“ธุรกิจที่มองแค่ Profit (กำไร) ธุรกิจนั้นอาจสร้างรายได้มหาศาล แต่แล้ววันหนึ่ง ธุรกิจนั้นจะจบลง
ธุรกิจที่มองแค่ People (ผู้คน) ธุรกิจนั้นอาจต้องเปลี่ยนไปเป็นมูลนิธิในที่สุด
ธุรกิจที่มองแค่ Planet (รักษ์โลก) โดยไม่มองเรื่องกำไรและผู้คน เขาอาจอยู่ได้แต่ไร้อิมแพคในวงกว้าง
“แต่หากเราจับ Profit (กำไร) People (ผู้คน) Planet (รักษ์โลก) มารวมกัน ธุรกิจนั้นจะยั่งยืนและยังประโยชน์แก่ผู้คนและสังคม”
ในปี 2018 ชยุตม์ ศรีเพียร ผู้ก่อตั้ง บริษัท พาวเวอร์ อัพ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้เวลา 1 ปีเต็มๆ ไปกับการหอบไอเดียและความฝันในการสร้างนวัตกรรม ‘รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า’ เขาเริ่มศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้ พูดคุยกับผู้ประกอบการ คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ไปจนถึงผู้ใช้บริการหลากหลายกลุ่ม
มกราคม ปี 2019 ก้อนไอเดียและข้อมูลจากภาคสนาม ถูกนำมาลองผิดลองถูกผ่านการลงมือทำ กระทั่งกลายเป็นเจ้ารถสามล้อไฟฟ้าสีเหลืองมัสตาร์ด ยี่ห้อ ‘ตุ๊กตุ๊กพัทธ์’ ที่นอกจากปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราศูนย์เปอร์เซ็นต์ ยังออกแบบมาเพื่อรองรับรถเข็นวีลแชร์ เพื่อการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระของผู้พิการ ผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์ และคนชรา ในราคาที่สมเหตุสมผลและจับต้องได้
ฟังเผินๆ แล้ว นี่คือธุรกิจเพื่อสังคมที่รักโลกและใส่ใจผู้คนอันยอดเยี่ยม คือรถตุ๊กตุ๊กในอุดมคติของผู้คนที่ต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะ ทว่าหากขุดลึกไปในแนวคิดของชยุตม์ สิ่งที่เราค้นพบคือ การยืนตระหง่านบนโลกแห่งความเป็นจริง โลกที่ธุรกิจล้มเกลื่อนเมื่อถูกโรคระบาดเขย่ารุนแรง โลกที่เผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมของมนุษย์ ชนิดที่อาจไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
โลกที่หากธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดไร้ซึ่ง ‘มนุษย์’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นองค์ประกอบสำคัญ หรือหวังสร้างกำไรโดยขาดความใส่ใจต่อผลกระทบที่สังคมโดยรวมจะได้รับ ธุรกิจนั้นก็ไม่อาจยืนระยะได้ยาวนานนักในอนาคต
ชยุตม์ทำธุรกิจ ‘ตุ๊กตุ๊กพัทธ์’ บนข้อเท็จจริงข้อนี้ เมื่อธุรกิจไม่อาจออกดอกออกผล ในสภาพแวดล้อมที่พิกลพิการ การสร้างธุรกิจและสภาพสังคมที่ดีไปพร้อมๆ กัน จะสามารถเป็นไปได้หรือไม่ และทำอย่างไร นี่คือทั้งหมดที่ 1BlueSky สนทนากับเขาในวันนี้
