
การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นแม้จะดูเป็นเรื่องพื้นฐานในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม แต่ในอีกหลายเมืองใหญ่ที่มีบริบทเฉพาะตัว การสร้างพื้นที่สีเขียวกลางเมืองอาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายสักเท่าไร

ตัวอย่างเช่นเมืองหลวงทะเลทรายอย่างกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และธากา ประเทศบังคลาเทศ ที่โอบล้อมด้วยทะเลทรายอันแห้งแล้ง ทั้งยังเป็นเมืองที่แน่นขนัดด้วยตึกรามบ้านช่อง ที่ไม่ได้ถูกออกแบบตามมาตรฐานผังเมืองสากล และยังไม่นับมรดกของการตกเป็นเมืองใต้อาณานิคมนับร้อยปี ที่ทำให้ทิศทางการพัฒนาเมืองมุ่งสู่อุตสาหกรรมและทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกถลุงใช้มานาน

ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงผลักดันในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่แถบทะเลทราย ที่อุณหภูมิตอนกลางวันอาจพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส รวมถึงลดมลพิษจากฝุ่นควันในเมืองใหญ่ที่คราคร่ำด้วยรถราตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในกรุงไคโรที่ผลวิจัยชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตของประชากรอายุเกิน 30 ปี นอกเหนือจากอุบัติเหตุแล้ว กว่า 19 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตจากโรคที่มีต้นทางมาจากมลพิษทางอากาศ!
ท้ายที่สุดแล้ว ไอเดียการสร้างพื้นที่สีเขียวบนข้อจำกัดก็เริ่มต้นขึ้น ผ่านการเปลี่ยน ‘ดาดฟ้าอาคาร’ ให้กลายเป็นสวนขนาดย่อมเพื่อปกคลุมตัวอาคารให้พ้นจากแสงอาทิตย์ตอนกลางวัน โดยเฉพาะในอาคารที่ไม่ได้มีผนังกันความร้อนที่มีมาตรฐาน และช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงกรองฝุ่นควันขนาดเล็กไม่ให้ย่างกรายเข้าสู่ปอดของผู้คนด้วย
มากไปกว่านั้น ยังมีการประเมินว่า การสร้างสวนดาดฟ้า เป็นแนวทางการเพิ่มขึ้นที่สีเขียวที่ใช้น้ำน้อยกว่าการทำสวนแนวตั้ง หรือการสร้างกำแพงสีเขียวที่กำลังเป็นกระแสทุกวันนี้ จึงยิ่งเป็นข้อดีสำหรับพื้นที่ทะเลทรายที่มีน้ำจำกัด

ปัจจุบันขบวนการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวทั้งในบังคลาเทศและอียิปต์กำลังรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักอย่าง Green Savers ซึ่งปัจจุบันพวกเข่าได้เปลี่ยนดาดฟ้าในเมืองหลวงของบังคลาเทศกว่า 5 พันหลังคาเรือนเป็นสวนขนาดย่อมได้สำเร็จแล้ว
รวมถึง Urban Greens ในอียิปต์ที่สร้างโมเดลการทำงานที่ค่อนข้างยั่งยืน ผ่านการประสานให้ดาดฟ้าของบ้านเรือนผู้มีรายได้น้อยกลายเป็นสวนผักขนาดย่อม ด้วยนอกจากผักเหล่านั้นยังสร้างพื้นที่สีเขียวช่วยลดมลพิษ ในอีกทางยังเป็นผลผลิตที่ช่วยสร้างรายได้ให้กลุ่มคนเปราะบางรวมถึงเครือข่าย Green Savers เองด้วย .
จึงกล่าวได้ว่า การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลัง ทว่าเป็นโจทย์ที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์พื้นที่อย่างลงรายละเอียด เพื่อสร้างปอดของเมืองที่ยั่งยืนในระยะยาว