เราได้ฟังการนำเสนอแนวคิดการลดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้เอ่ยถึงการนำเอานโยบาย ULEZ มาใช้เป็นแนวทางจัดการฝุ่นควันจากภาคการขนส่ง ว่าหากนำเอาวิธีนี้มาใช้ในเขตเมืองชั้นในได้ จะช่วยลดปริมาณรถและปริมาณฝุ่นจิ๋วเจ้าปัญหาของคนเมืองลงได้
เลยขอทำหน้าที่เป็นแว่นซูมเข้าไปดูวิธีการนี้สักหน่อย โดยยกเอาตัวอย่างการประกาศใช้ ULEZ ในกรุงลอนดอนเมื่อหลายปีที่ผ่านมาให้เห็นภาพกันชัดขึ้นว่า เขาทำกันยังไง และได้ผลแค่ไหนถึงได้มีการประกาศออกมาล่าสุดว่าจะขยายพื้นที่ของ ULEZ ให้ครอบคลุมกว้างขวางออกไปยิ่งกว่าเดิม เพื่อให้ชาวลอนดอนได้มีอากาศที่ดีกว่าเดิมไว้หายใจ
ULEZ นั้นย่อมาจาก Ultra Low Emission Zone หรือเขตการปล่อยมลพิษต่ำมาก ซึ่งได้มีการประกาศใช้ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2019 โดยซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีของลอนดอน เนื่องจากว่าในเวลานั้น คนในลอนดอนกำลังประสบกับปัญหามลพิษในระดับที่เรียกว่า เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จากคุณภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุด ซ้ำมลพิษจากการขนส่งที่แออัดยังส่งผลไปสู่เด็กที่จะต้องเติบโตมาพร้อมกับปอดที่มีลักษณะแคระแกร็น และเสียชีวิตก่อนวันอันควรเกือบ 4,000 รายต่อปี
การออกแบบเขตการปล่อยมลพิษต่ำมาก จึงได้เกิดขึ้นเพื่อให้ชาวลอนดอนเกิดแรงจูงใจลดการใช้งานรถยนต์ที่ยังใช้เครื่องยนต์แบบเก่าและปล่อยมลพิษสูงเกินมาตรฐาน โดยให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ทั้งในมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานยูโร 3 (ผลิตก่อนปี 2007) รถยนต์ที่ใช้เบนซินและรถตู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานยูโร 4 (ผลิตก่อนปี 2006) รถยนต์ดีเซลหรือรถตู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานยูโร 6 (ผลิตก่อนปี 2015)
แต่หากว่ารถประเภทดังกล่าวต้องการจะเดินทางเข้าลอนดอนชั้นใน พวกเขาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมคันละ 12.5 ปอนด์ หรือประมาณ 520 บาทต่อวัน ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ส่วนรถประจำทาง รถโค้ช รถบรรทุก ก็จะต้องผ่านมาตรฐานยูโร 6 หรือสูงกว่า ไม่เช่นนั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 100 ปอนด์ต่อวัน ซึ่งถ้ารถที่ไม่ผ่านมาตรฐานเหล่านี้ไม่ชำระค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด จะต้องถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 160 ปอนด์เลยทีเดียว
นั่นยังไม่ใช่อัตราที่จ่ายแล้วจบ เพราะนอกเหนือไปกว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับรถ แต่เดิมผู้ขับขี่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรถติดในการเข้าพื้นที่ชั้นในที่การจราจรหนาแน่นอีก 11.50 ปอนด์ หรือประมาณ 480 บาท นั่นก็หมายความว่า หากต้องการนำรถที่ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานเข้าเมืองชั้นใน ผู้ขับขี่ต้องจ่ายเงินมากกว่า 1,000 บาท
“เราไม่มีเวลาให้เสียเปล่าอีกแล้ว” ซาดิก ข่าน กล่าวถึงเรื่องนี้ในปาฐกถาพิเศษเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2022 และบอกว่า “เราจำเป็นต้องมีมาตรการที่กล้าหาญ ในการที่จะลดมลพิษทางอากาศและลดความแออัดในเมืองหลวง รวมถึงการจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศในวงกว้าง”
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารเมืองคนนี้ยังมองไปถึงความอยุติธรรมทางสังคม ที่มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ยากจนที่สุด ให้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากที่สุด ขณะที่ชาวลอนดอนเกือบครึ่งเมืองนั้นไม่มีรถ แต่กลับต้องมารับผลกระทบของยานพาหนะที่ก่อมลพิษอย่างไม่มีทางให้หลีกเลี่ยงได้
“เรามักพบว่ามาตรการต่างๆ ล่าช้าไปทั่วโลก เนื่องจากการแก้ปัญหาในเรื่องนี้มักถูกมองว่ายากเกินไป หรือมีข้อติดขัดทางการเมือง แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะรอเวลา ในเมื่อเราสามารถทำสิ่งนี้ได้เลยในลอนดอน”
นโยบายที่นายกเทศมนตรีลอนดอนนำมาใช้เมื่อปี 2019 ภายในเวลา 6 เดือนนั้นก็มีตัวเลขประเมินผลลัพธ์ออกมาว่า ได้ช่วยให้เกิดการลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศลงได้มากถึง 36% และมีการคาดการณ์ว่าภายใน 30 ปี จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคที่เกิดจากมลภาวะทางอากาศได้อีกถึง 1 ล้านคน ซึ่งจะช่วยประหยดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสาธารณสุขได้ 5,000 ล้านปอนด์ หรือราวๆ 2 แสนล้านบาท
ด้วยตัวเลขที่มอบความหวังให้กับอนาคตของลอนดอน ซาดิก ข่าน จึงได้ขยายเขต ULEZ ให้ครอบคลุมเมืองชั้นในมากขึ้นเมื่อปี 2021 และเสนอนโยบายที่นี้ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของเกรเทอร์ลอนดอน (Greater London) ในปี 2023 ถึงตอนนั้นลอนดอนจะมีเขตการปล่อยมลพิษต่ำมากถึง 965 ตารางกิโลเมตร
และเพื่อจะลดการจราจรและการปล่อยมลพิษให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ ลอนดอนยังมีแผนจะดันให้ลอนดอนเป็นเมืองที่เดินได้และขี่จักรยานได้ รวมถึงดึงให้คนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และขับขี่ยวดยานต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายที่เสนอเพิ่มเติมนี้จะต้องผ่านการปรึกษาหารือกับสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประเมินผลกระทบ โดยจะต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมที่ทุกคนจะได้รับเสียก่อน
แน่นอนว่ามาตรการที่เด็ดขาดเหล่านี้ย่อมส่งไปถึงกลุ่มคนผู้ได้รับผลกระทบ แต่ซาดิก ข่าน ก็ผ่านจุดนั้นมาได้ด้วยการเซ็ตมาตรฐานใหม่เพื่อยกระดับอากาศให้เมืองและพลเมืองที่เขาดูแลอยู่ ซึ่งหากเมืองใดประเทศไหนต้องการจะนำไปใช้ก็คงต้องศึกษาผลกระทบกันอย่างถี่ถ้วน เพราะเงื่อนไขของแต่ละเมืองนั้นมีก็มีรายละเอียดที่ต่างกันไปในแต่ละที่
ที่มาข้อมูล:
1. www.bbc.com
2. www.theguardian.com
3. www.london.gov.uk
4.www.c40knowledgehub.org