ฟาง-ชนัตฎา ดำเงิน คือ ‘รุกขกร’ ผู้ดูแล-ตัดแต่งต้นไม้ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมรุกขกรรมไทย (TAA) จุดเริ่มต้นความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของเธอ มาจากความชื่นชอบในการเข้าค่ายธรรมชาติช่วงวัยเด็ก ก่อนตัดสินใจเข้าเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ฟางเริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางรุกขกรหลังได้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘BIG Trees Project’ กลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง เพื่อดูแลต้นไม้และขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมให้ดีกว่าเดิม
จากเด็กสาวที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพังงา ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์และต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปี เธอค้นพบปัญหาอันยิ่งใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เมื่อตนเองไม่กล้าสูดหายใจในเมืองหลวง เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ต้องเผชิญปัญหานี้มาอย่างยาวนาน
“เราหายใจสั้นๆ เพราะถ้าสูดเต็มปอดจะเอาฝุ่นควันเข้าไป นั่นทำให้เรารับรู้ว่า การอยู่ในพื้นที่ที่มีต้นไม้เยอะสามารถช่วยเรื่องอากาศได้ดีมาก ซึ่งรุกขกรก็มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินความเสี่ยง เพื่อให้ต้นไม้ถูกดูแลอย่างเหมาะสม ปลอดภัยสำหรับทุกคน และสร้างสิ่งแวดล้อมของเมืองที่ดี”
ความจำเป็นของต้นไม้ ให้นึกถึงวันที่ไม่มีต้นไม้
ประสบการณ์ด้านรุกขกรกว่า 6 ปีของชนัตฎา ทำให้เธอรับรู้ได้ว่า หากต้นไม้ในเมืองมีน้อยหรือไม่มีต้นไม้เลย จะทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปรากฏการณ์เกาะความร้อนที่ทำให้บริเวณเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ เนื่องจากไม่มีต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และป้องกันแสงแดดส่องถึงโครงสร้างของเมืองโดยตรง ซึ่งจะนำมาสู่การปลดปล่อยพลังงานความร้อนจนอุณหภูมิสูงขึ้น ตามมาด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศ และการสร้างมลภาวะทางอากาศเพิ่ม
“ถ้ามีต้นไม้ในปริมาณที่เพียงพอต่อคนเมือง กลุ่มต้นไม้จะช่วยดักจับฝุ่น ดูดซับมลพิษ และกรองสารแขวนลอยในอากาศ รวมถึงชะลอแรงลม และดูดซับมลภาวะทางเสียง ไม่ว่าจะต้นไม้ใหญ่หรือต้นไม้เล็กก็สามารถช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งหมด ส่วนปริมาณจะขึ้นอยู่กับขนาดของต้นไม้ต้นนั้นๆ
“นอกจากนี้ ต้นไม้ยังช่วยลดความเครียดของคนเมือง เสริมทัศนียภาพที่สวยงามระหว่างการขับรถและลดความเหนื่อยล้าของตา ถ้าเทียบกับการจัดการมลพิษด้วยวิธีอื่น ต้นไม้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า”
เธอเน้นย้ำว่า “ทุกที่ยังจำเป็นต้องมีต้นไม้ เพราะยังเกิดกิจกรรมของมนุษย์อยู่ ดังนั้นการมีต้นไม้ย่อมดีกว่าไม่มี” แต่ในการมีอยู่นั้น ต้นไม้ที่มีก็ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม
ตัดได้ บอกได้ ตัดอย่างไรจึงถูกต้อง ถูกที่ และถูกเวลา
“สิ่งแรกที่รุกขกรต้องประเมินคือความปลอดภัยและความเสี่ยง หากส่วนใดของต้นไม้มีความเสี่ยงจะสร้างอันตราย เราต้องรีบจัดการส่วนนั้นก่อน ที่สำคัญคือไม่ต้องตัดกุดทุกส่วนอย่างเกินจำเป็น เพราะกิ่งใหม่จะงอกออกมาจำนวนมาก แต่ไม่แข็งแรง หรือหากกิ่งไม่งอกก็จะเกิดการผุที่ปลายและลามไปจนถึงลำต้น ซึ่งอาจเกิดการหักโค่นในอนาคต
“วิธีการที่ถูกต้องคือตัดชิดคอกิ่ง เหลือกระเปาะที่สะสมอาหารไว้ เพื่อให้แผลของต้นไม้ปิดสนิทเอง ลดการผุเป็นโพรงจากเชื้อราและแมลง ส่วนเวลาที่เหมาะสมต้องประเมินตามชนิดของต้นไม้และสภาพอากาศ”
นอกจากนี้ การรู้วัตถุประสงค์ของการตัดแต่งต้นไม้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากต้องการลดความสูงก็ให้ตัดเพียงกิ่งแนวตั้ง แต่เก็บกิ่งด้านข้างไว้เพื่อแผ่ร่มเงา ขณะเดียวกัน หากไม่ต้องการให้แผ่กว้างก็ตัดเพียงกิ่งแนวนอนเท่านั้น ซึ่งเมื่อรุกขกรประเมินความเสี่ยงแล้ว ต้นไม้บางต้นอาจต้องตัดแค่กิ่งเดียว
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะไม่เห็นต้นไม้หัวกุดให้รำคาญใจอีกต่อไป ทั้งค่าบำรุงรักษาในแต่ละปีก็น้อยลง เนื่องจากต้นไม้จะเติบโตตามโครงสร้างที่ถูกตัดแต่งไว้ก่อนหน้า
ถึงอย่างนั้น ปัญหาที่สังคมเมืองต้องเผชิญกลับไม่ใช่แค่การตัดแต่งที่ผิดวิธี หรือการตัดให้เสร็จๆ ไปจนกลายเป็นปัญหาระยะยาว แต่ยังรวมถึงการคัดเลือกพันธุ์ที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างต้นไม้ที่สูงชนเสาไฟ หากต้นไหนทยอยตายก็ควรเปลี่ยนพันธุ์ใหม่ให้เตี้ยลง ซึ่งฟางแนะนำให้ทุกคนเลือกต้นไม้ตามวัตถุประสงค์ โดยคำนึงถึงขนาดพื้นที่ สิ่งแวดล้อมในการปลูก และดินที่เหมาะกับการเจริญเติบโต เช่น บ้านมีพื้นที่น้อยและต้องการต้นไม้ที่ดักจับฝุ่น ก็อาจปลูกสวนแนวตัั้งหรือใช้ไม้เลื้อยที่มีใบเล็ก มีขนหรือมีความเหนียวที่ใบเพื่อกักเก็บฝุ่น เป็นต้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่ฟางและ BIG Trees Project พยายามส่งเสริม คือทัศนคติและความเข้าใจที่มีต่อการตัดแต่งต้นไม้ของบุคคลทั่วไป โดยพวกเขาใช้การอบรมรุกขกรรมขั้นต้น เพื่อทำให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของการตัดแต่งต้นไม้ และมองรถตัดต้นไม้บนท้องถนนไปไกลกว่าสาเหตุที่ทำให้รถติด เพราะนั่นคือหนึ่งในการสร้างสิ่งแวดล้อมของเมืองที่ยั่งยืน โดยเธอเชื่อว่า ถึงผู้เข้าร่วมการอบรบจะปีนหรือตัดต้นไม้ไม่เป็น แต่อย่างน้อยพวกเขาก็สามารถบอกคนตัดได้ว่า ตัดแบบไหนจึงจะถูกต้องเหมาะสม
“ไม่ต้องเริ่มจากที่ไหนไกล แค่ดูแลต้นไม้หน้าบ้านของตนเองให้ถูกต้อง หรือลองไปแนะนำคนที่มาตัดต้นไม้ ถ้าสร้างการรับรู้ได้มากขึ้น เรื่องต้นไม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เราสามารถมีเมืองที่ทิวทัศน์ดี ปลอดภัย และดีต่อสิ่งแวดล้อมได้
“นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกทม. การรักษาดูแลต้นไม้เก่าที่มีก็จำเป็น ต้องร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ไม่ว่าจะในเชิงนโยบายหรือการปฏิบัติ เพราะนโยบายจะต้องเอื้ออำนวยต่อการทำงาน คนทำงานก็ต้องพัฒนาทักษะ และประชาชนก็ต้องรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย”
หากทุกภาคส่วนเข้าใจและเดินหน้าไปด้วยกัน ฟางเชื่อว่าอนาคตจะไม่มีถดถอย มีแต่ดีขึ้นกว่าเก่า เพราะในวันนี้ ทุกคนสามารถรับผิดชอบได้ทั้งต้นไม้ของตนเองและต้นไม้ของส่วนรวม จนกว่าเมืองสีเขียวในอุดมคติที่ทุกคนอยากได้จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต
และถ้าอยากจะติดต่อรุกขกรเพื่อให้ช่วยตัดแต่งต้นไม้ในเขตที่อยู่อาศัยของตัวเอง หรือแม้กระทั่งในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้มีความปลอดภัย และให้เติบโตในสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ได้อย่างยั่งยืน สามารถติดต่อได้ที่ www.bigtreesthai.com/th/contact-us.html
ภาพ:
ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, Big Trees Project