“อากาศสะอาดสำหรับเรา ควรเป็นอากาศที่ทุกคนเดินออกมาจากบ้าน แล้วสามารถหายใจได้สบาย หายใจได้คล่อง ไม่แสบตา ไม่คันระคายเคือง คือส่วนตัวเป็นภูมิแพ้ ค่อนข้างเซนซิทีฟกับอากาศ อย่างทุกวันนี้ เวลาออกจากบ้านก็รู้สึกว่าหายใจได้ยาก และก็มีผลต่อการใช้ชีวิตในเมือง คือถ้าเมืองมีอากาศดีๆ เราก็รู้สึกอยากจะเดิน หรือไม่รู้สึกลำบากกับการที่ต้องเดินทางในเมืองด้วยการเดิน อยากเดินไปสวนหรือใช้ชีวิตพื้นที่ภายนอก ซึ่งอากาศสะอาดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองมากขึ้น
.
“พอคิดเรื่องเมืองกับอากาศสะอาด ในมุมที่เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เมืองจะพัฒนาขึ้นมาได้ แน่นอนว่าต้องเกิดขึ้นจากการพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งจริงๆ แล้ว การสร้างเมืองในหลายๆ ที่จะมาพร้อมกับมลพิษ ยิ่งในอดีตเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก พอเริ่มสร้างเมือง ก็มาพร้อมกับการสร้างอุตสาหกรรมบางอย่าง แล้วก็ต้องใช้พวกถ่านหินหรือวัตถุก่อสร้าง ที่ก่อให้เกิดมลพิษกับโลก
.
“แต่ปัจจุบันเราจะได้เห็นว่า ในหลายๆ เมืองเขาเคยมีช่วงเวลาที่อากาศไม่สะอาด แล้วก็มีวิธีแก้ปัญหาจนกลับมาเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าบ้านเรามีการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ หรือมีการกำหนดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ก็สามารถช่วยลดมลพิษในอากาศได้
.
“จริงๆ เทใจดอทคอม ก็ได้ทำโปรเจ็กต์เรื่องมลพิษทางอากาศเยอะ หลักๆ มลพิษทางอากาศในเมืองไทยเกิดจากการเผา ทั้งการเผาระดับครัวเรือน เผาขยะ เกิดทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เพราะบางชุมชนไม่สามารถมีวิธีกำจัดขยะได้ ไม่มีการดูแลในเชิงสาธารณูปโภค ก็เลือกที่จะเผาขยะ มีตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมเอง ซึ่งเป็นการเผาที่มีพื้นที่ใหญ่และส่งผลเสียต่ออากาศเยอะอย่างภาคอุตสาหกรรมเอง ก็อาจมีพวกสารเคมีปนเปื้อนออกมาด้วย ซึ่งเป็นปัญหาสเกลใหญ่ ที่ต้องพึ่งพากลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดการ
.
“แต่ถ้าถามว่าคนคนหนึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างอากาศดีขึ้นได้อย่างไร แน่นอนก็ต้องเริ่มที่พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างส่วนตัวเราก็จะพยายามวางแผนการเดินทางให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวให้น้อยที่สุดเท่าที่พอจะทำได้ หรือลดการใช้เครื่องปรับอากาศ
.
“และอีกส่วนคือบทบาทในเทใจดอทคอม เราเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งเราก็จะได้เห็นกลุ่มคนที่เขารวมตัวกันเพื่อผลักดันเรื่องอากาศสะอาดในเมือง เริ่มทำเรื่องนี้มากขึ้น อย่างเช่นโครงการ we!park ที่สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่สาธารณะสีเขียวต่อการพัฒนาเมือง เขาก็มีการออกแบบพื้นที่ร่วมกับชุมชน มีโครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จัดการขยะอย่างยั่งยืน เราก็ได้ไปช่วยระดมทุนหรือสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้น ให้มากขึ้น เป็นเหมือนการเริ่มส่งเสียงให้มี เห็น และจับต้องได้
.
“แต่ถ้าเกิดมองในภาพใหญ่มากกว่าระดับปัจเจก ก็คิดว่าการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนต้องร่วมกันผลักดัน ช่วยกันส่งเสียงให้ดัง เพื่อให้ผู้มีอำนาจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องขับเคลื่อนในการกำหนดนโยบาย แก้กฎหมายในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่เกิดกว่าใครคนหนึ่งจะแก้ได้ เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ก็ดี เพื่อให้รัฐได้คุ้มครองสิทธิของทุกคนที่จะได้หายใจอากาศสะอาด ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
.
เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอทคอม แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสังคม