เพราะความกังวลว่าร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งเป็นฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรับสภา จะถูกปัดตกหรือไม่รับรองจากนายกรัฐมนตรี แต่อาจมีการรับรองร่างที่นำเสนอโดยบางพรรคการเมือง หรือท้ายที่สุดอาจจะไม่มีร่างฉบับใดได้รับการรับรองเลย แล้วมีการยกร่างขึ้นใหม่โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมขึ้นมาแทน
ข้อกังวลนี้ทำให้ภาคีเครือข่ายที่เห็นความจำเป็นในการมีอยู่ของสิทธิประชาชน และการใช้สิทธิของประชาชนในการปกป้องลมหายใจของตัวเอง ต้องออกมาขยับแรงกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอโอกาสให้ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ได้ผ่านเข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐสภา
เราจึงอยากชวนอ่านเพื่อย้ำกันอีกครั้งว่า ทำไม พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งเป็นฉบับที่ประชาชนเข้าลงชื่อ และเป็นฉบับที่ประชาชนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักกฎหมาย วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ ร่วมกันศึกษาและออกแบบ จึงควรถูกผลักดันไปให้ถึงฝั่ง
นั่นเป็นเพราะว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านการศึกษาและออกแบบมาอย่างรอบด้านเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ คือครอบคลุมทั้งแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ จึงสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งจากสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ที่เผยแพร่อยู่ในบันทึกเจตนารมณ์ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ…. นั่นหมายความว่า เราจะได้เข้าถึงสิทธิหายใจอากาศสะอาด หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการรับรอง
เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้…
– เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
ผลักดันให้มีหน่วยงานที่ ‘กำกับดูแล’ การทำงานของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมายอากาศสะอาดจริงจังขึ้น และบูรณาการ การทำงานไม่ทำแบบเป็นไซโล
– กระจายอำนาจในการกำกับดูแลให้ทั่วถึงทุกพื้นที่
เปิดโอกาสให้ประชาชน ‘ร่วม’ จัดการอากาศสะอาดสามระดับคือ ระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติ เพื่อปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของประชาช
– กระจายข้อมูลความรู้เรื่องสิทธิอย่างเท่าเทียม
มีช่องทางให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องอากาศ รวมถึงช่องทางการร้องเรียนปัญหาด้านคุณภาพอากาศ ร้องเรียนการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีช่องทางในการตรวจสอบและเรียกร้องการเยียวยาได้
– อากาศสะอาดถูกรับรองเป็นสิทธิที่เราต้องได้รับ
สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด จะถูกรับรองว่าเป็นสิทธิของประชาชน ก่อให้เกิดหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับรอง ปกป้อง และทำให้เกิดสิทธินี้ขึ้นจริง
– เน้นสร้างสุขภาพที่ดีควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี
กำหนดเป้าหมายสำคัญของการดูแลเรื่องอากาศสะอาด โดยเน้นให้ประชาชนมีสิทธิที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสุขภาพดี และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ซึ่งสรุปความให้กระชับแบบเข้าใจง่ายขึ้นคือ พ.ร.บ.นี้จะทำให้สิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด ถูกรับรองเป็นสิทธิของประชาชน ซึ่งรัฐต้องรับรอง ปกป้อง และทำให้สิทธินี้เกิดขึ้นจริง หากรัฐจัดการไม่ได้ ประชาชนมีสิทธิเอาผิดรัฐได้ ในขณะที่ประชาชนก็มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลอากาศที่กำลังหายใจอยู่ ว่าปลอดภัยกับสุขภาพแค่ไหน หรือจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไร
และที่สำคัญ การปกป้องตัวเองจากมลพิษไม่ใช่ภาระของประชาชนแต่อย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้บังคับใช้กฎหมาย ในการเข้าไปจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างถูกต้อง โดยไม่เป็นภาระเงินงบประมาณ เพราะมีกลไกทางการเงินที่เก็บเงินจากผู้ปล่อยมลพิษโดยตรง รวมถึงการก่อกำเนิดหมอกควันพิษข้ามแดน จะสามารถควบคุมได้ด้วยการกำหนดบทลงโทษ
เพื่อร่วมกันเปลี่ยนเมืองให้มีอากาศสะอาดผ่านกลไกทางกฎหมาย ทุกคนสามารถเข้าไปลงชื่อร่วมสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งเป็นฉบับประชาชนได้ที่ Change.org ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 นี้
ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ ได้ที่ www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=221&fbclid=IwAR12reWF5mbHddtKypzgXrmMUmYyU1kdNSqPMs9Sd8Oa_UbBgys2D-QFisw
และชวนอ่านที่มาและความสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ได้ที่ 1BlueSky
ที่มาข้อมูล:
1. thailandcan.org/knowledge
2. thailandcan.org/บันทึกเจตนารมณ์%20ร่างพ.ร.บ.%20กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด.pdf