“เราไม่เคยคิดเลยว่าโรงเรียนจะต้องหยุดเพราะ PM2.5 ตอนที่มีประกาศหยุดโรงเรียนใน กทม.ทั้งหมด มันเป็นเรื่องอเมซิ่ง เกิดมาเราไม่เคยเจอเรื่องพวกนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราไม่เคยคาดคิด” กัส-จิรกิตติ์ เหมหิรัญ เล่าถึงความรู้สึกในวันที่กรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหาฝุ่นอย่างชัดเจนเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น หากสังเกตดีๆ จะรู้ว่ากรุงเทพฯ ตกอยู่ในกลุ่มฝุ่นควันมานานแล้ว ยิ่งหากมองในระยะไกลจากที่สูง จะเห็นควันสีหม่นปกคลุมเราอยู่
…ทว่าเราไม่เคยตระหนัก กว่าจะรู้ตัวกันชัดก็เป็นวันที่ค่าฝุ่นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน และกลับมาเป็นปัญหาให้ผู้คนทุกปีในช่วงหน้าแล้งที่สภาพอากาศปิด เราเห็นการแก้ปัญหาแบบฉุกเฉินเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เรื่องฝุ่นควันก็แทบจะหายไปจากการพูดถึง และวนกลับมาตื่นตัวใหม่ในวันที่ฝุ่นกลับมาอีก
แต่ท่ามกลางปัญหาฝุ่นที่ถูกกลืนหายไปจากการรับรู้ ยังมีผู้คนอีกหลายหน่วยงานและหลายองค์กร ที่กำลังผลักดันการแก้ปัญหาให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นความหวังให้เห็นเป็นปลายทาง ว่าวันหนึ่งคนเมืองจะได้กลับมามีอากาศสะอาด พอที่จะหายใจได้อย่างไม่ต้องเป็นกังวลอีก
ในเวิร์กช็อป PM2.5 ของ 1BlueSky ภายใต้โครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เลขาธิการสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศคนนี้ เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมระดมความคิดที่อายุน้อยที่สุดคือ 23 ปี และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เสียงของตัวแทนเยาวชนคนหนึ่งนั้นมีความหมาย ในการหาแนวทางและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเมือง
“สภาเด็กและเยาวชนฯ เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ประเทศที่เซ็นอนุสัญญานี้จะต้องมีสภาเด็กและเยาวชนฯ โดยมีงบประมาณของรัฐรองรับ เราจะมีสภาเด็กอยู่ในทุกจังหวัด และมีสภาประเทศซึ่งกัสเป็นเลขาธิการอยู่ตอนนี้
“เวลาที่กระทรวง ทบวง กรม จะมีการประชุมพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน หรือออกกฎหมาย เขาจะเชิญสภาเด็กและเยาวชนฯ เข้าไปร่วมสะท้อนมุมมอง ซึ่งแต่ละการประชุมเราจะคัดเลือกตัวแทนที่มีความรู้และความสามารถในด้านนั้นไปเข้าร่วม
“เสียงสะท้อนของเรามีความต่างจากเสียงของผู้ใหญ่อยู่ค่อนข้างเยอะ เพราะในปัญหาต่างๆ ถ้าให้ผู้ใหญ่สะท้อนในมุมของเด็ก เขาจะสะท้อนไม่ได้ถึงแม้เขาจะเคยผ่านวัยเด็กมาก็ตาม เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าในที่ประชุมหนึ่งร้อยคน มีเด็กอยู่ในนั้นสักเพียงหนึ่งคน ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีการสะท้อนมุมมองและความต้องการของเด็กและเยาวชนออกไปเลย อย่างน้อยเราอาจจะเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของกฎหมายฉบับหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีเด็กและเยาวชนร่วมแสดงความเห็นเลย กฎหมายนั้นอาจไม่ตอบสนองต่อเด็กและเยาวชนได้จริง”
