เป็นความจริงอันน่าตกใจว่า ในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ ผู้คนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก (อาจรวมถึงคุณด้วย) กำลังสูดอากาศพิษที่อันตรายเกินเกณฑ์ที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งเจ้าอากาศพิษนี้กำเนิดมาจากหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะโรงงานต่างๆ การเผาวัชพืช หรือจากท่อไอเสียของรถยนต์ แต่ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด ปลายทางก็คือผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง
ยิ่งไปกว่านั้น มลพิษทางอากาศก็ทำให้คนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด และอีกมากมาย แต่นอกจากผลกระทบเรื่องสุขภาพแล้ว มลพิษบางชนิดเช่นคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ยังเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกเมืองทั่วโลกควรหันมาปรับปรุงคุณภาพอากาศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีอยู่ไม่น้อย ที่เมืองใหญ่หลายเมืองได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดโซนมลพิษต่ำ ไปจนถึงการแบนการใช้รถไปเลย
เราขอชวนมาดู 5 เมืองที่กำลังปรับตัวสู่การเป็นเมืองอากาศสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ว่าเมืองเจ๋งๆ ที่ว่านั้น เขาทำกันอย่างไร
ปารีส, ฝรั่งเศส
เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสอย่างปารีส ได้ตัดสินใจแบนไม่ให้รถเข้าไปยังใจกลางเมืองและบริเวณริมแม่น้ำแซน รวมไปถึงการทวงคืนถนนมาเป็นพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อเอื้อการสัญจรของคนเดินเท้าและจักรยาน เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณวิหาร Notre Dam ที่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างปรับปรุง ทางเมืองก็มีแนวคิดที่จะเพิ่มต้นไม้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มสวนหย่อม เพิ่มทางเท้า รวมไปถึงเปลี่ยนที่จอดรถเป็นทางเดินเชื่อมแม่น้ำ
และเนื่องจากว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เมื่อการใช้รถยนต์ลดลง ทางเมืองก็ได้พบข้อมูลว่า ปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ลดตามไปด้วย จึงได้มีความพยายามที่จะรักษาอากาศสะอาดเอาไว้ ด้วยการสนับสนุนการเดินทางแบบไม่ปล่อยมลพิษ โดยให้มีเลนจักรยาน
ซึ่ง Anne Hidalgo นายกเทศมนตรีของเมืองก็ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนปารีสให้เป็นเมืองเดินได้ โดยจะทำให้ผู้คนสามารถเดินไปทำธุระต่างๆ ที่ต้องการได้ภายในระยะ 15 นาที และสิ่งนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายเมืองทั่วโลกทำตามบ้าง บางเมืองก็เป็น 20 หรือ 30 นาที ไม่ว่าจะเป็นบาร์เซโลน่า เมลเบิร์น ลอนดอน ดีทรอยต์ พอร์ตแลนด์ และอีกมากมายหลายเมือง
ทาง Hidalgo เองก็เคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่สามารถวางแผนใดๆ เกี่ยวกับเมืองของเรา โดยเพิกเฉยต่อภาวะโลกร้อนได้แล้ว” ก็เป็นที่น่าจับตาดูว่า นายกเทศมนตรีซึ่งหาเสียงด้วยการปั่นจักรยานผู้นี้ จะสามารถสร้างเมืองดังกล่าวออกมาในรูปแบบใด และจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อเมืองทั่วโลกได้ขนาดไหน
โซล, เกาหลีใต้
ประเทศแห่งเทคโนโลยีอย่างเกาหลีใต้ก็ไม่น้อยหน้า เพราะพวกเขามุ่งหน้าสู่การเป็นเมืองอากาศสะอาดด้วยความก้าวหน้าทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์เพื่อมาเฝ้าดูคุณภาพอากาศรอบๆ โรงงานอุตสาหกรรม และยังมีระบบตรวจคุณภาพอากาศที่เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะแบบเรียลไทม์
นอกจากความไฮเทคแล้ว ผู้นำของเมืองก็ยังได้ประกาศแนวคิดการสร้าง ‘ป่าทางลม’ หรือ ‘Wind Path Forests’ ด้วยการปลูกต้นไม้ตลอดแนวแม่น้ำและถนน เพื่อสร้างช่องลมตรงสู่ใจกลางเมือง ซึ่งต้นไม้ก็ยังช่วยดูดซับมลพิษและสร้างอากาศสะอาดให้กับผู้คนในเมือง
นอกจากนี้ยังมีการปรับสะพานรถเก่าเหนือสถานีรถไฟหลัก ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าในชื่อ ‘Seoullo 7017 Sky Garden’ ที่อัดแน่นไปด้วยต้นไม้นานาพรรณกว่า 24,000 ต้น ซึ่งจะผลัดกันผลิดอกในแต่ละฤดูกาล รวมไปถึงมีไฟส่องสว่างทั่วบริเวณในยามค่ำคืน เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ
ทางเมืองเองก็ยังมีความตั้งใจที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 และตั้งเป้าให้การเดินทางแบบยั่งยืนคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ปั่นจักรยาน หรือการใช้รถสาธารณะ
นิวยอร์กซิตี้, สหรัฐอเมริกา
แม้แต่ป่าคอนกรีตอย่างนิวยอร์กซิตี้ ก็ตั้งใจที่จะ go green เช่นเดียวกัน โดยนายกเทศมนตรีของเมืองอย่าง Andrew Cuomo ได้ประกาศสนับสนุนเงินกว่า $1.4B (49,000 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโปรเจ็กต์เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่จะส่งไฟฟ้าให้กับบ้านกว่า 430,000 หลัง
นี่นับเป็นโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนโดยรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โปรเจ็กต์นี้มีแผนเริ่มดำเนินการจริงในปีนี้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นได้จริงก็จะลดคาร์บอนได้กว่า 1.6 ล้านเมตริกตัน เทียบเท่ากับการเลิกใช้รถกว่า 340,000 คัน
นอกจากนี้ยังมีการคิดเงินเมื่อขับรถเข้าสู่พื้นที่แออัดในแมนฮัตตัน โดยเมื่อรถผ่านจุด checkpoint ก็จะมีการชาร์จเงิน $10-15 (ประมาณ 350-530 บาท) และนอกจากการลดปริมาณรถบนถนนแล้ว ยังมีการสนับสนุนเงินเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะกว่า $15B หรือกว่า 520,000 ล้านบาท
โบโกตา, โคลอมเบีย
เมืองโบโกตาก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ปริมาณมลพิษลดลงอย่างเห็นได้ชัดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์หลังการล็อกดาวน์ ทำให้ทางเมืองตั้งใจเปลี่ยนตัวเองเป็นเมืองสะอาดแบบถาวร โดยเน้นไปที่การควบคุมการเดินทางและขนส่ง ซึ่งคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของมลพิษทางอากาศของเมือง
โดยได้ควบคุมมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถบรรทุกและรถอื่นๆ ที่สร้างอากาศเสีย สนับสนุนให้เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานสะอาด เพิ่มระบบรถไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้าสำหรับขนส่งประชาชนกว่า 8 ล้านคน ปรับปรุงทางเดินเท้าให้สว่าง ปลอดภัย เดินได้สะดวกสำหรับทุกวัย รวมไปถึงแยกชัดเจนจากการจราจร ซึ่งจะช่วยให้คนได้ออกกำลังกายในทุกๆ วัน เพิ่มหน่วยตรวจคุณภาพอากาศทั่วทั้งเมือง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเส้นทางจักรยานอีกกว่า 60 กิโลเมตร จากเดิมที่มีอยู่แล้วถึง 550 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้กันเป็นประจำกว่าวันละ 800,000 เที่ยว
Claudia López นายกเทศมนตรี ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เราขอใช้ประโยชน์จากการมีโรคระบาด ซึ่งทำให้เราได้เร่งกระบวนการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ด้วยการดูแลระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้มลพิษและยั่งยืน”
อักกรา, กานา
เมืองแรกในทวีปแอฟริกาที่เข้าร่วมแคมเปญ ‘BreatheLife’ ของ 4 องค์กรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่กระตุ้นให้เมืองแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รวมไปถึงการเป็นเมืองต้นแบบของ Urban Health Initiative ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนการใช้เตาฟืนมาเป็นเตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊ส เพื่อปกป้องไม่ให้แม่และเด็กต้องเผชิญกับควันไฟในบ้านตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับผลเสียของการเผาขยะ ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้คนไม่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
Mohammed Adjei Sowah นายกเทศมนตรีของอักกรากล่าวว่า “ในประเทศของเรานั้น คนไม่เชื่อว่ามลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ ดูได้จากวิธีที่เราทำกับข้าวมาแต่ดั้งเดิม (การใช้เตาฟืน) แต่สถิติการตายจากมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลก ก็ชัดเจนว่าเราต้องปลุกให้ผู้คนลุกมาเปลี่ยนแปลง เราต้องส่งเสียงออกมาดังๆ เพื่อให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของผู้คน”
ที่มาข้อมูล:
1. unep.org/news-and-stories/story/these-five-cities-are-taking-aim-air-pollution
2. www.nytimes.com/2022/06/27/world/europe/notre-dame-cathedral-paris.html
3. www.citiesforum.org/news/15-minute-city
4. www.mvrdv.nl/projects/208/seoullo-7017-skygarden
5. www.weforum.org/agenda/2020/08/bogota-air-pollution-initiatives