“ตอนเด็กๆ เรายังฝันได้ กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่สีเขียว ยังได้เล่นกับเพื่อน ได้ทำอะไรสนุกๆ มลภาวะต่างๆ ยังไม่มีปัญหา คนไม่ป่วยเยอะเหมือนตอนนี้ จนมาถึงวันนี้ กรุงเทพฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก”
ต้น-ปฐมพงษ์ ทองล้วน เล่าถึงชีวิตของเด็กกรุงเทพฯ เมืองที่เขาเติบโตเมื่อย้ายตามพ่อมาอยู่ตอนอายุได้ 2-3 ขวบ เขาย้อนความทรงจำที่เห็นการเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้น ทั้งรถราหนาแน่นกว่าเดิมมากบนท้องถนน ย่านธุรกิจและตึกสูงที่กระจายอยู่ทั่วเมือง พื้นที่สีเขียวลดลง ตึกสูงเกิดขึ้นแทนบ้านทรงเดิมๆ และอากาศที่ปะปนไปด้วยมลพิษ
‘ต้น’ ที่เรากำลังพูดถึง คือศิลปินเจ้าของผลงานจิตรกรรมชุด ‘ลมหายใจแห่งอนาคต’ เราสะดุดตากับชิ้นงานของเขาในงาน Mango Art Festival เมื่อเดือนก่อน ภาพวาดชุดนี้สร้างอิมแพคกับคนดูไม่น้อยด้วยภาพของมนุษย์กรุงเทพฯ ทั้งคนทั่วไปตลอดจนพระสงฆ์ ที่ใบหน้าสวมครอบไว้ด้วยหน้ากากป้องกันมลพิษเหมือนในหนังมหันตภัย
ไม่น่าเชื่อเลยว่าผลงานกว่าสิบชิ้นในชุดนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551-2552 วันเวลาที่พวกเรายังไม่ตระหนักถึงปัญหาของมลภาวะทางอากาศ แต่ต้นเกิดภาพเหล่านี้ขึ้นในจินตนาการแล้ว และเขาเองก็ไม่ได้คาดเหมือนกันว่า สิ่งที่วาดลงบนผืนผ้าใบเมื่อสิบปีก่อน จะเป็นจริงหลังจากนั้นไม่นาน ใช่…มันเร็วกว่าที่คิด
“งานชุดนี้เป็นธีสิสที่ทำขึ้นสมัยเรียนจิตรกรรมปี 4 ที่สวนสุนันทา เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ในความสนใจของผมตั้งแต่ช่วงก่อนจบปี 3 ตอนนั้นเริ่มมีปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ แล้ว และมันเข้ามากระทบความรู้สึกเราว่าต่อไปจะเป็นปัญหาหลักที่น่าจะส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน ทั้งคาร์บอนมอนนอกไซด์ ฝุ่นที่มาจากไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งไม่ได้มีกฎหมายควบคุมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ”
ความสนใจในเรื่องฝุ่น นำไปสู่การค้นข้อมูล และกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจิตรกรรม โดยมีสื่อในการแสดงออกคือหน้ากากกันแก๊สหรือหน้ากากมลพิษ มาสวมใส่บนใบหน้าบุคคลในชีวิตประจำวัน
“ผมวาดวิถีชีวิตคนไทยแบบปกติธรรมดา และนำหน้ากากมาใส่ภายใต้บรรยากาศที่ดูอึมครึม ดูแล้วไม่รู้สึกรื่นรมย์หรือมีความสุขสักเท่าไร เพื่ออย่างน้อยๆ เวลาที่ถ่ายทอดออกไปคนจะได้รู้สึกแปลกตา ฉุกคิดเบื้องต้นว่าอยู่ๆ คนที่มีวิถีชีวิตปกติจะมาใส่หน้ากากกันแก๊สเพื่ออะไร”
เรียกได้ว่าต้นมองอนาคตไปไกลกว่าที่คนทั่วไปจะนึกตั้งแต่ตอนนั้น เพราะคนทั้งกรุงเทพฯ เพิ่งมารู้สึกตัวเองว่าเจอผลกระทบจากฝุ่นกันจริงๆ ก็เมื่อราวปลายปี 2561 ต่อเนื่องไปปี 2562 ช่วงเวลาที่คำว่า PM2.5 กลายเป็นคำที่ทุกคนต่างพูดถึง เพราะพิษสงของฝุ่นที่มองไม่เห็นนั้นสะกิดให้เรารู้ว่ามีอยู่จริง และต่างก็ได้รับผลกระทบต่างกันไป
“เรามองจากประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศในตอนนั้น ความเจริญที่มากขึ้น เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ในต่างประเทศบางประเทศที่เคยเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือว่าเคยเป็นประเทศปกติธรรมดา พอมีระบบอุตสาหกรรมเข้าไป มีเรื่องความเจริญเข้าไป ประเทศเขาเปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งคือสิ่งแวดล้อมของเขากลับแย่ลง เรื่องมลภาวะ สุขภาพของคนก็เสื่อมโทรมลง ผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วยมากขึ้น
