ในช่วงก่อนเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ถ้าได้ติดตามเรื่องราวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง บางคนอาจจะเคยเห็นภาพผู้สมัครผู้ว่าฯ ขี่จักรยานตามถนนหนทางบางช่วงในกรุงเทพมหานคร เพื่อทำความเข้าใจหัวอกของคนใช้จักรยานในเมืองหลวงแห่งนี้ ว่าเขามีชีวิตกันอย่างไร
เพราะหากจะพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว ยังมีคนอยู่อีกจำนวนไม่มากน้อยที่เราอาจไม่ค่อยได้พบเห็น ใช้จักรยานเป็นพาหนะสัญจรในเมือง ทั้งในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย ไปจนถึงกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของเมือง โดยเฉพาะเรื่องอากาศ และอยากจะช่วยลดมลพิษด้วยการขอไม่เป็นหนึ่งในผู้ก่อมลพิษ เลยหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางในระยะทางที่ไม่ไกลเกินกำลังขาสู้ไหว
หนึ่งในนั้นคือ โจ้-ชัยยุทธ โล่ธุวาชัย จักรยานแมนที่เลือกใช้จักรยานเดินทางในเมืองแทนการใช้รถยนต์ ทั้งใช้ซื้อของละแวกบ้าน ใช้เดินทางไปทำงานจากบ้านย่านนวมินทร์ไปยังอาคารตลาดหลักทรัพย์ที่รัชดา และพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะทำให้คนเห็นว่าการเปลี่ยนมาใช้จักรยานแทนรถยนต์นั้นดีแค่ไหน
ทั้งทำชมรมจักรยานตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลักดันจนเกิดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนใช้จักรยานในอาคารตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็น Green Building ทำรายการ Bike 101 ออกอากาศทางวิทยุ ทำเพจ Bike in the City ปั่นรักษ์พิทักษ์เมือง ร่วมกับพงศธร ละเอียดอ่อน เพื่อนอีกคนที่ชอบจักรยานสุดขั้วใจ
มากไปกว่านั้น เขาถึงกับทำโรงเรียนสอนปั่นจักรยานให้กับคนทั่วไป เพื่อพอกพูนทักษะให้พร้อมใช้ลงถนนได้จริง และทำงานร่วมกับสำนักการจราจรและงานขนส่ง กรุงเทพมหานคร เพื่อหาหนทางให้จักรยานได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งบนท้องถนน…
ความตั้งใจของชัยยุทธไม่ใช่เพิ่งเริ่ม แต่มันเกิดขึ้นมานานแล้วนับสิบปี ขี่ผ่านช่วงกระแสบูมของจักรยาน จนถึงวันที่โรยหายไป แต่เขายังคงอยู่กับมัน ท่ามกลางดราม่าเห็นต่างที่เกิดขึ้นเสมออย่างไม่ถอดใจไปไหน
และเขาคนนี้เอง คือคนที่ติดต่อชักชวนผู้สมัครผู้ว่าฯ เหล่านั้นลองมาขี่จักรยานกันดู แน่ละว่าย่อมมีทั้งมาบ้าง ไม่มาบ้าง ตามความสนใจและการให้ความสำคัญอันเป็นนานาจิตตัง ถึงอย่างนั้นโจ้ก็ยังหวังจะเห็นผู้ว่าฯ คนใหม่เปิดใจและเปิดพื้นที่ให้คนจักรยาน หรือหากสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้น เขาก็มีแผนอยู่ในใจว่าจะไปต่อ ด้วยกำลังของเขาและพวกพ้อง ที่อยากเห็นเมืองเป็นมิตรกับจักรยานมากขึ้น และดึงพฤติกรรมการสร้างมลพิษจากตัวเองให้ลดลง
“จักรยานมันมีจุดขายบางอย่างที่พาไปสู่เรื่องอื่นได้ มันพาไปสู่การสร้างชีวิตในรูปแบบอื่น ทั้งเรื่องสุขภาพ การกินอยู่ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอากาศ เราให้จักรยานเป็นตัวชวนคนมาจอย แล้วค่อยไปให้ความรู้ลึกๆ เราเลยอยากทำเบื้องหลังอะไรบางอย่างเพื่อให้คนมาขี่ได้จริงๆ แต่ไม่อยากทำกิจกรรมแบบชวนคนมาปั่นมากมายนัก เพราะเราก็ยอมรับว่าการขี่จักรยานมันเป็นเรื่องอันตราย เราจึงทำเพจโลกสวยให้เขาเห็นว่าขี่จักรยานมันดี แต่เวลาชวนคนมาขี่เราได้เตรียมทุกอย่างไว้จนคุณขี่ได้อย่างปลอดภัย เรามีวิธีที่จะ protect คุณ ถ้ารถจะชนคุณมันชนผมก่อนแน่ แต่ผมรู้วิธีการที่จะทำให้รถไม่ชน”
