การขยายตัวของเมืองที่เดินหน้าไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากในการเผชิญหน้ากับมลพิษที่เกิดขึ้นตามมา แต่นั่นอาจจะเป็นความเชื่อที่ล้าหลังไปสักหน่อยแล้วสำหรับ พ.ศ. นี้ เพราะแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ คือแนวคิดที่เข้ามาแก้ปัญหาการเสียสมดุลที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าและเติบโตไปได้ โดยที่สิ่งแวดล้อมก็ไม่ถูกทำลายไปด้วยเหมือนที่เคยเป็นมา
ในรายงานฉบับหนึ่งของ UN Environment ได้ระบุถึงประเทศที่นำเอาเศรษฐกิจสีเขียวเข้ามาเป็นกลไกทางเศรษฐกิจได้อย่างน่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็ช่วยแก้ปัญหามลพิษของเมืองควบคู่กันไปด้วย เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ในยูกันดา การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีนและตูนีเซีย การวางผังเมืองอย่างยั่งยืนของเมืองกูรีตีบาในบราซิลที่แก้ปัญหาเมืองทั้งระบบ การจัดการป่าไม้ในเนปาล หรือโครงการ Green Economy Initiative เพื่อเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำในแอฟริกา
สำหรับประเทศไทยเองนั้นก็ได้นำแนวทางของเศรษฐกิจสีเขียวมาใช้ด้วยเหมือนกัน โดยมีการบรรจุเอา Green Economy เข้าไว้ในโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG ที่นอกจาก Green Economy แล้ว ยังมี Bio Economy และ Circular Economy เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ซึ่งคำว่าเศรษฐกิจสีเขียว ไม่ได้หมายความถึงแค่เพียงการทำเกษตรอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะคำว่าสีเขียวนั้นสามารถแทรกตัวอยู่ในหลายๆ กิจการเพื่อลดการสร้างมลภาวะให้กับเมือง ยกตัวอย่างเช่น ภาคการท่องเที่ยวที่เดินหน้าควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร การขนส่งที่มีการส่งเสริมให้ใช้พลังงานที่ไม่ปล่อยมลภาวะ หรือพลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด
ส่วนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานต่างๆ ก็มีกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานอื่นๆ คอยกำกับดูแลและตรวจสอบ และหาแนวทางลดมลพิษที่ถูกปลดปล่อยจากกระบวนการผลิต รวมไปถึงการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานไฟฟ้า พลังงานชีวมวล หรืออื่นๆ ที่สร้างผลกระทบต่ออากาศและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ในอีกด้านหนึ่งนั้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ก็มีแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว อย่างเช่น พัฒนาเซลล์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ วิธีการประเมินหรือมีแอปพลิเคชั่นที่ช่วยวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ การใช้สารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อแปรรูปยางแผ่นทดแทนการใช้สารเคมี ฯลฯ เพื่อให้นวัตกรรมเหล่านี้ได้ทำหน้าที่รองรับ และพาให้เศรษฐกิจสีเขียวเดินหน้าได้อย่างราบรื่นขึ้น
ปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่จำนวนไม่น้อย ที่เห็นความสำคัญและตื่นตัวในปัญหาเหล่านี้มากขึ้น และปรับตัวเองมาสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นความหวังมากๆ ที่จะได้เห็นเมืองดีขึ้นในอนาคต
และคงจะยิ่งดีขึ้นไปอีกหากเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญ และนำแนวทางของเศรษฐกิจสีเขียวมาเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจแล้ว ปัญหามลพิษในด้านต่างๆ ก็จะบรรเทาเบาบางลงไปได้ ในทางเดียวกันก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมค่อยๆ ฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย
ที่มาข้อมูล: