เทียบกับปีที่มาในช่วงเวลาเดียวกัน ดูเหมือนว่าปีนี้ปริมาณฝุ่น PM2.5 มีปริมาณลดลง ที่อาจจะมาด้วยหลายเหตุปัจจัย บางวันเราเห็นว่าค่าฝุ่นขึ้นตัวเลขเป็นแถบสีเขียว แต่บางวันก็เปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดงที่ไม่ดีต่อสุขภาพในแบบข้ามวัน และถึงแม้ค่าเฉลี่ยรายปีจะมีแนวโน้มลดลงในภาพรวม แต่จากการศึกษาโดย Health Effects Institute และคณะ (2565) พบว่าผลกระทบต่อสุขภาพยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอยู่
เราจึงได้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาการเกิดฝุ่น PM2.5 จากภาคการขนส่งทางถนนที่มาจากรถที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก เช่นล่าสุดนี้ก็ได้มีการเสนอการขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากภาคการขนส่งทางถนนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผ่านสมุดปกขาวที่ได้ผ่านการพัฒนาร่วมกัน ภายใต้การระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาพส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ในวันที่ 28 กันยายน 2554 และ 11 มกราคม 2565
สมุดปกขาวเล่มนี้ ได้นำเสนอแนวทางการลดฝุ่นแบบบูรณาการ 7 แนวทาง โดยมีที่มาจากการทำการประเมินผลกระทบสุขภาพ และต้นทุนทางสุขภาพของแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นจากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ (กรมควบคุมมลพิษ, 2561) ซึ่งได้นำเสนอผ่านงานสัมมนาเรื่อง ‘แนวทางการลดฝุ่น PM2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพจากภาคการขนส่งทางถนน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล’ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีภาคีเครือข่ายความร่วมมืออย่าง ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แนวทางที่ 1
การกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษ เช่น การนำมาตรฐานเครื่องยนต์ยูโร 5 มาใช้ ซึ่งปัจจุบันได้มีมติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ยูโร 5 ภายในปี 2567 โดยมีแนวทางปฏิบัติอย่างการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทนำเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 มาจำหน่ายก่อนกำหนด สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการหันมาใช้เครื่องยนต์ยูโร 5 และลดค่าใช้จ่ายในการนำรถมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและข้อเสนอจากทุกภาคส่วนมาพิจารณาก่อนกำหนดนโยบาย
แนวทางที่ 2
มาตรการการเปลี่ยนหรือปรับปรุงคุณภาพรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานสูง เช่น การปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจ ที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องผลประโยชน์จากการลดภาษี หรือการเพิ่มภาษีและค่าธรรมเนียมในการต่อทะเบียนรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ที่ผู้ออกนโยบายอาจต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปรับอัตราภาษีอย่างก้าวกระโดดจนประชาชนรู้สึกว่าได้รับผลกระทบและเป็นภาระ การเพิ่มระบบในการจัดการรถเก่า เช่น แนวทางกำจัดซากและควบคุมรถเก่า รวมถึงการดัดแปลงรถเก่ามาเป็นรถไฟฟ้า หรือนำรถยนต์เก่ามาแลกรถยนต์ใหม่
แนวทางที่ 3
การติดตั้งอุปกรณ์กรองเขม่าในเครื่องยนต์ดีเซล (Diesel Particulate Filter หรือ DPF) ให้กับรถดีเซลทุกประเภทที่มีมาตรฐานยูโร 3 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษกำลังดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ โดยการบังคับให้มีการติดตั้ง DPF ในรถยนต์ที่ผู้ผลิตไม่ได้ออกแบบมา ควรใช้กับกลุ่มรถที่ควบคุมได้ เช่น รถโดยสาร หรือกลุ่มรถใหญ่ๆ
แนวทางที่ 4
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm ซึ่งมีแผนที่จะเปลี่ยนไปสู่การบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยใช้การผลักดันมาตรการด้านภาษีเพื่อเร่งรัดให้เกิดการผลิตและจำหน่ายน้ำมันชนิดนี้
แนวทางที่ 5
การกำหนดเขตพื้นที่การปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งต้องทำการศึกษาเพื่อหาความคุ้มค่าของการประกาศใช้นโยบายว่า ต้องสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และด้านอื่นๆ ต่อประชาชนอย่างเพียงพอ และรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้การกำหนดนโยบายมีความเหมาะสมกับบริบทการขนส่งในประเทศไทย
แนวทางที่ 6
การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยแนวทางการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ และตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนราคาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าบางส่วน มาตรการการเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าต่ำกว่ารถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพิ่มสถานีชาร์จพลังงานให้ทั่วถึง และสนับสนุนการพัฒนาสถานีให้เพียงพอต่อความต้องการ
แนวทางที่ 7
การใช้รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า ภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางให้เป็นรถไฟฟ้าในปี 2565 มีผลต่อรถโดยสารประจำทาง 13,453 คัน โดยภาครัฐและทุกภาคส่วนต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ทั้งนี้องค์การขนส่งมวลชนมีแผนจะเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้าจำนวน 2,511 คัน พร้อมกับรถที่จ้างของเอกชนอีก 1,500 คัน และจัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก.
ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปโดยย่อของสมุดปกขาว ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องพิจารณาถึงต้นทุนในการดำเนินการและผลกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ที่สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายโดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต