แม้ในกรุงเทพฯ ปีนี้ส่วนใหญ่แล้วคุณภาพอากาศจะอยู่ในขั้นที่เบาใจ แต่ในหลายจังหวัดยังได้รับผลกระทบจากฝุ่นจิ๋วหรือ PM2.5 กันอยู่พอสมควร ทั้งสาเหตุจากในพื้นที่และข้ามพรมแดนมาจากเพื่อนบ้าน เราอยากชวนให้มาทำย้อนทำความรู้จักกับฝุ่นจิ๋วอีกสักครั้ง เป็นการย้ำเตือนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปล่อยมือจากเราไปไหน และพร้อมจะเข้าสู่ร่างกายเราได้ทุกเมื่อในวันที่สภาพอากาศย่ำแย่
PM2.5 หรือ Particulate Matter 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน ฝุ่นขนาดจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และเล็กเกินกว่าที่ขนจมูกจะกรองได้ ทำให้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง ฝุ่นเล็กขนาดไหน ลองจินตนาการภาพว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของผมคนเราอยู่ที่ 100 ไมครอน เจ้าฝุ่นจิ่วนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2.5 ไมครอนเท่านั้นเอง และเจ้าฝุ่นจิ๋วขนาดเล็กนี้ ยิ่งเล็กก็ยิ่งร้าย
ฝุ่น PM2.5 จะลอยปะปนในอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ในที่โล่ง การหุงต้มด้วยฟืน การเผาไหม้ของเครื่องจักร เครื่องยนต์รถยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ มาจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์สู่อากาศ ทำปฏิกิริยาเคมีกับโอโซนและแสงแดด ทำให้กลายเป็นฝุ่นผงขนาดเล็ก ฝุ่น PM2.5 สามารถลอยค้างในอากาศได้นานนับสัปดาห์ และเคลื่อนที่ได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร
ทางเดินของฝุ่นจิ๋ว
ฝุ่นสามารถเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ ดังนั้นด้วยขนาดที่เล็กจิ๋วฝุ่น PM2.5 จึงเข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดอย่างง่ายได้ และยังเข้าสู่กระแสเลือดได้อีกด้วย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย อาทิ เบื้องต้นทำให้เกิดการระคายเคืองผิว ดวงตา แสบจมูก ระคายเคืองอวัยวะที่เกี่ยวกับทางหายใจ
เมื่อฝุ่นเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะเกาะตัวในส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อนั้นๆ หากเกิดการสะสมปริมาณมากเป็นเวลานานในเนื้อเยื่อปอด อาจเกิดพังผืดและแผลขึ้น จนนำไปสู่โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอดได้
อีกทั้งการสะสมปริมาณมากในเส้นเลือดอาจก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เส้นหลอดเลือดในสมองตีบ นำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหัวใจวายได้ด้วย
ซึ่งเรื่องอันตรายของฝุ่นจิ๋วนี้ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ได้เคยให้ข้อมูลผ่านบทสัมภาษณ์ในกรีนพีซ ว่า “PM2.5 มีขนาดเล็กมากถึงขนาดแทรกเข้าไปในหลอดเลือดได้ เล็กกว่าเม็ดเลือดแดงอีก ตัวมันมีลักษณะเหมือนสำลี มีเส้นใยที่ให้สารอื่นๆ เช่นโลหะเหล็ก นิกเกิล แคทเมียม ปรอทเกาะได้ ฝุ่นก็จะพามลพิษต่างๆ เข้าไปในร่างกาย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดว่า PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง เพราะตัวมันเป็นตัวพามลพิษอื่นเข้าสู่ร่างกาย”
ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ
ปัจจุบันค่ามาตรฐานของอากาศ โดย WHO อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ (มคก./ลบ.)ในขณะที่มาตรฐานของประเทศไทยอยู่ที่ 50 มคก./ลบ. โดยคู่มือด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย แนะนำว่าเมื่อค่าอากาศอยู่ที่ 51-90 มคก./ลบ. คือระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ และหากค่าเกิน 91 มคก./ลบ. จะมีผลต่อสุขภาพ วันไหนก็ตามที่ค่าฝุ่นสูง สิ่งที่ควรทำคืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือหากจำเป็นต้องมีกิจกรรมนอกบ้าน ก็ควรสวมใส่หน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นจิ๋วได้
แต่อย่างไรก็ตาม ค่ามาตรฐานเป็นเพียงเครื่องชี้วัดเพื่อให้เราตระหนักถึงอันตรายและหันมาช่วยกันลดมลพิษ โดยคุณหมอสุภัทร ได้กล่าวไว้กับกรีนพีซอีกว่า ค่าฝุ่นต่ำกว่ามาตรฐานไม่ได้แปลว่าปลอดภัย จากการวิจัยพบว่าแม้ค่าฝุ่นจะต่ำก็ยังมีอันตราย เพียงแต่น้อยกว่าเวลาค่าสูง และ “เนื่องจากไม่มีค่ามาตรฐานที่ปลอดภัย การกำหนดค่ามาตรฐานให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลกก็ลดค่ามาตรฐานลงเป็นระยะๆ เช่นเดียวกัน”
ที่มาข้อมูล:
1. www.greenpeace.org/thailand/story/23299/climate-airpollution-pm2-5-standard-supat/
2. www.samitivejchinatown.com/th/health-article/PM-25-Effects-Your-Health
3. www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1753793
4. sbo.moph.go.th