ก็เพราะการเดินทางแบบนี้ที่ทำให้เขาเห็นรายละเอียดของเมืองได้ชัดขึ้น “ทำไมกรุงเทพฯ แดดร้อนจังเลย ทำไมต้นไม้ไม่มี ทำไมรถมันติด ทำไมควันดำ ทำไมคลองมันเหม็น การรับรู้เรื่องพวกนี้มันเข้ามาโดยปริยาย การขี่เพื่อใช้งานแบบนี้ มันจะหล่อหลอมวิถีของคนที่ใส่ใจการพัฒนาเมือง คุณจะอยากปลูกต้นไม้ คุณจะอยากดูแลคลอง คุณจะเบื่อควันรถ คุณจะเบื่อการขับรถเข้าห้าง คุณจะรู้สึกว่าชีวิตมันง่าย คุณจะเลือกกินอาหารอย่างดีขึ้น เพราะคุณต้องดูแลตัวเอง
“เราเชื่อเลยว่าจักรยานมันเปลี่ยนคนและเปลี่ยนโลกได้ ถ้าเมืองนี้เกิดการใช้จักรยานจำนวนมากในเมือง โอเคว่าช่วงแรกโกลาหลแน่นอน เอาง่ายๆ ทางจักรยานเลียบด่วนที่เราเห็น ใช้กันสักร้อยคันก็วุ่นวายแล้ว แต่ความวุ่นวายจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แล้วพอมันเริ่มเป็นเรื่องปกติของชีวิต อีกหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลง ถ้าคนขับรถมาขี่จักรยานเพิ่มได้อีก ก็จะทำให้จำนวนรถลดลงไป”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้รถยนต์สันดาปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดมลพิษทางอากาศ ในวันที่คนกรุงเทพฯ ตื่นตระหนกกับค่าฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งสูงจนเกิดผลกระทบชัดเจนเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน และต่อเนื่องจนเป็นเหตุการณ์ประจำปีในปีถัดๆ มา ชัยยุทธยังยืนยันที่จะขี่จักรยานแม้วันที่ฝุ่นคลุมครอบเมืองเอาไว้ ด้วยเหตุผลว่า
“ถ้าเราขับรถ เราก็เป็นต้นเหตุหนึ่งของฝุ่น แต่เราไม่อยากเป็นต้นเหตุนั้น เราก็เลยอยากชวนคนอื่น ลองสิ ลองดู มันทำได้ไม่ยากถ้าคุณเดินทางในระยะใกล้ แต่ถ้าต้องวันละ 10-20 กิโลฯ ก็เข้าใจได้ คุณก็ขับรถไป แต่ถ้ามันไม่ไกลเราก็จะบอกเพื่อนว่าไม่ต้องขับรถมาหรอก เดินมา ขี่จักรยานมา คุณทำได้ ถ้าเรายังใช้รถตลอดแบบนี้ เราก็ต้องสูดอากาศแบบนี้ ฝุ่น PM2.5 ทำให้เรามีเหตุผลที่ดีกว่าในการไม่ขับรถในเมือง”
ย้อนกลับไปราวสิบปีก่อน กระแสจักรยานในเมืองไทยเคยจุดติด เกิดพื้นที่ให้คนใช้จักรยานได้ออกมาปั่นทั้งแบบพื้นที่ปิดและพื้นที่สาธารณะ ถนนถูกตีเส้นแบ่งให้เป็นเลนจักรยาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของบ้านเรายังอยู่ไกลจากการขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัย ท้ายที่สุดแล้วประชากรจักรยานที่เกิดใหม่ในตอนนั้นก็ค่อยๆ ลดลง ถึงอย่างนั้นชัยยุทธไม่ได้มองว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและดับไปเป็นเรื่องน่าเสียดาย
“ถ้าคิดให้ดี เพราะมีวันนั้น เราถึงได้มีวันนี้ไง แม้แต่การที่มีคนออกมาบอกว่าทางจักรยานเกาะรัตนโกสินทร์เป็นเรื่องเสียเปล่า แต่สำหรับผมไม่เลยนะ เป็น 50 ล้านที่สื่อให้คนรู้ว่า ทางจักรยานมันต้องไม่ใช่แบบนี้ ทางจักรยานมันมีปัญหาแบบนี้ โจษจันยันวันนี้ว่าอย่าทำแบบนั้นอีก
“แต่การที่คนจะบอกว่า กรุงเทพฯ กับจักรยานเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันก็น่าเข้าใจเขานะ ด้วยบริบทในชีวิตเขาแตกต่างจากเรา ที่ทำงานเขาไม่ได้อำนวยความสะดวก เขาไม่ได้ทำงานแบบที่เราทำ และเขาไม่ได้มีข้อมูลแบบที่เรามี เขาไม่เคยลอง เขาไม่ได้ขี่ คนที่ขี่เกินครึ่งพอได้ลองแล้วเขาจะรู้สึกว่ามันได้นี่หว่า
