ไม่เพียงฝุ่นควันในที่โล่งเท่านั้นที่บั่นทอนสุขภาพของเรา ทว่ามลพิษในอาคาร (Indoor Air Pollution) ก็เป็นอีกแหล่งมลพิษใกล้ตัวที่หลายครั้งถูกมองข้ามไป
เวลานี้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมถึง WHO กำลังกลับมาให้ความสนใจประเด็นนี้กันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงที่เราต่างต้องใช้เวลาอยู่ในบ้านหรืออาคารกันมากเป็นพิเศษตลอดภาวะวิกฤติโรคระบาด ทั้งยังมีแนวโน้มว่าการ work from home จะกลายเป็นวิถีถาวรของคนส่วนใหญ่
ทั้งนี้ มลพิษในอาคารนั้นมีแหล่งกำเนิดที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่แหล่งกำเนิดที่ค่อนข้างน่ากังวลนั้นมีจุดเริ่มต้นจากในครัวเรานี่เอง อาทิ การทำอาหารด้วยเตาฝืน ซึ่งปล่อยควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนออกไซด์ในปริมาณมาก
และกว่านั้นยังปะปนด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งจะหมุนเวียนอยู่ในบ้านต่อไปอีกหลายวัน .
ความน่ากังวลของการใช้เตาฝืนนั้น ปรากฏชัดในพื้นที่ที่ยังคงวิถีการปรุงอาหารแบบดั้งเดิมมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์อย่างในประเทศอินเดีย โดยมีผลวิจัยชี้ชัดว่า การหุงต้มด้วยเตาฝืนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากขึ้นเป็นเท่าตัว
ไม่ใช่เพียงการใช้เตาฝืนแบบเก่าเท่านั้นที่ก่อมลพิษในอาคาร แต่การใช้ ‘เตาแก๊ส’ ที่คนเมืองทั้งหลายคุ้นเคยนั้นก็ก่อมลพิษไม่น้อยไปกว่ากัน
โดยผลวิจัยจาก Drexel University สหรัฐอเมริกา เผยว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันใช้แก๊สหุงต้มมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลหลักคือเตาแก๊สแบบมีไฟลุกโชนนั้นทำอาหารได้อร่อยกว่าเตาอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่ระบุว่า หลายเมนูเอเชี่ยนต้องการความแรงของไฟในการปรุงเป็นพิเศษ ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับมลพิษจากการเผาไหม้ที่เตาแก๊สปล่อยออกมานั้น ก็นับว่าน่าเป็นห่วง
“ถ้าคุณใช้เตาอิเล็กทรอนิกส์ การเผาไหม้จะเกิดที่โรงงานไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่ไกลออกไป แต่เมื่อเป็นเตาแก๊ส การเผาไหม้จะเกิดขึ้นในครัวของคุณทันที ซึ่งสารที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้นั้นอุดมด้วยไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์และฟอร์มาลดีไฮด์ ที่จะสะสมในร่างกายทีละน้อยไปเรื่อยๆ” นักวิจัยจาก Drexel University ให้ข้อมูลเช่นนั้น ก่อนระบุว่ามีผลวิจัยว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ใช้แก๊สหุงต้ม มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากกว่าปกติถึง 20 เปอร์เซ็นต์
แต่ใช่ว่ามลพิษจากแก๊สหุงต้มจะไม่มีทางหลีกเลี่ยง วิธีการลดความรุนแรงจากการเผาไหม้ที่เกิดในห้องครัวที่มีประสิทธิภาพ คือการติดตั้งเครื่องดูดควันหรือพัดลมไว้บริเวณเหนือเตาแก๊ส ซึ่งจะช่วยลดความเข้มข้นของสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ลงได้มาก
รวมถึงการออกแบบให้ครัวมีลักษณะเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งจะช่วยลดความเข้มข้นของมลพิษในครัวลงได้เช่นเดียวกัน ทว่าทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการหันไปใช้พลังงานสะอาดในการหุงต้ม อาทิ การใช้เตาอิเล็กทรอนิกส์รุ่นอนุรักษ์พลังงาน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
ที่มาข้อมูล:
1. www.vox.com
2. www.npr.org