ไม่มีเหตุผลข้อไหนมาโต้แย้ง ว่าการเลือกสัญจรในระยะใกล้ด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานนั้น ดีทั้งต่อร่างกายในแง่ที่เหมือนเป็นการออกกำลังกายเล็กๆ เป็นประจำทุกวัน ในขณะเดียวกันก็ให้ผลดีกับเมือง เพราะการเดินทางด้วยกำลังตัวเองโดยไม่สร้างมลพิษนั้น เท่ากับได้ช่วยลดการเกิดมลภาวะทางอากาศไปในตัว และทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของคนเดินทางกับชุมชุน ที่กระตุ้นเศรษฐกิจขนาดกลางและเล็กได้ ด้วยเกิดการซื้อขายกับร้านเล็กๆ หรือการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
แต่จะทำยังไงดี ในเมื่อบริบทของเมืองช่างไม่เอื้อเอาเสียเลย?
ในงานวิจัยของมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ซึ่งได้ศึกษาหาคำตอบว่าอะไรเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้คนไม่เดินและไม่ปั่น เพื่อจะนำผลการศึกษานี้มาวางแผนส่งเสริมให้เกิดการเดินทางด้วยจักรยานและการเดินเท้าที่เหมาะสมกับเมือง
กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษา เป็นกลุ่มคนที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล ที่มีระยะเดินทางไปจุดหมายไม่เกิน 5 กิโลเมตร เนื่องจากว่าเป็นระยะที่กลุ่มตัวอย่างมีโอกาสเลือกใช้จักรยานและเดินเท้าในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งการศึกษาก็พบว่า ในระยะการเดินทางไม่เกิน 400 เมตร คนเลือกการเดินเท้ามากที่สุด รองลงมาคือใช้จักรยานและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ทั้งนี้ระยะเวลาในการเดินทางด้วยการปั่นจักรยานและการเดินเท้า ที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าสะดวกมากที่สุด คือการเดินทางที่ไม่เกิน 30 นาที โดยมีระยะทางที่สะดวกในการปั่นมากกว่า 5 กิโลเมตร ส่วนระยะการเดินเท้ามากที่สุดโดยประมาณคือ 800 เมตร ถึง 1.5 กิโลเมตร
ถึงแม้จะอยากใช้จักรยานและเดินเท้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าอุปสรรคนั้นมีอยู่ไม่น้อย และเชื่อว่าในคนที่แม้จะไม่ได้ปั่นหรือไม่ได้เดินนัก ล้วนต่างเคยมีประสบการณ์ร่วมกัน ทั้งอุปสรรคแบบรูปธรรม อย่างมีร้านค้าแผงลอยกีดขวางทางเท้า มักมีมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ขึ้นมาวิ่งหรือจอดบนทางเท้า ขาดแคลนร่มเงาที่จะเป็นจุดบังแดดบังฝน มีสุนัจจรจัดเยอะ ไม่มีสัญญาณไฟหรือป้ายจราจรสำหรับจักรยานหรือคนเดินเท้า
หรือหากจะใช้จักรยานก็ยังพบว่าแนวท่อระบายน้ำเป็นตะแกรงที่วางขนานกับแนวล้อ ทำให้ล้อจักรยานเข้าไปติด จักรยานแบบไม่พับขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้ ไม่มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำสาธารณะ
และยังมีอุปสรรคแบบนามธรรม ทั้งการที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่มีการจัดระเบียบผังเมือง ทำให้ยากต่อการวางแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเดินและปั่น ทุกภาคส่วนยังไม่ได้ทำงานแบบบูรณาการเพื่อสนับสนุนการเดินเท้าและใช้จักรยาน การรณรงค์ให้คนหันมาเดินและปั่นขาดความต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนนโยบายหรือแผนงานบ่อยเกินไป ผู้ใช้ถนนบางคนไม่เคารพกฎจราจร การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด และกฎหมายเรื่องจักรยานก็ยังไม่ชัดเจน
รวมไปถึงความรู้สึกส่วนตัวของประชาชนที่มีความกลัว ความกังวล และความเกรงใจ หรือมีทักษะในการปั่นจักรยานไม่มากพอ ทั้งยังมีปัจจัยบางอย่างหรือสถานการณ์ที่ทำให้ไม่อยากปั่นหรือเดินเท้า เช่น สภาพอากาศไม่อำนวย เวลาที่จำกัดและความเร่งรีบ การต้องรักษาภาพลักษณ์ ฯลฯ
จากอุปสรรคที่ทำให้คนไม่พร้อมที่จะเดินเท้าและใช้จักรยาน การศึกษาชิ้นนี้ยังชี้ถึงความต้องการพื้นฐานของประชาชน เป็นต้นว่า อยากให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมให้เกิดการปั่นและการเดินเท้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ เช่น การให้บริการยืม-คืน จักรยานสาธารณะ จัดให้มีรูปแบบการเดินทางที่ไหลลื่นไร้รอยต่อ มีสิ่งอำนวยสะดวกให้คนเดินเท้าและปั่นจักรยานได้ มีจุดแวะพักระยะสั้น มีเส้นทางจักรยานหรือทางเดินเท้าที่ดี มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเดินและปั่น และการเพิ่มทักษะให้ผู้ต้องการเดินทางแบบนี้
ในขณะเดียวกัน การสร้างความรู้สึกปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้ผู้เดินทางทุกคน การปลูกฝังทัศนคติ สร้างการตระหนักและการรับรู้ที่ดีต่อการเดินเท้าและการปั่นจักรยาน ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการสนับสนุนให้เกิดการเดินทางทางเลือกนี้
อุปสรรคและความต้องการพื้นฐานที่ได้จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง นำมาสู่แนวคิด 4 ประการ ในการรณรงค์เพื่อส่งเสริมการปั่นจักรยานและการเดินเท้า คือ แนวคิดการดึงดูด เพื่อเปลี่ยนผู้ที่ไม่เคยปั่นจักรยานหรือเดินเท้า ให้กลายเป็นผู้สนใจอยากมาร่วมกิจกรรมด้านการปั่นจักรยานหรือเดินเท้า
แนวคิดกระบวนการ เปลี่ยนจากผู้สนใจให้กลายเป็นผู้ทดลอง โดยทำให้เขามีโอกาสได้ทดลอง หรือเรียนรู้เรื่องการปั่นจักรยานหรือเดินเท้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้คนเปิดใจกล้าปั่นจักรยานหรือเดินเท้าในชีวิตประจำวันมากขึ้น แนวคิดกระบวนการเปลี่ยนจากผู้ทดลองให้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วม และแนวคิดกระบวนการเปลี่ยนผู้มีส่วนร่วมให้กลายเป็นคนบอกต่อ ชักชวนผู้อื่น เพื่อดึงดูดและกระตุ้นให้คนหันมาใช้การเดินเท้า และใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น
ยังมีเรื่องราวและข้อมูลที่น่าสนใจอีกมากในงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งปรากฏอยู่ใน ‘โครงการจัดทำสมุดปกขาว (white paper): ทำไมคนไทยไม่เดินไม่ปั่นจักรยานเดินทางในชีวิตประจำวัน’ ใครก็ตามที่สนใจเรื่องการพัฒนาเมือง สามารถเข้าไปอ่านรายงานฉบับวิจัยสมบูรณ์ได้ที่ https://t.ly/cGu1
ที่มาข้อมูล:
1. www.facebook.com/ibikeiwalk