“คำว่าเมืองจักรยานแต่ละคนมีภาพที่คิดต่างกันอยู่แล้ว ถ้าจะเอาแบบเนเธอร์แลนด์เลย ให้ 50 ปีเราก็รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เมืองที่คนขี่จักรยานได้ ใช้ชีวิตจักรยานได้ กรุงเทพฯ ทำได้โดยไม่ต้องเป็นแบบเนเธอร์แลนด์ เพราะผังเมืองเราแก้ไม่ได้ เราไม่สามารถหยุดการใช้รถยนต์ได้ แต่ถ้าเราทำให้เป็นเนเธอร์แลนด์เฉพาะย่าน เช่นเกาะรัตนโกสินทร์ที่เคยถูกกันไม่ให้รถวิ่ง กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแล้วจัดการแบบใหม่”
จากการออกทริปกับผู้สมัครผู้ว่าฯ ขี่ไปตามชุมชนในกรุงเทพฯ ชัยยุทธพบว่ายังมีชุมชนที่ใช้จักรยานกันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เช่น ย่านสามแยกไฟฉาย รัศมีโดยรอบ 3 กิโลเมตร เป็นย่านที่เด็กนักเรียนใช้จักรยานไปโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ผู้คนใช้จักรยานอย่างปกติ แต่ก็รู้เฉพาะเส้นทางที่ใช้อยู่
เพื่อการใช้งานที่ไปได้ไกลขึ้น ข้อมูลเส้นทางจึงควรต้องมี ทำให้เขามีแผนที่จะเชื่อมกับหน่วยงานเพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางที่คนทั่วไปได้รู้ด้วย “อาจารย์ธงชัย พันธุ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเราบอกว่า การจะทำเมืองจักรยานให้สำเร็จ ต้องทำตรงที่มีคนใช้จักรยานอยู่”
“บ้านเรามีประชากรที่ใช้งานจักรยานอยู่เยอะ แต่มันไม่มีตัวเลขที่เป็นข้อมูลจริงที่สามารถหาผ่านระบบทางการได้ ซึ่งเราเห็นทุกวัน หรือถ้าต้องอนุมานจากการขายจักรยานแม่บ้าน ปีหนึ่งขายได้หลักล้านนะ นั่นแปลว่ามีคนซื้อเอาไปใช้ หรือดูง่ายๆ ว่าทุกบ้านต้องมีรถจักรยานคันหนึ่ง ขี่ไม่ขี่ไม่รู้ แต่มันต้องมีอยู่”
แนวทางที่เขานำเสนอต่ออนาคตของผู้บริหารกทม. เป็นสิ่งที่เขาออกแบบจากประสบการณ์การใช้จริง
“มันมีปัจจัยหลายเรื่องที่ทำแล้วจักรยานจะเกิดได้ แต่ต้องทำไปพร้อมๆ กันนะ ไม่ใช่ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คืออำนวยความสะดวกในเรื่องที่จอดที่ดีและปลอดภัย กทม.ลงทุนหน่อยเถอะ เรามีโมเดลของรถไฟฟ้าลาดพร้าวที่กำลังจะเสร็จ อนุญาตให้เราทำเรื่องที่จอดบริเวณบนพื้นที่ขึ้นลงรถไฟฟ้า เราคุยกับสำนักการจราจรและขนส่ง ออกแบบรอไว้ ถึงเวลาของบมา แต่ละที่ขอที่จอดสัก 50 คัน ทำให้ดูดีแล้วกระจายให้ทั่วเมือง เพราะที่จอดคือปัจจัยสำคัญให้คนอยากใช้จักรยาน
“มีเรื่องของการทำ route บอกเส้นทาง เส้นไหนไปอย่างไร จักรยานเช่าทำยังไง หรือเราขยายปันปั่นไหม เรื่องราคาจักรยาน ภาษีต่างๆ หรือเรื่องกฎหมาย ไม่ได้เป็นอำนาจ กทม. แต่ กทม. อำนวยความสะดวกในการเจรจา แล้วภาพฝันคือกรุงเทพฯ มีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง อาจจะเป็นในหน่วยงานหนึ่งของ กทม. หรือเป็นเอกชน
“แต่ถ้าที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดตามครรลอง เราก็คิดว่าจะทำเอง ทำเป็นบริษัทจดทะเบียน เป็นโมเดลแบบที่พี่โหน่ง วงศ์ทนง ทำนิตยสาร a day เรามีไฟที่จะทำ และรู้สึกว่าทำได้โดยเงื่อนไข ถ้าเรามีที่จอดจักรยานที่ดีและปลอดภัย อย่างอื่นจะเกิดตามมา
“จักรยานไปได้ในทุกที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นต้องมีทางเฉพาะ ทำให้เกิดการยอมรับว่ามีจักรยานอยู่บนถนนได้ อยู่ในเมืองนี้ได้ แล้วจักรยานจะพาเราไปสู่เรื่องอื่น เช่น ขี่ริมคลองแล้วสภาพคลองมันแย่ เขาจะนึกอยากทำอะไรเพื่อรักษาคลอง”
ที่มาข้อมูล:
https://web.facebook.com/BikeintheCityWeSavetheCity