ข่าวไฟไหม้บ่อขยะ ที่ตำบลแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น สร้างปัญหาให้ผู้คนในละแวกใกล้เคียงอยู่ไม่น้อยเลย และเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นความกังวลต่อเนื่องตามมาถึงอนาคต ถ้าการจัดการขยะที่บ่อใหญ่ยังเป็นเรื่องไม่ใหญ่พอของผู้ต้องรับผิดชอบจัดการเสียที
สาเหตุของไฟไหม้บ่อขยะในครั้งนี้ คาดว่าเกิดจากการมีขยะแบตเตอรี่ปะปนมาทำให้เกิดความร้อนสะสมจนปะทุไฟ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ช่วงเดือนมีนาคม ปี 57 ก็เคยมีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่ตำบลแพรกษา ครั้งนั้นก็ทำให้ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงต้องอยู่ใต้ควันพิษนานหลายวัน
ไฟไหม้ขยะ เผาขยะ เผาขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิง ต่างกันอย่างไร?
เราอาจเคยได้ยินการจัดการขยะด้วยการเผาเพื่อเป็นพลังงานเชื้อเพลิง (RDF) ที่เดี๋ยวนี้มีหน่วยจัดการขยะรับเอาขยะไปจัดการเผาในระบบ ซึ่งเป็นเรี่ยวแรงได้อย่างดีในการแก้ปัญหาขยะที่รีไซเคิลต่อไม่ได้ แต่การเผาขยะในที่แจ้งหรือการการเผาไหม้ในบ่อขยะนั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสร้างผลกระทบรุนแรงไปหลายเท่า
การเผาขยะในที่โล่ง ก่อให้เกิดสารพิษที่เรียกว่าไดออกซิน ซึ่งเป็นสารพิษในปริมาณที่เป็นอันตราย เมื่อสูดดมจะทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ และสารนี้ยังสามารถตกค้างในอากาศ ดิน น้ำ อีกด้วย
การเผาไหม้ในบ่อขยะ สาเหตุของเพลิงไหม้ส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนขยะประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยะประเภทนี้อาจจะเกิดการปะทุไฟ แถมยังประกอบด้วยสารเคมีและโลหะหนัก ที่อาจจะปนเปื้อนลงสู่น้ำและดิน เราจึงควรแยกทิ้งเพื่อให้ขยะเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกวิธี นอกจากนั้นการหมักหมมทับถมยังก่อให้เกิดความร้อนสะสม และเกิดก๊าซมีเทน ที่เป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศโลกอีกด้วย
การเผาขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิง หรือ ‘เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน’ (waste to energy) คือการนำขยะมาผ่านกระบวนการเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงเผาขยะ หรือ Refuse derived fuel (RDF) ซึ่งต้องเผาขยะในเตาเผา (incineration) เท่านั้น โดยการใช้ความร้อนสูง 850-1200 องศาเซลเซียส เพื่อเผาไหม้ส่วนที่เป็นสารอนินทรีย์ในขยะ และมีระบบการควบคุมไม่ให้เกิดกลิ่นและควัน
สิ่งที่ได้จากการเผาแบบนี้ คือความร้อน ขี้เถ้าอนินทรีย์ และแก๊สปล่องไฟ (Flue gas) โดยแก๊สปล่องไฟจะต้องถูกทำให้สะอาดก่อนปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนความร้อนที่ได้จากเตาเผาสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าต่อได้
จะเห็นได้ว่าการเผาขยะนั้นก่อให้เกิดผลเสียหากไม่ได้รับการควบคุมและเผาอย่างถูกวิธี แต่ก็ถ้าจัดการอย่างเหมาะสมก็สามารถสร้างประโยชน์ได้ ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเผานั้นเป็นเรื่องดีหรือเป็นพิษ คือ การแยกขยะ!
ทิ้งขยะครั้งต่อไป เราขอชวนแยกขยะแบบ 3 อ คืออินทรีย์ อนินทรีย์ และขยะอิเล็กทรอนิกส์
อินทรีย์ คือขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จะถูกจัดการแบบฝังกลบในบ่อขยะ เช่น เศษอาหาร ใบไม้แห้ง กระดาษทิชชู ไม้ กระดาษ
อนินทรีย์ หรือของที่มีส่วนประกอบเคมี หรือของที่เกิดจากการสังเคราะห์ เช่น แก้ว พลาสติก เซรามิก ผ้าใยสังเคราะห์ ขยะประเภทนี้ส่วนใหญ่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ การแยกจะช่วยลดขยะที่ไปสู่บ่อฝังกลบ
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ สายชาร์จ หูฟัง ขยะประเภทนี้ต้องได้รับการจัดการที่เหมาะสมเพื่อลดการปล่อยสารเคมีสู่ธรรมชาติ และลดโอกาสเป็นชนวนเพลิงไหม้บ่อขยะ
หากใครอยากเพิ่มเลเวลขึ้นมาอีกนิด: แยกขยะอนินทรีย์เป็นขายได้–ขายไม่ได้ ขยะที่ขายได้ก็เช่น กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง ขยะที่ขายไม่ได้ เช่น ถุงพลาสติก ถุงขนม เพื่อให้สามารถนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ส่วนแบบขายไม่ได้ก็สามารถนำไปเผาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง
การคัดแยกขยะให้มีที่ไปตั้งแต่ต้นทาง นับว่าเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยสกัดกั้นขยะที่ก่อมลพิษหรือฝุ่นควันอันตรายไม่ให้ถูกลำเลียงไปที่บ่อขยะ เพราะหากโชคไม่ดีเกิดการเผาไหม้อย่างคาดไม่ถึงขึ้นมาอีก ขยะเหล่านี้ก็จะไม่มีโอกาสสร้างมลพิษที่ปลายทางอย่างที่เราได้รับผลกระทบกันมา
ที่มาข้อมูล:
1. www.matichon.co.th
2. www.thaipost.net
3. www.news.thaipbs.or.th
4. www.greenery.org
1. www.matichon.co.th
2. www.thaipost.net
3. www.news.thaipbs.or.th
4. www.greenery.org