เราคุ้นเคยกันดีกับเพลงที่ร้องว่า ‘กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ’ แต่เมื่อบวกกับฝุ่นพิษ ก็อาจทำให้ยาวิเศษนั้นเปลี่ยนเป็นโทษแทน เพราะผลวิจัยใหม่พบว่า หากเราออกกำลังกายโดยสูดมลพิษเข้าไป แทนที่เราจะได้ประโยชน์ จะกลายเป็นเอาตัวเองไปเสี่ยงสมองเสื่อมแทน
โดยถึงแม้ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะมีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าคนรุ่นเดียวกันที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย รวมไปถึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าและมีความจำที่ดีกว่า แต่ผลวิจัยหนึ่งก็ชี้ชัดเลยว่า หากออกกำลังกายกลางฝุ่นพิษ ถึงแม้จะเป็นพื้นที่มลพิษไม่หนักมาก ก็จะไปลบล้างผลดีจากการออกกำลังกายเสียซะเกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ก็พบว่า สำหรับผู้สูงวัยชาวชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษมาก ระบบประสาทและสมองก็จะเสื่อมลงไวกว่าผู้สูงอายุในพื้นที่อากาศสะอาด แม้กระทั่งผลวิจัยในหนูที่โดนเอาไปทดลองสูดอากาศเสีย ก็พบว่ามีอาการสมองเสื่อม ไม่ว่าจะเป็นตัวที่มีกรรมพันธุ์โรคอัลไซเมอร์หรือตัวที่ปกติ
โดย Pamela Lein อาจารย์ด้านพิษทำลายประสาทที่ University of California ผู้ทำวิจัยเรื่องหนูกับมลพิษที่กล่าวไปข้างต้น ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “การค้นพบว่ามลพิษทางอากาศไปหักล้างประโยชน์ต่อสมองจากการออกกำลังกายนั้นน่าตกใจมาก เราควรมีการควบคุมคุณภาพอากาศที่ดีกว่านี้ได้แล้ว”
ซึ่งหากคุณอาศัยในพื้นที่มลพิษสูงแต่ยังอยากออกกำลังกาย ให้ปฏิบัติดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใกล้ถนน เพราะฝุ่นควันจากรถเป็นหนึ่งในมลพิษที่อันตรายที่สุด
2. ตรวจสอบคุณภาพอากาศทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย (เสิร์ชหาคำว่า AQI ได้เลย) พยายามไปออกกำลังกายในพื้นที่ที่ปลอดภัยหรือสีเขียว แต่อย่าลืมว่าคุณภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ให้เช็กอย่างสม่ำเสมอ
3. ออกกำลังกายในบ้านหรือพื้นที่ที่มีเครื่องฟอกอากาศเท่านั้นในวันที่ฝุ่นพิษสูง เพราะฝุ่นก็เข้าได้ถึงแม้จะเป็นบริเวณภายในอาคาร
4. หากทำได้ ให้ใส่หน้ากากขณะออกกำลังกาย เช่นหน้ากากทางการแพทย์หรือ N95 เพื่อลดการนำฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ
5. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จงอย่าหยุดออกกำลังกาย เพราะมันมีข้อดีมากมายต่อร่างกายเราในระยะยาว และแน่นอนว่าเราจะสุขภาพดีกว่าคนที่ชอบอยู่เฉยๆ ไม่ขยับร่างกายแน่นอน
โดยเครือข่ายอากาศสะอาดในไทย กำลังมีความพยายามในการผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด เพื่อให้ประเทศไทยมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่ไปกับสุขภาพที่ดี ทำให้เราสามารถออกกำลังกายกลางแจ้งได้อย่างไม่ต้องกลัวผลเสีย ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/thailandcleanairnetwork
ที่มาข้อมูล:
1. www.nytimes.com/2022/02/23/well/move/exercise-air-pollution-dementia.html
2. 1bluesky.org/article/thai-clean-air-act