เมื่อมองปัจจุบันแล้ว ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 400 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 17 มาจากภาคขนส่ง และจากการคาดการณ์ของโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊ก (e-TukTuk) ระบุว่า ในปี 2030 รถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 100 กิโลเมตรต่อวัน จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 6.2 ตันต่อปี ขณะที่ ‘รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า’ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 67 เปอร์เซ็นต์ของรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้เครื่องยนต์
ในประเทศไทยเรามีรถตุ๊กตุ๊กสาธารณะอยู่เพียง 20,000 กว่าคันตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด นั่นหมายความว่า มีผู้เล่นในสนามนี้เพียง 20,000 กว่ารายทั่วประเทศ ด่านแรกของ ‘ตุ๊กตุ๊กพัทธ์’ หลังพัฒนาตัวรถให้ปลอดภัยและใช้งานได้จริงตามมาตรฐาน คือการขายไอเดียเหล่านี้แก่ผู้เล่นในสนาม ให้หันมาสนใจและเปลี่ยนมาใช้รถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า 100% ที่เป็นมิตรกับอากาศและผู้คน ช่วยลดปัญหาฝุ่นควันและมลภาวะที่ลอยตัวอยู่ในเมือง
“แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้นน่ะสิ” ชยุตม์บอกกับเรา “ถ้าคนขับสามล้อไม่ขายป้ายให้เรา เราก็ไม่มีทางเพิ่มรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้ เราไม่สามารถจดทะเบียนรถได้เพราะเราไม่มีป้ายทะเบียน ผมต้องไปซื้อสามล้อแก๊สมาแล้วยกเลิกการใช้ แล้วนำไปจดทะเบียนเป็นสามล้อไฟฟ้า ซึ่งมันยากมาก เหมือนเราไปซื้อเครื่องมือทำมาหากินของเขา ซึ่งเขาเรียกราคาไม่ถูกแน่นอน”
‘แรงจูงใจ’ จึงกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญของเกมนี้ แน่นอนว่าลำพังการรักสิ่งแวดล้อม ไม่อาจชักจูงผู้ที่ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องและเงินเพื่อดำรงชีพในยุคเศรษฐกิจตกต่ำได้ ‘ตุ๊กตุ๊กพัทธ์’ รู้ดีถึงความจริงนี้ ชยุตม์ จึงออกแบบรถโดยคำนึงถึงการหารายได้และขยายกลุ่มเป้าหมายของคนขับสามล้อเป็นลำดับแรก นอกเหนือไปจากการออกแบบให้รถคันนี้ได้ช่วยลดมลภาวะไปแล้วด้วยพลังงานสะอาดในตอนตั้งต้นไอเดีย
“เมื่อก่อนคนขับสามล้อมีกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ และพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการบรรทุกสินค้า แต่ตุ๊กตุ๊กพัทธ์ ออกแบบให้มีชานรถต่ำกว่ารถตุ๊กตุ๊กปกติ ตัวรถของเรายาวกว่าปกติ 45 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ศอก แต่เป็นหนึ่งศอกที่มีความหมาย เพราะทำให้ตัวรถสามารถรองรับรถเข็นวีลแชร์ได้ สามารถเข็นวีลแชร์ขึ้นตัวรถได้พร้อมกับผู้ติดตามอีกสองท่าน ถ้าลูกค้าไม่ได้ใช้รถเข็นวีลแชร์ ก็สามารถนั่งหันหน้าเข้าหากันได้ 4 ท่าน สบายมาก”
เดิมทีรถสามล้อไม่สามารถนำวีลแชร์ขึ้นไปบนตัวรถได้ จากพื้นที่มีจำกัด ชยุตม์ตั้งใจทลายปัญหานี้เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าให้ผู้ขับรถสามล้อ ไม่เท่านั้น ‘ตุ๊กตุ๊กพัทธ์’ ที่มีความยาวเพิ่มขึ้นอีก 45 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ศอก ทำให้สามารถบรรทุกสิ่งของได้มากกว่าเดิม
