สังคมเมืองมีระบบการคมนาคมที่สะดวกสบาย ทั้งรถเก็บขยะของเทศบาล ทั้งรถรับซื้อของเก่า ทั้งซาเล้ง สามล้อ และเจ้าหน้าที่มากมายให้บริการอยู่แล้ว ทำให้โดยมากแล้วการเผาเพื่อกำจัดขยะมักจะเกิดขึ้นตามสังคมชนบท ด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่ จำนวนประชากรต่อพื้นที่เบาบาง รถเก็บขยะจึงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบเห็นได้บ่อยนัก ทำให้ขยะต่างๆ นั้นย่อมมากล้น จนก่อให้เกิดความรำคาญแก่ชาวบ้านทั่วไป ทั้งยังเป็นแหล่งสะสมมลพิษ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้ายต่างๆ ไม่ปลอดภัยต่อลูกหลานหรือแม้กระทั่งตัวผู้ใหญ่เอง ชาวบ้านชนบทจึงนิยมการเผาทำลายขยะต่างๆ เพราะมันสะดวกรวดเร็วทันใจ แต่หารู้ไม่ว่าการเผาขยะอย่างไม่ถูกต้องนั้นจะสร้างปัญหาต่างๆ มากมายเป็นวงกว้างตามมา
มลพิษจากการเผาขยะโดยมากแล้วจะเกิดจากการเผาวัสดุการเกษตรเป็นหลัก การเผาตอซังข้าวและไร่อ้อยคือการเผายอดฮิตของวัสดุการเกษตร อาจเป็นเพราะการขาดแคลนแรงงาน หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงกระทำสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น พ่อแม่สอนให้เผาก็เผาตามที่ถูกสอนมา นั่นคือความไม่รู้ซึ่งควรจะรู้ได้แล้ว ว่าการเผานั่นส่งผลเสียต่อสภาพดิน ทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ เนื่องจากความร้อนของการเผา นั่นส่งผลให้ข้าวรุ่นถัดมาให้ผลผลิตลดลงและแมลงศัตรูมากขึ้น ทำให้ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้นอีก การไถกลบตอซังข้าวจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ถึงแม้ว่าจะต้องเหนื่อยมากขึ้นก็ตาม ซึ่งก็มีชาวนาหลายคนเริ่มใช้วิธีนี้มากขึ้นแล้ว
การเผาไร่อ้อย เป็นปัญหาโลกแตกที่ยังหาจุดสมดุลไม่ได้ เนื่องด้วยฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อยนั้นเกิดขึ้นช่วงฤดูหนาวยาวจนถึงต้นๆ ฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนน้อย แห้งแล้งและกระแสลมในช่วงนั้นก็พัดมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มลพิษจากการเผาอ้อยนั้นเข้าปกคลุมภาคกลางเต็มๆ ส่งผลให้เกิดโดมความร้อนครอบฝุ่นไว้อีก นโยบายต่างๆ ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างโหมลงมากีดกันอ้อยไฟไหม้แล้ว ทั้งคิดค่าปรับอ้อยไฟไหม้แล้วนำไปเฉลี่ยเพิ่มให้แก่อ้อยสดเอย หรือกำหนดสัดส่วนให้โรงงานต้องรับซื้ออ้อยสดที่ 60% เอย หรือแม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดออกมาประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาด ก็ยังไม่สามารถจูงใจเหล่าเกษตรกรได้หากเทียบกับแรงงานและรายได้ เหล่าเกษตรกรยังคงแอบเผากันเรื่อยมา ว่ากันตามตรงก็เห็นใจข้อจำกัดของเหล่าเกษตรกร และก็เห็นใจผู้คนที่ต้องสูดมลพิษทางอากาศเข้าไปด้วยเช่นกัน ต่างคนต่างไม่มีทางเลือก เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากเกี่ยวเนื่องโยงใยกันไปหลากหลายภาคส่วน
จะเห็นได้ว่าปัญหาการเผาขยะของภาคเกษตรกรรมนั้นแก้ไขค่อนข้างยาก แต่ประชาชนตาดำๆ อย่างพวกเรานั้นสามารถลดการเผาขยะได้ด้วยตัวเราเองอย่างง่ายๆ ด้วยแนวคิด 1A3R นั่นคือ Avoid (เลิก), Reduce (ลด), Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (หมุนเวียนกลับมาใช่ใหม่) หลายคนน่าจะพอเข้าใจแนวคิดนี้อยู่บ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าการแยกขยะแล้วเอาไปขายต่อนั้น สร้างรายได้ให้มากกว่าที่คิด ทั้งร้านรับซื้อของเก่าที่รับซื้อของเก่าหรือข้าวของที่ชำรุดเสียหาย ทั้งโรงงานรีไซเคิลที่รับซื้อขยะจริงๆ เพื่อนำไปแปรรูปอีกที หรือให้สะดวกที่สุดก็ขายตามรถซาเล้งที่แวะเวียนเข้ามาทุกซอกซอย หากบ้านอยู่ไกลหน่อยก็สามารถโทรเรียกให้มารับที่บ้านโดยตรงได้เลย การจำหน่ายขยะ ข้าวของเหลือใช้หรือชำรุดออกไปนั้นช่วยลดมลพิษที่เป็นอันตรายยิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ลงเยอะมาก อีกทั้งยังสร้างรายได้เสริมอีกด้วย
ในปัจจุบันก็มีนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยย่อยสลายอย่างปล่อยภัยและได้ผลพลอยได้ไว้จำหน่ายเป็นได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมอีกด้วย วิธีกำจัดขยะทดแทนการเผาที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง ณ ปัจจุบันคือใช้ไส้เดือนช่วยย่อยสลายพืชผัก ใบไม้ วัสดุทางการเกษตรต่างๆ ที่เน่าเสียได้ แม้ปุ๋ยมูลไส้เดือนจะไม่ใช่ปุ๋ยที่เข้มข้นอะไร แต่ข้อดีอย่างยิ่งยวดของปุ๋ยมูลไส้เดือนคือเป็นปุ๋ยเย็นที่สามารถเทใส่ต้นไม้ได้โดยตรงเลย ไม่ทำให้ต้นไม้ตาย ยิ่งไปกว่านั้นตัวไส้เดือนจะช่วยปรับสภาพดินโดยรอบให้ร่วนซุย เพิ่มอินทรีย์วัตถุและแบคทีเรียที่ดีในดิน ส่งผลให้สภาพดินพื้นที่โดยรอบจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง หากมีเยอะก็สามารถจำหน่ายทั้งปุ๋ยมูลไส้เดือนหรือตัวไส้เดือนได้ในราคาที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย และที่สำคัญคือปลอดภัยมาก จากการทดลองพบว่าไส้เดือนช่วยลดสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างอยู่บนใบผักลงสู่ดินระหว่างย่อยสลายอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีน้ำหมักสารพัดสูตรที่ผลิตจากการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายพืช วัสดุการเกษตร และส่วนผสมอื่นๆ ให้เลือกผลิตตามความเหมาะสมของท้องถิ่นอีกด้วย ชาวชนบทนั้นสามารถหาเงินง่ายๆ จากวัสดุรอบตัว
ส่วนขยะอื่นๆ ที่ไม่สามารถขายได้ ไม่ว่าจะรีไซเคิล รับซื้อของเก่า หรือซาเล้ง อีกทั้งยังย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้ ให้รวบรวมใส่ถุงไว้ โดยเฉพาะขยะอันตรายควรแยกถุงไว้ต่างหาก เพื่อป้องกันสารพิษต่างๆ ไหลลงสู่ผืนดินและแหล่งน้ำ แล้วแจ้งภาครัฐให้เข้ามาเก็บไป มีพระราชบัญญัติหลายฉบับระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 23(3) จัดให้มีและรักษาทางระบายน้ำ และรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ซึ่งหน่วยต่างๆ เหล่านี้จะนำขยะที่ได้ไปแยกอีกครั้ง เพื่อการฝั่งกลบหรือเผาอย่างถูกต้องต่อไป
จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่าหากเราลดการเผา หรือเลิกเผาไปเลย แม้จะต้องเสียเวลา และแรงงานเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย แถมยังมีช่องทางอีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึงสำหรับสร้างรายได้เสริม และลดค่าใช้จ่ายไปพร้อมกับการรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่กับเราไปอีกนานๆ หากค่อยๆ เริ่มค่อยๆ ทำไปทีละอย่างสองอย่าง จนกระทั่งในที่สุดเราจะสามารถเข้าสู่ zero waste หรือ ลดขยะเป็นศูนย์ได้เลยทีเดียว ซึ่งอาจจะยังไม่ต้องเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดก็ได้ เริ่มต้นแค่เพียงสามารถแยกขยะและกำจัดขยะอย่างถูกต้องและปลอดภัย ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากแล้ว