เราต่างรับรู้กันมาโดยตลอดว่า ต้นไม้นั้นมีแต่ดี ต้นไม้มีส่วนสำคัญในการฟอกอากาศ แต่เราเคยสงสัยไหมว่ากระบวนการฟอกอากาศของต้นไม้นั้นเป็นอย่างไร ต้นไม้ทำแบบไหนถึงได้คืนออกซิเจนดีๆ ออกมาให้เราได้หายใจกัน
ต้นไม้มีกระบวนการสร้างอาหารที่ดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วปล่อยกลับออกมาเป็นก๊าซออกซิเจน โดยในหนึ่งวันต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นสามารถผลิตออกซิเจนให้เพียงพอสำหรับคนได้ถึง 4 คน ทำให้ต้นไม้เป็นเครื่องฟอกอากาศแบบธรรมชาติให้ทุกสรรพชีวิตบนโลก
กระบวนการฟอกอากาศนี้เกิดขึ้นที่ใบไม้ ซึ่งเปรียบเสมือนห้องครัวสร้างอาหารหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เติบโต โดยใช้เครื่องปรุงหลักที่สำคัญคือ แสงแดด น้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
จากนั้นเหล่าเแม่ครัวตัวเขียว หรือที่รู้จักกันในนามคลอโรฟิลล์ (Chlorphyll) จะทำหน้าที่เปลี่ยนองค์ประกอบเหล่านี้ให้เป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อเป็นอาหารให้แก่ต้นไม้ และระหว่างการปรุงอาการก็จะได้ออกซิเจนออกมาด้วย ซึ่งผลพลอยได้ก็คือเกิดกระบวนการฟอกอากาศนั่นเอง เรียกได้ว่าการต้นไม้ได้อิ่ม ส่วนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็ได้อากาศสะอาดอีกด้วย
กระบวนการปรุงอาหารนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis)’ เป็นปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับในคลอโรพลาสต์ (Chloroplast) ในเซลล์ของพืช ซึ่งภายในมีคลอโรฟิลล์เป็นองค์ประกอบ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไฮโดรเจนจากน้ำหรือแหล่งอื่นๆ ให้กลายเป็นสารประกอบประเภทคาร์โบไฮเดรต และมีก๊าซออกซิเจนเกิดขึ้นระหว่างการทำปฏิกิริยาเคมีนี้
ไม่เพียงแต่ต้นไม้จะเป็นเครื่องฟอกอากาศราคาประหยัด แต่ต้นไม้ยังสามารถดูดซับสารพิษในอากาศ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์, แอมโมเนีย. ซัลเฟอร์ ฯลฯ ช่วยดีทอกซ์อากาศของเมืองและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นใบไม้ยังช่วยคายน้ำ ทำให้อุณหภูมิในอากาศเย็นลง ให้ร่มเงา ช่วยดูดซับน้ำบรรเทากรณีน้ำท่วม และช่วยยึดหน้าดินไม่ให้พังทลาย และที่สำคัญ เป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอีกด้วย
และรู้หรือไม่ว่า ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ 2.53 ไร่ สามารถดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการขับรถ 41,843 กิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับการขับรถไปกลับ กรุงเทพ-เชียงใหม่ที่ระยะทางโดยประมาณ 700 กิโลเมตร ได้ถึง 30 รอบเลยทีเดียว
จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะปล่อยแยกพื้นที่เมืองออกจากการเป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยต้นไม้ เพราะยิ่งมีต้นไม้ใหญ่มากเพียงพอเท่าไร ก็จะช่วยให้อากาศของเมืองดีพอต่อการหายใจของผู้คนมากขึ้นเท่านั้น
ที่มาข้อมูล:
1. www.mahidol.ac.th
2. www.mrtreeservices.com