“ผมลองเปรียบเทียบกับไทยเรา ณ ตอนนั้น ก็คิดว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยอาจจะต้องเจอวิกฤติแบบนั้นบ้าง เพียงแต่ว่าตอนที่เราสื่อสารออกไป คนยังไม่ได้สนใจสักเท่าไร เพราะคิดว่ายังเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ อาจจะคิดแค่ว่ากรุงเทพฯ รถติด มีฝุ่นมีควันมีมลภาวะ เต็มที่ก็เวียนหัว เจ็บไข้ไม่สบายขึ้นมาทานยาก็หายแล้ว ส่วนเราคิดอีกด้าน แต่ก็ไม่ได้คิดว่าทุกวันนี้กรุงเทพฯ จะมีสถานการณ์ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเคยทำงานชิ้นนี้ในตอนนั้น”
การเดินทางของ ‘ลมหายใจแห่งอนาคต’ แสดงตัวอยู่ในนิทรรศการต่างๆ ประปราย เช่น นิทรรศการศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 23 ในหัวข้อเกี่ยวกับโลกร้อน งานจิตรกรรมบัวหลวง แล้วลมหายใจชุดนี้ก็เป็นเหมือนสารตั้งต้นในการทำผลงานเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมซึ่งแน่วแน่มาถึงตอนนี้ และพัฒนาขึ้นจากความคิดเชิงลบที่เคยแสดงผ่านภาพที่ดูอึมครึมอึดอัด มาเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในเชิงบวก ผ่านภาพของกรุงเทพฯ ที่แปรเปลี่ยนไปในอีกบริบทหนึ่งตามความคิดและจินตนาการ
“ผลงานในช่วงหลังของผมที่เกิดขึ้นในช่วงปริญญาโท ปี 2560 ถึงปัจจุบัน เป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากศิลปนิพนธ์ที่ยังทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม เราเอาภาพมุมกว้างโดยใช้แลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ ที่ทุกคนน่าจะคุ้นตาและรู้จัก มาเปลี่ยนเป็นอีกบริบทว่า ถ้าวันหนึ่งกรุงเทพฯ เปลี่ยนจากคอนกรีตเป็นป่าเข้ามาแทนที่ เราจะอยู่ร่วมกันยังไง
“ผมมองว่าการมีป่าเข้าไปในอยู่ในเมืองคอนกรีต มันเป็นบริบทแห่งการอยู่ร่วมกันได้ เรามักเห็นว่าต้นไม้กับตึกมันอยู่ร่วมกันในลักษณะต้นไม้คือเครื่องประดับ หรือเป็นตัวช่วยให้เรามองข้างทางได้สวยงามเท่านั้น ผมเลยปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาคืออาจารย์นาวิน เบียดกลาง ท่านก็บอกว่าที่ผ่านมาสองสิ่งนี้อยู่ร่วมกันได้โดยต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มากกว่าหรือน้อยกว่าถึงจะลงตัว แต่ถ้าเราวาดให้ดูกลมกลืนกัน ให้ต้นไม้และตึกอยู่ด้วยกันแบบไม่ขัดแย้ง จะเป็นไปได้มั้ย”
คำแนะนำนั้นนำมาสู่ภาพป่าในเมือง ที่อยู่ร่วมกันในลักษณะของเมืองสีเขียว ดูแล้วรู้สึกถึงความร่มรื่นของธรรมชาติในเมืองมากขึ้น มากไปกว่าความงามทางทัศนศิลป์ งานศิลปะจากแปรงพู่กันของต้นทำหน้าที่สื่อสาร และสะท้อนเรื่องราวของมลภาวะและสิ่งแวดล้อมออกมา
“เป้าหมายอย่างแรกคืออยากให้คนดูมีความรู้สึกร่วม แล้วหลังจากนั้นค่อยพูดถึงเรื่องการตีความ เมื่อก่อนด้วยความคิดที่ยังเด็ก เราคิดสำเร็จรูปมากเกินไป อาจารย์วิโชค มุกดามณี เคยวิจารณ์ว่างานดูดี แต่บางทีเราต้องให้คนดูได้คิดได้จินตนาการต่อบ้าง ผมก็รับคำแนะนำมาปรับใช้ คือสร้างเมืองขึ้นมาโดยไม่ต้องอธิบายว่ามีต้นไม้แล้วจะทำให้เกิดอะไรขึ้นมา แล้วมองแต่เรื่องศิลปะ การสอดประสานของเส้น สี ความกลมกลืน และอาจารย์ปรีชา เถาว์ทอง ก็ได้บอกผมว่าควรพัฒนางานชุดนี้ต่อไป ผมก็ค่อยๆ ทำเก็บสะสมไว้
“เราเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ครับ อาจจะมีคนหันมามองเห็นสิ่งที่เราต้องการสื่อบ้าง ก็รู้สึกว่ามันดีแล้ว แม้งานของเราจะไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากนัก แต่อย่างน้อยทำให้คนตระหนักขึ้นมาบ้าง หรืออย่างน้อยๆ ผมก็รู้สึกดีที่นักศึกษาหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่เขาเข้ามาสอบถาม แล้วให้ความสำคัญ และเราได้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากทำงานศิลปะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะเขาอาจจะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าที่เราเคยทำ และส่งเสียงได้ดังกว่าเรา
