เพราะปัญหาฝุ่นในเมืองหลวงยังต้องการการแก้ไขอย่างยั่งยืน สสส. จึงสานพลังกับกรุงเทพมหานคร มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว ‘KICK OFF โครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง)’ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนผ่าน 7 กิจกรรมหลักที่โครงการฯ กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง คือ พัฒนาศักยภาพบุคลากรของ กทม. ดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า, พัฒนานวัตกรรมเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล, พัฒนาแพลตฟอร์ม PM2.5 Open Data BKK, พัฒนาการออกแบบและวางแผนการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับคาร์บอนและกรองฝุ่น PM2.5, ส่งเสริมการเดินทางลดฝุ่น, ส่งต่อองค์ความรู้ สานพลังแก้ไขปัญหา PM2.5 ผ่านแพลตฟอร์ม 1BlueSky และจัดประกวดผลงานลดฝุ่นจากนิสิตนักศึกษา
งานแถลงข่าวจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 โดยมีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะ, เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ร่วมแถลง
เบญจมาภรณ์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งว่า “แหล่งที่มาของ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาจากภาคการจราจรขนส่งเป็นปัจจัยหลัก การเผาในที่โล่งของภาคการเกษตรเป็นปัจจัยรอง การขับเคลื่อนงานลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรม และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม
“หากคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ความสำคัญ ตระหนักถึงปัญหา และให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดฝุ่นจากต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เชื่อว่า PM2.5 จะลดลงได้แน่นอน”
ทั้งนี้ เรื่อง PM2.5 เป็นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมายัง กทม. เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติได้กล่าวถึง 4 แนวทางที่ กทม. ดำเนินการว่า
“แนวทางดำเนินการประกอบด้วย หนึ่ง เปลี่ยนพฤติกรรม โดยชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย และนำบทเรียนมาปรับใช้ทั้งช่วงที่มีฝุ่นและไม่มีฝุ่น สอง เรามีการประเมินสถานการณ์ระยะยาว เพราะปัญหานี้มีสาเหตุและความเกี่ยวเนื่องกับทุกคนมานาน ทั้งเรื่องพฤติกรรมและความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การแก้ปัญหาจึงต้องมีแผนระยะยาว
“สาม คือการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสืบหาต้นตอการเกิดฝุ่นเพื่อแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งมีเครื่องมืออยู่หลากหลาย เช่น แพลตฟอร์มแก้ปัญหาฝุ่น แอปพลิเคชันปลูกต้นไม้ แผนที่ในการเฝ้าระวัง และการแจ้งเตือนล่วงหน้า และสี่ คือการร่วมมือกันในหลายส่วน เช่น ร่วมกับตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก เพื่อควบคุมรถที่ปล่อยมลพิษ”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องฝุ่นมีอยู่ในแผนวาระแห่งชาติอยู่แล้ว เช่น แผนกำหนดการใช้น้ำมันยูโร 5 ยูโร 6 การตรวจจับรถควันดำของตำรวจ การตรวจสภาพรถของกรมการขนส่งทางบก แต่ยังขาดการประสานความร่วมมือกัน และ กทม. มีหน้าที่กระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมกันแก้ปัญหา ประสานงาน จัดโครงการ และจัดทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการต่อไป
ด้าน ดร.สุมิท ได้กล่าวถึงโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ว่า “โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นในเมือง และได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในการสุมหัวคิด เพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน
“และปีนี้จะเป็นการสุมหัวทำ ลงมือขับเคลื่อนกิจกรรมที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบมา โดยมีเป้าประสงค์หลักในการสร้างกิจกรรมหรือพื้นที่ต้นแบบที่พร้อมจะนำไปขยายผลให้เกิดเป็น Snowball Effect ต่อไปให้ได้”
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้กับองค์กร หน่วยงาน หรือผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนกิจกรรมในโครงการด้วย
“เพราะปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อสุขภาพของทุกคนในสังคม ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จ” ดร.สุมิทกล่าวทิ้งท้าย