส่งผลให้เกิดจุดรับขยะกระจายออกไปอีกหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
“อันนี้มันคือเป้าของผม และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมส่งต่อเรื่องนี้ให้กับ N15 แล้วขอเฟดไปทำเรื่องอื่นต่อ อย่างเรื่องฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวที่เราหยุดไปช่วงหนึ่ง และอีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่เราอยากทำคือ เรารู้ว่าขยะเมืองไทยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นเศษอาหาร เป็นขยะอินทรีย์ที่มาจากร้านอาหาร ซึ่งการจัดการเรื่องนี้แทบจะเป็นศูนย์ ผมอยากทำเรื่องนี้กับแม่ค้า ไม่ได้ขออะไรมาก ขอแค่เขาแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่น เราใช้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า ‘3R พาชิม’ อยากให้รู้ว่าร้านนี้มีวิธีจัดการขยะยังไง”
ดูเหมือนว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ แค่แปะป่ายมือไปตรงไหนก็เจอแต่ปัญหา เรื่อง PM2.5 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เขารู้สึก
“ตอนที่ PM2.5 ที่มาใหม่ๆ จำได้ว่าวันนั้นระหว่างขับรถจากชลบุรีกลับบ้าน วิทยุก็พูดเรื่อง PM2.5 มาตลอดทาง และระหว่างทางเราเห็นมีการเผามาโดยตลอด กลิ่นไหม้เข้ามาในรถเลย แล้ว PM2.5 มันเกิดจากการใช้รถด้วย ผมบอกกับภรรยาว่าเรางดใช้รถส่วนตัวกันดูไหม เพราะเวลาที่คนเราบ่นปัญหาโน้นปัญหานี้ เรามักจะลืมว่าเราเองก็เป็นหนึ่งในปัญหานั้น เราบ่นว่ารถติดบนรถของตัวเอง”
ครอบครัวของเขาเคยทดลองงดใช้รถส่วนตัว ทั้งที่แถวบ้านไม่มีขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบาย แม้จะไม่สามารถทำได้ตลอด แต่อย่างน้อยเขาก็ได้รู้ว่าการทำอะไรก็ตามไม่จำเป็นต้องสุดโต่งเกินไป เพียงแต่ลดให้ได้สักอาทิตย์ละครั้งก็ยังดี
“ทำแบบนี้ผมอาจจะไม่ได้สามารถลด PM2.5 ลดคาร์บอนไปสักเท่าไหร่หรอก แต่ลองคิดดูถ้าคนหนึ่งล้านคนในกรุงเทพฯ เราสลับกันทำ ถึงจะไม่เกิดผลมาก แต่มันจะเห็นทางที่ส่งต่อไปถึงผู้บริหาร เราเปลี่ยนคนไม่ได้ แต่ทำให้คนเห็นและอยากทำตามได้ ผมไม่เคยเดินไปบอกใครว่าผมทำอะไร อย่างหน้าบ้านผมจะมีราวปันสุขไว้แขวนขยะ แยกเป็นกระดาษ โลหะ พลาสติก เพื่อให้รถเก็บขยะเก็บไปได้ง่ายๆ วันดีคืนดีก็มีคนเอามาแขวนร่วมกับผม ผมว่าเหมือนชื่อเพจเลยครับ ทำคนละนิด รักษ์กันคนละนิดไปเรื่อยๆ”
เมื่อถามถึงกรุงเทพฯ ที่ครอบครัวจิรอารีย์ชัยอยากเห็น พ่อชัยและแม่แนนบอกว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ ในเวอร์ชั่นที่มีต้นไม้เยอะๆ เพราะสิ่งนี้จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินได้ ในขณะที่ความหวังเล็กๆ ของเด็กหญิงตัวเล็กๆ อย่างน้องเชรี เธอขอเพียงเรื่องเล็กๆ ว่า “อยากให้ที่บ้านหรือทุกคนแยกขยะ อยากให้เขาแยกเป็น แค่นั้นก็พอแล้ว”
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, รักษ์กันคนละนิด a little bit caring