“เสียงที่สื่อมาจากคนตัวเล็กๆ อย่างเราด้วยผลงาน อาจจะมีแค่โพสต์ขึ้นมา ได้จัดแสดง ได้ออกสู่สาธารณชน อาจจะสร้างความตื่นตาตื่นใจในเวลานั้น แล้วก็จางหายไป เพราะทุกวันนี้อะไรๆ มันเร็วไปหมด การรับรู้เร็ว และมีอะไรเข้ามาเยอะ พอมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจขึ้นมา เรื่องของเราก็ถูกลืม แล้วเรื่องที่คนสนใจมากๆ บางทีไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเลยด้วยซ้ำ แต่ข่าวแบบนี้อยู่ได้เดือนสองเดือน ในขณะที่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา มันอยู่ตรงปลายจมูกเราทุกลมหายใจ กลับไม่ถูกให้ความสำคัญ”
ต้นท้วงถามถึงการนำเสนอของสื่อหลัก ที่ให้พื้นที่กับข่าวคราวของฝุ่นอยู่บางเบา “ ทั้งที่ปัญหามันยังใหญ่ แต่คนไม่พูดถึง แม้ช่วงปีนี้ผลของฝุ่นไม่แสดงให้เราเห็นว่าเกิดผลกระทบนัก แต่ผมคิดว่าความรุนแรงของ PM2.5 ไม่ได้ลดลงไปเลย หลายคนยังมีผื่นขึ้น ตาแดง ต้องไปพบหมด เพียงแต่มันมีสิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นคือโควิด ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องโควิดมากที่สุด ซึ่งในมุมคู่ขนานกัน เรื่องฝุ่นหรือเรื่องมลภาวะก็ยังร้ายแรงอยู่ และความอันตรายก็ไม่ได้น้อยลง เพราะมันสะสมอยู่ในร่างกาย
“ผมว่าในเรื่องการบริหารจัดการสำคัญมากๆ เขาให้ความสำคัญเฉพาะที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว การหาแนวทางป้องกันก็ไม่ใช่แบบถาวรหรือยั่งยืนนัก ถ้าเปรียบกับประเทศจีนหรืออีกหลายประเทศ เขาออกเป็นกฎหมายมาเลย และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องวิศวกรรม การก่อสร้าง ถ้าไม่ได้มาตรฐานหรือทำให้เกิดฝุ่น เขาไม่อนุญาตให้ผ่าน หรือไม่อนุญาตให้ก่อสร้างเลยด้วยซ้ำ ต่างจากบ้านเราที่ผลประโยชน์ทำให้เรื่องนี้ถูกทำเป็นมองไม่เห็น
“และคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องฝุ่น กลับเป็นคนที่ไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะเข้าไปแล้วส่งเสียงให้ดัง เขาส่งเสียงดังได้แค่ที่เขาทำได้ แต่มันก็ยังไปไม่ถึงหูของคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การออกมาส่งหนังสือถึงเจ้าหน้าที่รัฐและพูดกันเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร หรือบางทีสื่อนำเสนอไปแล้วก็เงียบหาย และคนทั่วไปก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”
แม้เสียงที่ส่งออกไปจากงานศิลปะ จะยังไม่ดังพอเท่าที่เขาคาดหวัง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ต้นหมดใจที่จะทำหน้าที่สื่อสารในฐานะศิลปินต่อ เขายังคงทำงานศิลปะสะสมเอาไว้ ควบคู่ไปกับการเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนแห่งหนึ่งอย่างที่ทำมาสิบสองปี และกำลังจะเปลี่ยนสถานะจากครูไปเป็นศิลปินเต็มตัวเร็วๆ นี้ ด้วยการเปิดสตูดิโอของตัวเองที่อยุธยา และทำงานศิลปะในแขนงอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้สารที่เขาสื่อได้เผยตัวอยู่ในงานรูปแบบอื่นๆ ด้วย และแน่นอน เขาตั้งใจจะมีงานแสดงเดี่ยวในอนาคต
“ผมยังคงยืนยันที่จะมุ่งมั่นทำงานศิลปะในคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่อไป ไม่ลังเล เพียงแต่ว่าจะมีการพัฒนารูปแบบ แล้วเลือกเทคนิคนำเสนอให้แตกต่างขึ้นจากเดิมเมื่อเรามีเวลาทำงานเต็มตัว”