“สำหรับเฟี้ยต เมืองที่มีอากาศสะอาด คือเมืองที่ทุกคนได้หายใจในอากาศบริสุทธิ์ หายใจได้สะดวก ไม่เจ็บป่วยเมื่อต้องหายใจเอาอากาศนี้เข้าไป
“อย่างส่วนตัวเรามีอาการไอเรื้อรังมาตั้งแต่เด็กแล้ว และไม่รู้ว่าตัวเองแพ้อากาศหรือมลพิษ ไปหาหมอเขาก็ให้กินยาเยอะมากในแต่ละปี เลยทำให้เราใส่ใจกับเรื่องอากาศมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสไปอเมริกา พอไปถึงที่นั่น จากที่ต้องกินยาเยอะมาก แต่ยาเราหมด ปรากฏว่าอยู่ๆ หาย ไม่มีอาการไอเลย ซึ่งส่วนตัวเราก็คิดว่าเป็นเพราะอากาศนะ เพราะสิ่งที่เปลี่ยนคือ สภาพแวดล้อม และยาก็หยุดกินแล้ว แต่ดันหายเอง
“ยิ่งทุกวันนี้ เวลาค่าฝุ่น PM2.5 ในเมืองสูงๆ ต้องกินยาอยู่ 3-6 เดือนถึงจะหาย และรู้สึกว่าหลังๆ ยิ่งต้องกินยานานขึ้นกว่าเดิมไปอีก และไอหนักขึ้นในวันที่ฝุ่นควันหนัก
“ถ้าถามว่าคนคนหนึ่งจะช่วยสร้างอากาศดีๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่าอย่างแรกทุกคนต้องช่วยกันทำทุกเรื่องที่สามารถฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและช่วยเซฟมลพิษทางอากาศไปด้วย อย่างง่ายๆ เลยก็เช่น ประหยัดพลังงาน บริโภคเท่าที่จำเป็น ใช้ของที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้และจัดการได้โดยไม่ก่อเกิดมลพิษ เพราะทุกอย่างมันเกี่ยวกันไปหมด
“อย่างที่สอง ต้องมี ‘ระบบ’ ที่จะเอื้อให้เขาช่วยดูแลอากาศ มีระบบนิเวศที่เอื้อ เช่น มีกฎหมาย บังคับใช้จริง ลงโทษจริงถ้าสร้างมลพิษ หรือให้รางวัลถ้าช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้าช่วยรีไซเคิลพลาสติกแล้ว อาจได้ค่าตอบแทนเป็นเงินกลับมา แทนที่เขาจะนำไปเผา ก็ส่งขยะเหล่านั้นไปรีไซเคิลได้ กลายเป็นว่าขยะมีค่า เขาก็จะเผาน้อยลง ซึ่งการประสานต้องให้หน่วยงานรัฐหรือภาคส่วนต่างๆ ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดโครงสร้างนี้ ให้มันครบวงจร เพราะสุดท้ายแล้วทุกปัญหาจะวนกลับมามีผลกระทบต่อสุขภาพของเราทุกคน
“สิ่งสำคัญก็คือ เรื่องการมีระบบบริหารจัดการที่ดีและจริงจัง เพราะปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งผลเสียต่อร่างกายและชีวิตเราจริง และความเจริญที่แลกมาด้วยความเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องไม่โอเค”
เฟี๊ยต-ธัชนนท์ จารุพัชนี ดีเจและพิธีกร และผู้บริโภคอินทรีย์ที่ใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อม