ชื่อของ ‘ปทุมวันโมเดล’ หรือ ‘โครงการสะอาดเขตปทุมวัน’ อยู่ในการรับรู้ของคนทั่วไปที่รู้ว่าเมืองหลวงมีแต่ฝุ่นมากมาย โดยเฉพาะคนที่สนใจปัญหาฝุ่นควันเป็นพิเศษ ว่าย่านใจกลางเมืองที่มีศูนย์การค้าและเศรษฐกิจแหล่งใหญ่ตรงนี้ เป็นพื้นที่นำร่องควบคุมเขตมลพิษต่ำ หรือพื้นที่ต้นแบบของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
เหตุผลที่ทำให้ต้องมาเริ่มต้นกันตรงจุดนี้ ก็เป็นเพราะว่าเขตปทุมวันเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนเข้าออกเฉลี่ยกว่า 300,000 คนต่อวัน ตามข้อมูลของสำนักงานเขตฯ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจในตัวเลข ด้วยตรงนี้เป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญที่เต็มไปด้วยแหล่งช้อปปิ้ง โรงแรมที่พัก ร้านค้า สำนักงาน สถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย ความหนาแน่นของผู้คนจึงไม่มีเว้นวันหยุดราชการ ทำให้การจราจรหนาแน่นไปด้วย
สิ่งที่มาพร้อมกับความหนาแน่นที่ว่า ก็คือไอเสียจากรถที่เข้ามาในพื้นที่จำนวนมากในแต่ละวัน และปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กออกมาสูง ตามรายงานค่าฝุ่น PM2.5 จะเห็นว่าพื้นที่โซนนี้เป็นโซนที่มีค่าตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวัง ด้วยสถานการณ์ที่เป็นแบบนี้ จึงได้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในย่าน เพื่อหวังกระตุ้นให้ประชาชนตระหนัก และเป็นปัญหาที่ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งต้องแก้ไข แต่ทุกคนช่วยกันลดฝุ่นตั้งแต่แหล่งกำเนิดได้
ปทุมวันโมเดล วางพื้นที่นำร่องเอาไว้ในระยะทาง 1 กิโลเมตร จากแยกปทุมวันไปถึงแยกราชประสงค์ โดยมีแนวทางในการจัดการหลักๆ อยู่ คือการลดควันดำ และการนำเทคโนโลยีตรวจจับฝุ่น PM2.5 มาใช้
ลดควันดำ 3 ระดับ
มาตรการลดควันดำ 3 ระดับของปทุมวันโมเดล จะนำมาใช้กับรถที่เข้าออกในพื้นที่ โดยระดับที่ 1 คือรถยนต์ของพนักงานที่น่าจะเป็นรถปล่อยมลพิษต่ำ โดยจะใช้วิธีการสร้างจิตสำนึกให้กับพนักงาน มีบริการตรวจไอเสียรถยนต์ ตรวจควันดำ ของรถพนักงาน และชักชวนจูงใจให้คนกลุ่มนี้ใช้รถส่วนตัวให้น้อยลง และหันมาใช้ขนส่งสาธารณะกันให้มากขึ้น
ระดับที่ 2 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่ทำการค้าร่วมกับทางห้างร้านต่างๆ ในย่านปทุมวัน เช่น ซัพพลายเออร์ที่มาส่งของหรือส่งสินค้าต่างๆ และสื่อสารไปถึงกลุ่มนี้เพื่อให้หันมาใช้รถมลพิษต่ำ มีการตรวจวัดไอเสีย ตรวจสภาพรถยนต์
ซึ่งในการตรวจวัดต่างๆ จะมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเสริมด้วย เช่น กรมควบคุมมลพิษเข้ามาดูแลเรื่องการตรวจวัดไอเสีย หรือสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มาช่วยดูแลบำรุงรักษารถ ส่วนรถประจำทางที่วิ่งบนถนน ก็ขอให้ ขสมก.ใช้รถประจำทางที่ปล่อยมลพิษต่ำ ตรวจวัดไอเสียรถก่อนออกจากอู่
ส่วนในระดับที่ 3 เป็นการทำงานกับลูกค้าหรือประชาชนทั่วไป โดยห้างร้านต่างๆ ในย่านปทุมวันจะมีการจูงใจให้ลูกค้าใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าดูแลรักษารถยนต์ที่จะนำมาใช้บริการกับทางห้าง และหนึ่งในวิธีการที่เกิดขึ้นคือ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จัดพื้นที่จอดให้แก่รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของ MuvMi สตาร์ตอัพที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อใช้เดินทางเฉพาะย่าน และให้บริการระบบ Ride Sharing ทางเดียวกันไปด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ทั้งยังเป็นรถสาธารณะที่ไม่ปล่อยมลพิษด้วย
