“เรามีท้องฟ้าแค่ผืนเดียว ไม่ว่าประเทศไหนทำท้องฟ้าพัง ก็พังกันทั้งโลก”
ถ้อยคำตรงไปตรงมาของ พิม-ชโลชา นิลธรรมชาติ ผู้ก่อตั้ง TAKANO BANGKOK และ Branding PR ของบริษัท สามารถอธิบายได้เป็นอย่างดีถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมเธอและทีมจึงตัดสินใจบุกเบิกธุรกิจรถกระบะพลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เราเรียกกันว่ารถ EV (Electric Vehicle) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ง่ายเลย กับการผลักดันธุรกิจรถกระบะไฟฟ้าในห้วงการระบาดของโรค แถมขนาบข้างด้วยความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงนานัปการรอเธออยู่ข้างหน้าจนยากจะจินตนาการ แต่ในวันนั้น พิมเชื่อว่าเธอมีทีมที่ดี มีไอเดียมากมายที่อยากทดลอง และมากกว่านั้น เธอมีโลกใบเดิมที่อยากเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
“ตอนที่เราเริ่มรู้จัก PM2.5 พิมรู้สึกว่ามันน่ากลัว แต่มันมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เริ่มมีคนเป็นโรคปอด โรคทางเดินหายใจพิมก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ยมันต้อง concern มากกว่านี้ ทำไมตรุษจีน เชงเม้ง เราเผากระดาษกันหนักหน่วง หรือทำไมยังมีรถควันดำวิ่งเต็มถนนไปหมดเลย เป็นเหตุผลที่ทำให้เราทำ TAKANO พร้อมๆ กับเรียกร้องที่นโยบายหลัก ไม่งั้นคนเล็กๆ มานั่งรณรงค์กันเสียงมันดังไม่พอ”
แบรนด์ TAKANO มีอายุมามากกว่า 70 ปี ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น TAKANO AUTO ACCESSORIES และเข้าสู่ประเทศไทยในชื่อ TAKANO AUTO THAILAND และ TAKANO BANGKOK เจ้าแรกที่ผลิตในประเทศไทยภายใต้มาตรฐานญี่ปุ่น ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถกระบะไฟฟ้าคันกะทัดรัด
เรื่องของเรื่อง ต้องเริ่มต้นที่ ทากาชิ โคบายาชิ ผู้นำทีมของทากาโน่ประเทศไทย อดีตผู้คร่ำหวอดในวงการแข่งรถกว่า 40 ปี ที่ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขามองหานวัตกรรมที่จะสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ กับถ่ายทอดความรักและความรู้ในเรื่องรถยนต์สู่สาธารณะ
ท้ายที่สุด โคบายาชิเลือกเกษียณตัวเอง เพื่อมาปักหลักและบุกเบิกธุรกิจรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะประเทศไทยมีมลพิษเยอะที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เธอเล่าพร้อมเสียงหัวเราะขื่นๆ
‘Make Beautiful Sky’ หากท้องฟ้าพัง โลกก็พัง
‘Make Beautiful Sky’ ไม่ใช่เพียงวิสัยทัศน์ที่เอาให้พูดให้ดูเท่ หากแต่มันคือหัวใจหลักในกระบวนการผลิตเจ้ารถกระบะไฟฟ้าคันจิ๋ว นั่นหมายความว่า ทุกๆ ขั้นตอนยึดโยงกับแนวคิดของการสร้างท้องฟ้าที่สวยงาม ไล่เรียงตั้งแต่การเลือกวัสดุแต่ละชิ้น การปล่อยมลพิษสู่อากาศ ตลอดจนปลายทางของชิ้นส่วนรถเมื่อหมดอายุขัยการใช้งาน วัสดุเหล่านั้นจะไม่กลายเป็นขยะกองพะเนินที่รอวันสลายในอนาคตกว่าร้อยปีพันปี
“เช่นกรอบของรถ เราคิดด้วยหลักพื้นฐานที่ว่าต้องรีไซเคิลได้ทั้งคัน ไม่ใช้ไฟเบอร์แบบที่เคาะไปแล้วเป็นพลาสติก แล้วสุดท้ายพอรถมันตกรุ่นคนก็แค่เอาพลาสติกอันนี้ไปทิ้งแล้วก็ย่อยสลายไม่ได้อีกหลายร้อยปี แต่อันนี้เอามาหลอมใหม่ได้ทั้งคัน เพราะว่าเป็นรถยนต์ทำมาจากเหล็กทั้งหมด”
เหมียว-ปิยาภา วิเชียรสาร Art Director, Creative Takano Bangkok เล่าต่อจากพิมพ์ว่า “ตัวหนังหุ้มเบาะรถ เราเลือกตัวหนังที่ไม่ใช่หนังสัตว์หรือเคมีโฟมที่ทำร้ายชั้นบรรยากาศ ทุกๆ อย่างเราพยายามคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะเราชัดเจนว่าโปรดักต์นี้ทำเพื่ออะไร
“ส่วนท้ายกระบะ ส่วนใหญ่เขาจะต่อเติมด้วยการฉีดพลาสติกขึ้นมาเป็นท้ายกระบะ เราก็พยายามมองหาความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น ไม้ต่อเรือที่ทนน้ำได้ดี เอามาบุตรงส่วนท้ายกระบะเพื่อทำให้เราได้ทั้งการใช้งาน และความสวยงามไปพร้อมๆ กัน”
รถกระบะไฟฟ้าทากาโน่ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งคัน ประหยัดด้วยค่าไฟเพียง 1 บาทต่อ 1 กิโลเมตร ชาร์จไฟด้วยการเสียบสายเข้ากับเต้ารับคู่ 3 ขาที่บ้านได้ง่ายๆ โดยใช้เวลาราว 6-7 ชั่วโมงต่อครั้ง วิ่งระยะทาง 100-200 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งท้ายกระบะสามารถบรรทุกของได้ถึง 300 กิโลกรัม
“เราให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความสนุกค่ะ เราต้องสนุกด้วยมันถึงจะไปกันได้ ตอนนี้เราสนุกกับการที่รถมันใหม่มาก มันตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันรถยังมีฟังก์ชันอื่นๆ ด้วย กระบะอาจทำเป็นคาเฟ่ ขายของ เปิดร้าน ทำอะไรสนุกๆ ได้อีกเยอะ เราอยากทำให้ทุกคนสนุกและรู้สึกว่า เนี่ย เท่ไปด้วย รักษ์โลกไปด้วยก็ได้”
ฟังพิมเล่าแล้วอาจดูเหมือนง่าย แต่เปล่าเลย เพราะสำหรับพวกเธอแล้ว ความยากไม่ได้อยู่ที่การผลิตหรือการใช้งาน แต่อยู่ที่การนำเสนอข้อมูลอย่างไรให้ผู้บริโภคอยากจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยชินต่างหาก
“พิมรู้สึกว่า ช่วงแรกของการขายทากาโน่ มันคือเรื่องพฤติกรรมเวลาน้ำมันจะหมด เขาขับเข้าปั๊มเติมได้เลย แต่รถไฟฟ้าจะต้องวางแผนตั้งแต่เมื่อคืน ว่าก่อนนอนนอกจากชาร์จโทรศัพท์แล้วยังต้องไม่ลืมชาร์จรถอีก แต่ถ้าอีกหน่อยรถไฟฟ้ามีมากขึ้น แล้วคนชินกับพฤติกรรมว่า อ๋อ ก่อนนอนเราต้องชาร์จมือถือและชาร์จรถ โอเค อาจจะง่ายขึ้น”
ในวันใดวันหนึ่งซึ่งไม่น่านานนัก พิมเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ ความยุ่งยากที่ถูกจินตนาการในช่วงแรกจะเริ่มคลี่คลาย เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล และมลพิษจากการสันดาป กำลังนำทางให้โลกมาสู่วิกฤติดังเช่นทุกวันนี้
เราเปลี่ยนพฤติกรรมได้ …รัฐเปลี่ยนท้องฟ้าได้
ในวันที่อาหาร การเดินทาง การมีสุขภาพที่ดี หรือการดำรงชีพ ทุกอย่างล้วนต้องจ่ายแพง นอกเหนือจากเรื่องมลพิษ สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย ทากาโน่ยังอาจเข้าไปคลี่คลายรายจ่ายค่าน้ำมันที่สูงลิ่ว ขณะเดียวกัน ทั้งพิม แพร และเหมี่ยว ต่างมองไปทำนองเดียวกันว่า เจ้ารถกระบะไฟฟ้าในราคา 499,000 บาท ยังอาจจับต้องยากสำหรับคนจำนวนมากในสังคม นั่นทำให้ทั้งสามพยายามมองหาการลดต้นทุนที่ไม่ลดคุณภาพ เพื่อให้ราคาเข้าถึงผู้คนได้ในอนาคต
ทว่าด้านหนึ่ง แพร-ฉัตรพร นิลธรรมชาติ ซึ่งดูแลด้าน Online Marketing มองว่ามันคือบทบาทของรัฐ ในการเอื้อให้ประชาชนสามารถดูแลท้องฟ้าและสิ่งแวดล้อมได้ในราคาที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับรายได้เฉลี่ยของประชากร
“แพรว่าถ้ารัฐบาลจริงจัง เขาทำได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องขนส่งสาธารณะ รถเมล์ดีๆ รถไฟฟ้าในราคาสมเหตุสมผล”
ส่วนพิม เธอมองว่า “หลายๆ อย่าง เช่น ศูนย์ซ่อมเยอะมาก ปั๊มน้ำเยอะมาก แทนที่จะเป็นศูนย์ปั๊มน้ำมัน คุณอาจจะเปลี่ยนเป็นศูนย์ที่ช่วยเปลี่ยนรถน้ำมันให้เป็นรถไฟฟ้า คุณจะเอาของเดิมไปรีโนเวตก็ได้ คุณชอบดีไซน์แบบนี้แต่คุณเปลี่ยนเครื่องข้างในให้มันเป็นไฟฟ้าได้ไหม ศูนย์เหล่านี้ถ้าได้รับการสนับสนุน มันจะค่อยๆ เปลี่ยน
“แต่ถ้ารัฐลงมาให้การสนับสนุน มันจะเร็วขึ้นอยู่แล้ว ลองนึกดูว่าเราพูดกันอยู่นานเรื่องการลดใช้หลอดหรือถุงพลาสติก แต่พอร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าดีดนิ้วบอกว่าไม่แจกถุง ก็ลดการใช้พลาสติกลงไปเยอะมากๆ นั่นหมายความว่า ความร่วมมือของภาครัฐและองค์กรใหญ่ๆ ถ้าเขาให้ความสำคัญมันทำได้และเร็วกว่า”
ถ้อยคำของพวกเธอ กำลังส่งตรงถึงคนทุกคนที่เกี่ยวข้องกับท้องฟ้าผืนนี้ ผ่านสุ้มเสียงของนวัตกรที่มองหาเครื่องมืออยู่ร่วมกับโลก… โลกที่มีท้องฟ้าผืนเดียวเท่านั้น