พลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ขยับราคาขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นเหมือนตัวเร่งให้ยุคสมัยแห่งพลังงานทางเลือกยิ่งขยับเข้าใกล้ไวขึ้นไปอีก พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วทั้งโลกจึงเป็นความหวัง
เพราะการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าร์เซลล์ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ถึง 800 กิโลกรัมต่อปี ต่อกำลังการผลิต 1 กิโลวัตต์ของโซล่าร์เซลล์ โดยหากเทียบกับการปลูกต้นไม้ จะเทียบได้กับต้นไม้ถึง 100 ต้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามประสิทธิภาพของโซล่าร์เซลล์ที่พัฒนาขึ้นทุกวัน ด้วยราคาต้นทุนและความสะดวกในการใช้งาน อยู่ในระยะที่คนทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้อย่างไม่ยากเย็น ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนแก่รัฐ เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ที่ติดตั้งอีกด้วย
ด้วยเหตุผลที่จูงใจขนาดนี้ เชื่อว่าหลายคนมีความคิดว่าอยากติดตั้งโซล่าร์เซลล์ไว้ใช้งานบ้างแล้ว แต่หากต้องการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ เราต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนแบบไหน ตามนโยบายของการไฟฟ้า?
เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2537 ประเทศไทยได้ลั่นนโยบายลดภาระการลงทุนของประเทศ และต้องการให้ทางภาคเอกชนเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น จึงกำหนดให้มีการลงทุนโดยเอกชนในการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer หรือเรียกย่อว่า IPP) โดยจะขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยตรง ซึ่งนโยบายนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก นั่นคือ
1. ประกาศรับซื้อไฟฟ้า (Request for Proposal หรือ RFP)
คือ เอกสารที่แจกแจงถึงข้อมูลรายละเอียดในโครงการนี้ อาทิ เกณฑ์ในการประเมินผู้ขายไฟฟ้า มาตรฐาน เงื่อนไข และหัวข้ออื่นๆ ที่มีความสำคัญ
2. สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA)
เป็นสัญญาระหว่าง กฟผ. กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยสัญญาฉบับนี้จะระบุถึงข้อปฏิบัติในการเดินเครื่อง ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ค่าพลังงานไฟฟ้า มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม การเก็บเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อเชื้อเพลิง แผนงานก่อสร้างระบบส่งเชื่อมโยงระหว่างโครงการ รายการกำหนดการตามสัญญา ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา และเหตุสุดวิสัย เป็นต้น ซึ่งสมควรอ่านโดยละเอียด
3. มาตรฐานและเงื่อนไขทางเทคนิคเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าและการปฏิบัติการ (Grid Code)
เป็นเอกสารที่ระบุข้อกำหนดทั่วไปของระบบ ความต้องการต่างๆ รวมถึงระเบียบวิธีการเชื่อมโยง การเดินเครื่องโรงไฟฟ้า และการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งผู้ที่ต้องการขายไฟฟ้าคืนให้แก่ภาครัฐจำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม
ในปัจจุบันเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายในการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) ที่เป็นกระแสไปทั่วโลก และเพื่อเสริมเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้า จากการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระยะยาว อันเป็นผลมาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561–2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ.2564–2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม)
ไม่ใช่เพียงแค่ผลประโยชน์ของประเทศเพียงอย่างเดียว แต่การติดตั้งโซล่าร์เซลล์ยังให้ผลประโยชน์คุ้มค่ากับผู้ติดตั้งด้วย นั่นคือเมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาการคืนทุนของโซล่าร์เซลล์โดยประมาณคือ 8 ปี หากติดตั้งไว้ในปริมาณมาก อย่างเช่นติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว บางที่ก็สามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้นเอง
นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนเงินลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยเจ้าของโรงงานที่ต้องการนำเข้าโซล่าร์เซลล์ สามารถขอยกเว้นภาษีนำเข้า 10% และยกเว้น VAT 7% ได้ แถมยัง สามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งหนึ่ง เป็นระยะเวลา 3 ปีได้อีกด้วย
ตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าข้างต้น เป็นที่สังเกตได้ว่า ไม่ใช่ว่าทุกสถานที่จะสามารถขายไฟฟ้าคือให้แก่ กฟผ.ได้ แต่ยังจำเป็นต้องรอโควต้าจากทางรัฐก่อน อีกทั้งกฎระเบียบและข้อกำหนดของการไฟฟ้าค่อนข้างเป็นมาตรฐาน ผู้ที่ต้องการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ไว้ทั้งใช้เอง หรือขายไฟฟ้าส่งต่อให้กับทางรัฐ ควรศึกษาอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ทำให้ไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทาง กฟผ. (PPA) ได้
ผู้ที่กำลังสนใจและอยากติดตั้งโซล่าร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในยามที่การคิดอัตราค่าไฟปรับสูงขึ้น สามารถติดตามข่าวสารจากทาง กฟผ. ได้อย่างใกล้ชิดตามลิงค์ของกระทรวงพลังงานได้เลยที่ www.eppo.go.th/index.php/th
ที่มาข้อมูล
1. www.eppo.go.th/index.php/th/component/k2/item/18045-news-070565-01
2. www.boi.go.th
3. www.ppa.egat.co.th/ippx/index.php?option=com_content&view=article&id=25&Itemid=147
4. www.ppa.egat.co.th/ippx/index.php?option=com_content&view=article&id=26&Itemid=148
5. www.eppo.go.th/images/Power/pdf/Non-Firm.pdf
6. krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_461Solar-Corporate_PPA_ธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ตอบโจทย์กระแสรักษ์โลก.pdf