ใช้เทคโนโลยีตรวจจับฝุ่นและแจ้งเตือน
ตลอดเส้นทางพระราม 1 ที่อยู่ในพื้นที่นำร่องปทุมวันโมเดล หากมีใครที่มีสายตาช่างสังเกตสักหน่อย อาจได้เห็นเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 หรือ Sensor for all ที่ติดตั้งเอาไว้ 4 จุด ไล่ตั้งแต่ข้างสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬา ทางเชื่อมระหว่าง BTS สยาม กับสยามสแควร์วัน บริเวณสามแยกอังรีดูนังต์ และจุดด้านหน้าเซ็นทรัล เวิลด์
Sensor for all เครื่องนี้ เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิธีการตรวจวัดที่ต่างไปจากของกรมควบคุมมลพิษซึ่งใช้แบบมาตรฐานคือระบบกราวิเมตริก (Gravimetric) แต่โลว์คอสต์เซนเซอร์ตรวจวัด PM2.5 ของ Sensor for all จะทำงานโดยอาศัยหลักการกระเจิงแสง (Light scattering)
ข้อแตกต่างของสองหลักการนี้ก็คือ ในระบบกราวิเมตริก จะวัดค่าฝุ่นละอองด้วยการดูดอากาศในบรรยากาศผ่านแผ่นกระดาษกรอง และชั่งน้ำหนักเอาว่าในปริมาณอากาศที่ดูดเข้ามา 1 ลูกบาศก์เมตร มีฝุ่น PM2.5 อยู่เท่าไร ระบบนี้เป็นระบบที่มีการกรองหลายชั้น มีการคุมความชื้น ทำให้ความคงที่ของอากาศที่ผ่านเข้ามามีความแม่นยำสูง แต่การวัดหรือการแสดงผลอาจไม่ตอบโจทย์ในช่วงเร่งด่วนเพราะต้องใช้เวลา และยังมีราคาสูงมาก ทำให้ยากที่จะขยายจุดติดตั้งให้ครอบคลุม
ส่วนโลว์คอสต์เซนเซอร์ของ Sensor for all ซึ่งมีราคาต่ำกว่า จะเข้ามาช่วยให้เกิดการขยายการติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น และการที่ติดตั้งได้เยอะก็จะช่วยในการปรับเทียบ (Calibrate) และตรวจสอบ (Verify) กับตัววัดมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษได้แม่นยำมากขึ้น และยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน Sensor For all บนสมาร์ตโฟน ที่แสดงข้อมูลคุณภาพอากาศเกี่ยวกับค่าฝุ่น PM2.5 และพยากรณ์คุณภาพอากาศ การแบ่งปันความรู้เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน และมีการตอบโต้กันระหว่างผู้ใช้งานกับทีมงานผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นได้ด้วย
ค่าฝุ่น PM2.5 ที่ได้จากการตรวจวัดของ Sensor for all ซึ่งติดตั้งในย่านปทุมวันทั้ง 4 จุด จะส่งไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนประมวลผลและแสดงผ่านแอปพลิเคชั่น Sensor for all ให้คนในพื้นที่ได้รับรู้แบบเรียลไทม์
ปทุมวันโมเดล จะดำเนินการในพื้นที่ทดลองนี้ตลอดปี 2565 ไปจนถึงฤดูกาลฝุ่นในปีหน้า และจะมีการวัดผลว่าโครงการนี้จะทำให้คุณภาพอากาศบริเวณนี้ดีขึ้นหรือไม่ เพื่อจะพัฒนาหรือต่อยอดกลายเป็นนโยบายในอนาคต ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ที่ยังต้องเดินหน้าควบคู่กันไป
ที่มาข้อมูล:
1. resourcecenter.thaihealth.or.th/article/‘ปทุมวันโมเดล’-พื้นที่นำร่อง-เขตควบคุมมลพิษต่ำเพื่อสุขภาพคนกรุง?fbclid=IwAR22wsYWt3F-4OFKjE_RuFisc9OfJdotKI6iMnYEyEVXBgVproqCdz6FQWQ
2. theactive.net/data/phatumwan-model-pm2-5/?fbclid=IwAR1QXNOJrbGLSt4hiK3CsjW-v0Uxmkabzo0CdeLWAu_uX4bxAZDlYKX4cB8
3. www.chula.ac.th/news/41078
4. theopener.co.th/node/689?fbclid=IwAR1YAagG7Jonvscd78yKNHLBec_hUKNNoa7zo2XbE4DBaPQKh4VFi8JRRMw