ในช่วงวัยแห่งการเติบโต กัสมีโอกาสทำงานอยู่ในสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ยังเรียนมัธยมปลาย เว้นวรรคในช่วงต้นของการเรียนมหาวิทยาลัย และกลับเข้าทำงานในสภาเด็กและเยาวชนฯ อีกครั้ง ขณะเรียนชั้นปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยสยาม โดยมีสถานะประธานนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอยู่ด้วย ในตอนนั้นเองที่เขาได้เข้ามาเรียนรู้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แม้จะเป็นการลองผิดลองถูก เพราะเรื่องฝุ่นเป็นปัญหาใหม่ที่แม้แต่รัฐเองก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกในขณะนั้น
และเมื่อคลี่ภาพการแก้ปัญหาของเขาและเพื่อนมหาวิทยาลัยออกมาดู เราเห็นว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ครบวงจรทั้งเรื่องดิน น้ำ อากาศ โดยมีพลังงานสะอาดเข้ามาเป็นตัวหนุน และมีความร่วมมือของชุมชนเข้ามาเป็นกำลังเสริม จนท้ายที่สุด โมเดลการแก้ปัญหานี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการแข่งขันของ SUN Thailand หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย
“ตอนนั้นค่าฝุ่นเขตภาษีเจริญติดอันดับท็อปไฟว์ทุกวัน บางวันขึ้นไปอันดับหนึ่งอันดับสองของกรุงเทพ ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นเพราะตรงนั้นไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม เราเลยทำโครงการสั้นๆ ด้วยการติดสปริงเกอร์พ่นน้ำโดยใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับเอกชน ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารมาอยู่ก่อนแล้ว
“แต่การจะใช้น้ำประปามาพ่นทั้งวันค่าน้ำก็จะแพงมาก โชคดีว่าก่อนหน้าที่จะทำเรื่องนี้กัน รุ่นพี่ซึ่งเป็นนายกสโมสรนักศึกษา เขาทำเรื่องบำบัดน้ำเสียในลำประโดง ซึ่งเป็นคลองเล็กๆ หลังมหาวิทยาลัยมาอยู่ก่อนแล้ว เริ่มจากเขาทำที่ดักขยะ และปลูกต้นไม้ที่สามารถเติบโตในน้ำเสียได้เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสีย แต่ตอนหลังน้ำกลับมาดำเพราะไหลเวียนไม่ดี เราก็ระดมแรงกันกับสำนักระบายน้ำและสำนักโยธา ของกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่เขต นักศึกษา ไปขุดลอกคลองกัน จนน้ำไหลเวียนได้ดี
“ส่วนน้ำที่เสียเราทำให้คุณภาพดีขึ้นโดยใช้น้ำหมักอีเอ็มช่วยย่อยสลาย ได้พื้นที่ที่อนุเคราะห์จากชุมชนในการเอาวัชพืชไปทำน้ำหมัก ทำแล้วใส่ขวดแจกชาวบ้านไปใช้ด้วย ชาวบ้านเอาไปใช้ก็ชอบใจเพราะท่อไม่ตัน ประกอบกับตอนนั้นคณะพยาบาลของมหาวิทยาลับ ซึ่งทำงานกับเครือโรงพยาบาลธนบุรี ก็เสนอให้เอาขวดน้ำเกลือซึ่งมีอยู่เยอะมาก มาใส่น้ำหมักแขวนตามลำประโดงเพื่อให้น้ำหยดลงไป ชาวบ้านก็ช่วยแขวนด้วย ซึ่งพอเราวัดค่าน้ำจากก่อนใช้น้ำหมักกับหลังใช้น้ำหมัก เราเห็นว่าค่าน้ำดีขึ้น
“พอน้ำในลำประโดงสะอาด เราก็มีเหตุให้ต้องทำเรื่องฝุ่นในมหาวิทยาลัยพอดี ตอนนั้นคณะวิศวฯ เขาทำบ่อบำบัดน้ำเพื่อเอาน้ำมาพักไว้แล้วใช้รดต้นไม้ โดยทำให้น้ำใส ไม่มีกลิ่น โดนตัวแล้วไม่เป็นอะไร เราก็เอาน้ำจากบ่อพักนี้มาใช้กับสปริงเกอร์ พ่นรอบมหาวิทยาลัยและหน้ามหาวิทยาลัย และติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นเล็กๆ เอาไว้
“เราตอบได้ไม่ชัดว่าการพ่นน้ำเพื่อลดฝุ่นมันลดได้จริงมั้ย แต่พอเราฉีดน้ำแล้วค่าฝุ่นมันลดลงได้จริง อย่างที่เคยขึ้นไป 140 กว่า ฉีดสักพักมันลดลงเหลือประมาณ 70 ผมคิดว่าก็อาจจะลดได้บริเวณที่มีการฉีดพ่น แต่ไม่ได้ทำให้ลดได้ในภาพรวม นั่นเป็นสิ่งที่ผมกับเพื่อนๆ ได้ทำในตอนนั้น”
ปัจจุบันนี้กัสเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่เขายังคงทำงานกับสภาเด็กและเยาวชนฯ อยู่เช่นเดิม และเป็นการทำแบบเต็มตัว กัสรักงานนี้เพราะมันเปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมที่เขาสนใจมาตั้งแต่ต้น โดยมีโอกาสขับเคลื่อนในระดับประเทศ ที่นอกจากงานด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีเรื่องสิทธิเด็กและเยาวชน การศึกษา ฯลฯ ซึ่งทุกเรื่องล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชน
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ เราโฟกัสที่เรื่องน้ำ เรื่อง PM2.5 สภาพอากาศ สภาเด็กและเยาวชนฯ เคยได้ทำงานร่วมกับสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการให้ความรู้เรื่องการไม่เผา จากที่ได้รับฟังมา เราได้รู้ว่าโซเชียลมีอิทธิพลมาก หากพื้นที่ไหนมีการเผาและถูกเผยแพร่ลงโซเชียล จะเกิดการตื่นตัวในพื้นที่ทันที ฝุ่นที่ลดลงในพื้นที่จึงมาจากเหตุผลนี้ด้วย
“แต่ถ้าจะเอาพลังของโซเชียลมาใช้กับในกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการขยับเรื่องนี้ สิ่งที่ผมกลัวคือ สมมติว่าแม้ข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอลงโซเชียลแล้วจะเกิดการบิดพลิ้วของข้อมูล เพราะมีคนไม่รู้ข้อมูลจริงมาแสดงความคิดเห็น หรือทำให้คนทำงานจริงเสียความรู้สึก เพราะมีแรงต้าน
“อย่างถ้าเราคุยกันเรื่องปัญหา PM2.5 มาจากจราจร เราจะแก้ไขด้วยการเปลี่ยนไปใช้รถอีวี (รถยนต์พลังงานไฟฟ้า) หรืออะไรก็ตาม ก็จะยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามถึงรถเก่าที่ใช้อยู่ ถ้าส่งเสริมอีวีแลมีการสนับสนุนเรื่องทุนยังไง หรือเรื่องกรุงเทพฯ ไม่มีรับรองว่ารถเก่าใช้ได้กี่ปี ควรเลิกใช้เมื่อไร ขณะเดียวกันก็มีรถเก่าแต่สภาพใหม่เยอะมาก แล้วเขายังขับได้อยู่
“บางคนมีข้อจำกัดเรื่องงบไม่พอที่จะซื้อมือหนึ่ง พอซื้อมือสองมาใช้ก็เจอผลกระทบอื่นตามมา เช่น เปลืองเชื้อเพลิง มีควันเสีย เพราะรถรุ่นเหล่านั้นยังไม่มีนวัตกรรมแบบที่ตอนนี้มี กระทั่งเราเคยสะท้อนกันเรื่องปรับเปลี่ยนรถสาธารณะเป็นอีวี ก็จะเจอกับปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งพอต่างคนต่างความคิด ก็จะเกิดแรงต้านที่กระทบกันหมด
“การแก้ปัญหาฝุ่นเราไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่เราต้องเริ่มต้นร่วมกัน การปลูกต้นไม้ล้านต้นอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้ช่วยลดฝุ่นแต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ตอนนี้เรายังไม่มีองค์กรภาครัฐที่ออกมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างเช่นเรื่องลดควันดำ ตรวจจับควันดำ เราอยากเห็น action ที่ทำพร้อมกันทั้งหมดเพื่อแก้ที่ต้นเหตุ ที่ผ่านมาเราเคยมีการพยายามควบคุมการปล่อยควันเสียของโรงงาน สุดท้ายพอเรื่องเงียบก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม”
มุมมองเช่นนี้ กัสได้สะท้อนออกไปเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่นเดียวกับมุมของการใช้โซเชียลให้เป็นประโยชน์ ที่เขาอยากเห็นการเสนอข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเรียลไทม์ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและตระหนัก
“ความตระหนักเป็นสารตั้งต้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การแก้ปัญหาต้องเกิดจากความร่วมมือของคนที่เห็นประเด็นคล้ายกัน การเข้าร่วมเวิร์กช็อป PM2.5 ทำให้ผมได้เห็นว่าโจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก บางอย่างเป็นเรื่องที่เราไม่คาดคิด”
เมื่อถามถึงการสะท้อนเสียงของเด็กและเยาวชนในเรื่อง PM2.5 สู่ระดับนโยบาย กัสให้ความเห็นว่า “ตอนนี้ผู้ใหญ่ยังคงมองเรื่องโควิดและน้ำท่วมเป็นหลัก ยังไม่มีใครมองเรื่อง PM2.5 แต่ถ้าในมุมผม ผมอยากให้ทุกคนมีความตื่นตัวตลอดเวลา ไม่ใช่ฝุ่นมาถึงจะตระหนักและตื่นตัว
“ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกไม่น้อยที่พยายามผลักดันเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ นักศึกษา คนทั่วไป แต่ก็ยังนับว่าน้อยในการที่จะส่งเสียงหรือเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักร่วมกัน ผมเองก็อยากสะท้อนไปถึงผู้ใหญ่ ให้ส่งเสียงและผลักดันไปให้ได้ไกลกว่านี้ ไม่ว่าจะเรื่อง PM2.5 สภาพภูมิอากาศ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ผลักดันแต่เรื่องแจกเงินหรือรถไฟ คือการลงทุนเหล่านั้นอาจจะได้อะไรกลับมามากกว่าการทำเรื่องฝุ่น แต่ผมว่า PM2.5 เป็นเรื่องที่มีผลกระทบรอบด้าน ที่เราไม่ควรมองข้ามมันไป
ล่าสุดกัสได้มีโอกาสเข้าร่วมงานด้านสิ่งแวดล้อมกับกรุงเทพมหานครด้วย เขาเล่าถึงบทบาทของสภาเด็กและเยาวชนฯ ที่จะมีหน้าที่เชื่อมประสานกับหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
“เราจะเข้าไปเป็นตัวประสาน โดยมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงฝุ่น เข้าไปพูดคุย และมีข้อตกลงร่วมกัน ในเดือนกันยายนซึ่งมีวันเยาวชนแห่งชาติ พี่ศานนท์ (ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม) ให้เรานำประเด็นนี้เข้าไปเสนอ โดยจะรับฟังแล้วเอาไอเดียจากเด็กไปพัฒนา แต่แผนของเราก็ต้องชัดเจนด้วย ซึ่งตอนนี้ทีมสภาเด็กและเยาวชนก็มีหลายเรื่องที่เตรียมกันอยู่ โดยเน้นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามา และอื่นๆ ด้วย”
แม้ว่ากัสจะมีโอกาสทำงานกับสภาเด็กและเยาวชนฯ อีกสองปี เพราะเมื่ออายุเกิน 25 เขาจะพ้นจากสถานะของเยาวชนสู่ผู้ใหญ่เต็มตัว ถึงอย่างนั้นเขาก็ยืนยันที่จะทำงานขับเคลื่อนเรื่องฝุ่น เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องอื่นๆ ที่เขาสนใจต่อไป เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับอนาคตของพวกเขาอย่างไม่มีข้อหลีกเลี่ยง