“รถตุ๊กตุ๊กทั่วไปก็รับจ้างส่งของไปประตูน้ำอยู่แล้ว เราจะเคยเห็นรถตุ๊กตุ๊กขนของเต็มคันเลย ความกว้างและยาวที่เพิ่มขึ้นของตุ๊กตุ๊กพัทธ์ ทำให้มีพื้นที่บรรทุกสัมภาระได้มากขึ้น จากที่ผมได้ฟีดแบกกลับมา เขาบอกว่า รถของเราใส่ของได้เยอะกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ จากที่ร้านค้าต้องจ้างถึง 3-4 เที่ยวเพื่อบรรทุกของ กลายเป็นว่า ใช้บริการของเรา 2 เที่ยวก็สามารถบรรทุกของจนหมดได้ ประหยัดเงินพ่อค้าแม่ค้าได้ ส่วนคนขับก็มีรายได้ มีเวลาเหลือไปรับงานจากร้านค้าอื่นๆ ได้ เพิ่มรอบได้ เพิ่มเวลาได้”
ย้อนไปสี่ปีก่อน แนวคิดนี้อาจจูงใจผู้คนในแวดวงรถสามล้อได้ไม่มากนัก แต่ใครจะไปคิดล่ะว่า วันดีคืนดี การท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศกลับหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวมหาศาลหายไปพริบตาจากการระบาดของโรค ไม่มีธุรกิจไหนรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ …ธุรกิจรถสามล้อที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติก็เช่นกัน
“อาชีพขับสามล้อช่วงสองปีที่ผ่านมา เจ็บหนัก หลายคนเลิกขับ กลับภูมิลำเนา หลายอู่ที่ปล่อยเช่ารถตุ๊กตุ๊กก็ซบเซา หากเราเจอแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีกสักปีสองปี เพราะเอาเข้าจริงเรายังไม่พ้นโควิดเลย ผมว่าอาชีพนี้น่าจะลำบากกว่านี้”
“เวลาโปรโมตการท่องเที่ยว จะมีภาพรถสามล้อไทยโชว์อยู่เสมอ คำถามคือ ครั้งสุดท้ายที่คนไทยเลือกนั่งสามล้อ คือเมื่อไหร่?”
เราตอบคำถามชยุตม์ด้วยคำถามเช่นกัน “สามล้อราคาแพงมาก ตุ๊กตุ๊กพัทธ์แก้ปัญหาราคาได้หรือไม่”
เขายิ้มแล้วตอบกลับมาทันที “เราเห็นปัญหาเรื่องราคาอยู่แล้ว และเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราต้องการจะแก้ไข สิ่งที่ทำคือ หากลูกค้าติดต่อผ่าน Call Center ราคาจะถูกกำหนดผ่านช่องทางนี้ โดยราคาเริ่มต้นที่ 40 บาทในสองกิโลเมตรแรก หลังจากนั้นกิโลเมตรละ 8 บาท เป็นไปตามที่กรมคมนาคมกำหนด เราใช้มาตรฐานเดียวกันหมดไม่ว่าคุณจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือผู้ใช้วีลแชร์”
ชยุตม์สารภาพตามตรงว่า การออกแบบรถเพื่ออิสรภาพในการเดินทางของผู้พิการ ผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์ กระทั่งผู้สูงอายุ เป็นวิธีคิดที่ถูกติดตั้งหลังผ่านการค้นคว้าและลองผิดลองถูกในช่วงแรก เพราะก่อนหน้านี้เขามองเพียงมิติ ‘ธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainability in Business) และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาดเท่านั้น เเต่แล้วในวันหนึ่ง ชยุตม์ ถามตัวเองอย่างจริงจังว่า หากเขาสามารถเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเป็นพลังงานไฟฟ้าได้แล้ว เสียงเครื่องยนต์หายไปแล้ว ไม่ปล่อยมลพิษแล้ว แต่ลูกค้าของเขาคือใคร?
“หากลูกค้าของผมคือนักท่องเที่ยวอย่างเดียว ผมมองว่าไม่ยั่งยืน การที่เราอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเรื่องของ Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) อยู่แล้ว นักท่องเที่ยวของเราส่วนใหญ่คือจีน ซึ่งนักท่องเที่ยวในทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น มีความไม่แน่นอน ฉะนั้น การยึดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไปอาจเกิดปัญหา
“เราจึงควรหาทางเลือกใหม่ๆ อีกทั้งการที่คนขับรถตุ๊กตุ๊กเปลี่ยนรถใหม่ เขาต้องได้อะไรใหม่ๆ บ้าง เพราะท้ายที่สุด คนทำมาหากินที่ต้องปากกัดตีนถีบเขาไม่ได้สนใจเรื่องการรักโลกมากว่าปากท้อง แต่เขาสนใจว่าเงินในกระเป๋าเพื่อเลี้ยงชีพมีเท่าไหร่มากกว่า หากเขาเปลี่ยนรถใหม่ เขาต้องเปลี่ยนเพื่อรับทรัพย์ เราต้องหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ให้เขาได้”
หนึ่งในประโยคที่ชยุตม์จำได้ไม่ลืมคือ ‘โลกนี้ไม่มีหรอกคนพิการ มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการ’ ที่สะท้อนถึงการออกแบบที่มองไม่เห็นผู้คน เมืองที่ไร้ชีวิต เมืองที่จำกัดอิสรภาพในการเคลื่อนย้ายของมนุษย์
“คนออกแบบเมือง รถสาธารณะ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆ เป็นคนขาปกติ เลยไม่ได้ออกแบบมาครอบคลุมผู้ใช้วีลแชร์ ซึ่งพอผู้ใช้วีลแชร์มาเจอสภาพแวดล้อมแบบนี้ เขาไปต่อไม่ได้แล้ว แค่เจอบันไดแค่ขั้นเดียวก็ยากมาก หากวันหนึ่งคุณบังเอิญไปสะดุดหกล้มขาเจ็บเลยต้องนั่งวีลแชร์ คุณจึงจะเริ่มเห็นค่าของการออกแบบเพื่อคนโดยรวม หรือที่เราเรียกว่า universal design ทันที”
ท้ายที่สุด เขาย้ำกับเราว่าเขาคือนักธุรกิจ ที่นำเอาธุรกิจเป็นตัวตั้ง และติดตั้งแว่นตาทางสังคมเข้าไปในโมเดล แน่นอนว่าเขายังคงแสวงหากำไรดังเช่นคนทำมาหากินทั่วไป และแม้ในวันนี้ ‘ตุ๊กตุ๊กพัทธ์’ ที่ผ่านสมรภูมิโควิด-19 ดังเช่นธุรกิจอื่นๆ จะยังขาดทุนแทบทุกเดือน ยอดการสั่งซื้อบางส่วนชะงักมาร่วมปี ครั้นสถานการณ์ดูท่าจะดีขึ้น ก็กลับเจอโควิดสายพันธ์ใหม่หลายระลอก แต่ถึงอย่างนั้น เขายืนยันกับเราว่า ‘ตุ๊กตุ๊กพัทธ์’ ในวันนี้ยังมีทางไปต่อ เพราะภาพความสำเร็จสวยงามปลายทางของเขาไม่มีอยู่จริง แต่ทุกๆ วันเป็นเหมือนการนับหนึ่งใหม่ เขายังคงทำงาน ทดลอง พัฒนา และพิสูจน์แนวคิดของตัวเองอย่างไม่หยุดหย่อน
มันอาจเร็วเกินไปที่จะประเมินความสำเร็จเชิงคุณภาพของตุ๊กตุ๊กพัทธ์ในช่วงเวลานี้ เพราะภาพที่เขาต้องการจะเห็น คือวันที่เราทุกคนยืนอยู่บนทางเท้า มองเห็นผู้ใช้วีลแชร์เรียกรถตุ๊กตุ๊กพัทธ์ โดยมีคนขับมาเข็นวีลแชร์เข้าไปในตัวรถจนกลายเป็นภาพปกติของสังคมไทย
“เมื่อไหร่ที่คุณเห็นภาพนั้น ผมถือว่าผมสำเร็จ เพราะผมทำให้คนมีอิสระในการออกไปใช้ชีวิต”
ส่วนเรื่องดอกผลที่เป็นเม็ดเงินและกำไร เขาบอกกับเราอย่างเข้าใจในสถานการณ์ว่า “ในช่วงเวลาแบบนี้ ขอแค่ธุรกิจเลี้ยงดูตัวเองต่อไปได้ ผมก็โอเคแล้วครับ”