“โลกสุดสวย อันแสนกว้างไกล มวลพิษภัยดูมากมี แต่ชีวิตในโลกทุกชีวียังต้องมีดิ้นรน”
ใช่แล้ว ผึ้งน้อยบนโลกในยามนี้ กำลังต้องดิ้นหนีพิษภัยที่ผจญ เพราะสิ่งแวดล้อมที่กำลังแย่ลงเรื่อยๆ นั้น ทำให้การดำรงชีวิตของพวกมันลำบากขึ้นทุกทีถึงขั้นวิกฤติ เสี่ยงต่อการล่มสลายของอาณาจักผึ้งเลยทีเดียว
ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะผลลัพธ์ที่ตามมานั้นจะล้มต่อเนื่องดุจโดมิโน่ โดยมีมนุษย์อย่างเราเป็นชิ้นส่วนถัดมาที่รอวันล้มครืนตามไป
มีการศึกษาพบว่า ระหว่างที่ผึ้งบินหาน้ำหวานอยู่ในอากาศ หรือทำกิจกรรมต่างๆ จะส่งเสริมการสะสมประจุไฟฟ้าขึ้นบนผิวร่างกายของผึ้ง ซึ่งประจุไฟฟ้าดังกล่าวจะเพิ่มแรงดึงดูดให้ฝุ่น PM2.5 มาเกาะอยู่ที่ตัวผึ้งง่ายขึ้น ปัจจุบันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นั้นเกิดขึ้นทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะมีผลการรายงานว่า ตรวจพบมลพิษที่เกาะอยู่บนร่างกายของผึ้งในยุโรป และก็เดาได้ไม่ยากว่า มันย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพของผึ้ง หรือมีการตรวจพบสารพิษปนเปื้อนในน้ำผึ้ง
นอกจากนี้ยังค้นพบว่า ควันเสียจากรถยนต์ ขัดขวางกลิ่นที่ดึงดูดจากดอกไม้ที่จะนำทางให้ผึ้งไปเก็บน้ำหวาน ทั้งยังรบกวนความสามารถในการจดจำกลิ่นของผึ้งอีกด้วย
ทุกคนรู้ว่าพืชดอกและไม้ผลทุกชนิดบนโลกใบนี้ต้องการการผสมเกสร ที่ผ่านมาผึ้งและแมลงเป็นตัวช่วยทำหน้าที่นี้ พวกมันเป็นแรงงานฟรีจากกลไกทางธรรมชาติ ที่ช่วยให้พวกเรายังมีผลิตผลจากพืชอาหารไว้เลี้ยงชีวิต โดยที่ไม่เคยฉุกคิดว่า หากไม่มีผึ้งแล้วใครจะทำหน้าที่นี้แทน และมนุษย์ต้องลงทุนมหาศาลเพียงใด หากต้องรับภาระหน้าที่ผสมเกสรพืชพรรณนี้ในวันที่ไม่มีผึ้ง
กรีนพีซรายงานว่า 70% ของพืชอาหารในมนุษย์ อาทิ ผลไม้ ผัก ถั่ว ต้องอาศัยผึ้งช่วยผสมเกสรเพื่อให้เกิดผลผลิต นอกจากนี้ ทั้งผึ้งป่าและผึ้งบ้านยังมีภารกิจที่ต้องผสมเกสรพืชพรรณอื่นๆ อีกกว่า 80% ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เมล็ดฝ้าย หน่อไม้ฝรั่ง บร็อกโคลี ไปจนถึงเมล็ดกาแฟ
ยังมีข้อมูลจากเว็บไซต์ Heifer.org ที่รายงานเอาไว้อีกว่า พืชบางชนิดจะไม่สามารถติดผลได้เลย หากขาดการผสมเกสรจากผึ้ง ยกตัวอย่างเช่น เชอร์รี่ และ บลูเบอร์รี่ ต้องอาศัยผึ้งผสมเกสร 90% ขณะที่อัลมอนด์จะติดผลได้นั้น ต้องอาศัยผึ้งในการผสมเกสร 100 %
มีผลการศึกษาของ Rutgers ในปี 2020 รายงานว่า ผลผลิตของพืชสำคัญๆ บางชนิด เช่น แอปเปิ้ล เชอร์รี่ และ บลูเบอร์รี่ ลดลงแล้ว เนื่องจากการขาดแคลนผึ้งในพื้นที่เกษตรกรรม
พอรู้แบบนี้แล้วลองคิดต่อก็ชักเริ่มหวั่นๆ เพราะอย่าลืมว่า ‘เมล็ดฝ้าย’ คือต้นทางของเส้นใยที่ใช้ผลิตผ้าทำเครื่องนุ่งห่มและเครื่องเรือนต่างๆ ขณะที่ ‘เมล็ดกาแฟ’ คือคาเฟอีนยามเช้าที่เราท่านหลายคนถวิลหามาคลายง่วง แล้วไหนจะผักผลไม้ต่างๆ ที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร วิกฤติการขาดแคลนอาหาร ความอดอยากของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก ทุกผลกระทบที่กล่าวมาเกิดขึ้นแน่ถ้าวันหนึ่งอาณาจักรผึ้งล่มสลายลงจริงๆ
ทุกวันนี้ สุขภาพของผึ้งบนโลกไม่ดีเท่าไรนัก เว็บไซต์ SaveBees.org กล่าวว่า “ผึ้งบนโลกป่วย เครียด และขาดสารอาหาร” เพราะไม่เพียงเรื่องมลพิษทางอากาศที่กำลังคุกคามผึ้ง แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่เป็นต้นเหตุ นั่นคือ การใช้สารเคมีปราบแมลงที่เข้มข้นขึ้นซึ่งทำให้ผึ้งล้มตาย การหักล้างถางพงทำลายที่อยู่ของผึ้ง และทำลายความหลากหลายของพรรณพืช เพื่อทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ต้องอาศัยสารเคมี หรือสร้างเมือง รวมไปถึง สภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่กระทบต่อการทำงานและการดำรงชีพของผึ้ง
CNN รายงานว่า ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีธุรกิจผึ้งเลี้ยงรับจ้างในการผสมเกสรพืชเชิงเดี่ยว โดยผึ้งเลี้ยงเหล่านี้จะถูกเคลื่อนย้ายไปทำงานตามพื้นที่เกษตรต่างๆ ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการบังคับให้ผึ้งรวบรวมน้ำหวานและละอองเกสรจากพืชแค่ชนิดเดียว จะส่งผลให้ผึ้งได้รับสารอาหารที่ไม่หลากหลาย และทำให้สุขภาพของผึ้งไม่แข็งแรงและเกิดโรค หรือได้รับการเบียดเบียนจากปรสิต
อีกทั้งการส่งผึ้งเลี้ยงจากแหล่งเดียวไปยังสถานที่ต่างๆ อาจเป็นพาหะนำโรคบางชนิดจากผึ้งเลี้ยงไปติดผึ้งพื้นเมืองได้ กลายเป็นผลเสียต่อระบบนิเวศในระยะยาว
ในขณะเดียวกัน ภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อความผิดเพี้ยนไปของฤดูผลิบานของดอกไม้ในป่า ผึ้งไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับฤดูกาลการผลิบานของดอกไม้ที่ไม่ตรงกับเวลาเดิม นั่นอาจจะนำไปสู่วิกฤติการสูญสลายของอณาจักรผึ้งในอนาคต
ถึงตรงนี้คุณคงเห็นแล้วว่า ‘ผึ้ง’ กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มาดูกันดีกว่าว่าเราจะมีวิธีช่วยผึ้ง และช่วยโลกของเราอย่างไร
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อผึ้งกันก่อน ซึ่งได้แก่ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การใช้ยาฆ่าแมลง การทำฟาร์มเชิงเดี่ยว และการเลี้ยงผึ้งเพื่อการผสมเกสร การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การเกิดมลพิษ และโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นกับผึ้ง
จากนั้นก็เริ่มแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น ปลูกดอกไม้ที่เป็นอาหารของผึ้งที่หลากหลาย ปลูกดอกไม้ป่า สร้างสวนป่าที่ผึ้งสามารถมาอยู่อาศัยได้ จำกัดการใช้ปริมาณสารพิษทางการเกษตร หรือถ้าจะให้ดีปรับมาทำเกษตรอินทรีย์ก็จะเป็นมิตรต่อผึ้งและสิ่งแวดล้อมแน่นอน
ในภาคการเกษตรควรปลูกพืชที่หลากหลาย ไม่ควรทำเกษตรเชิงเดี่ยว การปลูกพืชพื้นเมืองที่ให้ดอกนั้นสำคัญมากต่อผึ้งพื้นเมือง ลดการใช้เชื้อเพลิง ละเลิกพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ สำคัญว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเร่งทำ และต้องทำอย่างจริงจังก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
มาเถอะ มาช่วยกันคนละไม้ละมือ ปกป้องผึ้งน้อยแสนดีของพวกเรา อย่าปล่อยให้พวกผึ้งต้องดำรงชีพในที่สลัว เพราะอย่าลืมว่า “ผึ้งได้กิน ใช่กินเพียงตัว คนทั้งโลกก็อิ่มกัน”
ที่มาข้อมูล:
1. www.ecowatch.com
2. www.sciencedirect.com
3. airqualitynews.com