เราทุกคนกำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มองไม่เห็นทั้ง PM10 และ PM2.5 แต่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาพูดถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกหนึ่งประเภท นั่นก็คือ PM0.1 หรือบางครั้งถูกเรียกว่า Ultrafine Particle อนุภาคเล็กพิเศษที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 ถึง 25 เท่า แถมยังผ่านเข้าปอดและเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายกว่า
PM หรือ Particle Matter คือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ล่องลอยและสร้างมลพิษในอากาศ ขนาดของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน เรียกว่า PM10 และขนาดของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่เกิน 2.5 ไมครอน เรียกว่า PM2.5 ส่วนฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 0.1 ไมครอน เรียกว่า PM0.1 ซึ่งเป็นขนาดที่เท่ากับเชื้อโรคและเชื้อไวรัส รวมไปถึงเชื้อโควิด-19
และด้วยขนาดและพฤติกรรมที่เล็กระดับนาโน ทำให้ฝุ่นจิ๋วที่จิ๋วยิ่งกว่าเดิมนี้ยากต่อการตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีการตรวจสอบคุณภาพอากาศในปัจจุบัน ทั้งยังไม่มีมาตรฐานอย่างเป็นทางการในการวัดหรือควบคุมปริมาณในตอนนี้
อนุภาคขนาดจิ๋วที่ทำลายร่างกายและสิ่งแวดล้อม
องค์การอนามัยโลกกล่าวผ่านรายงาน Health Effects of Particulate Matter ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาด 0.1-1 ไมครอน สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ทั้งยังเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้ไกล
ด้วยความที่ PM0.1 มีขนาดเล็กมาก จึงแตกต่างจาก PM2.5 ที่เข้าถึงแค่ถุงลมปอด แต่ PM0.1 สามารถทะลุเข้ากระแสเลือด และกระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ตามระบบไหลเวียนโลหิต ตั้งแต่ปอด หัวใจ ตับ ไต รวมถึงสมอง นำมาสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคทางสมอง ภาวะความจำบกพร่อง โรคระบบทางเดินหายใจ การอักเสบในหลอดลมและปอด หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอื่นๆ ที่เป็นผลจากสุขภาพร่างกายที่ถดถอย
นอกจากนี้ เมื่อคาร์บอนดำ (Black Carbon) ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ในฝุ่นละอองขนาดเล็ก จับกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs) จะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ คนที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด หรือโรคภูมิแพ้ อาจมีความเสี่ยงมากกว่าเดิม รวมไปถึงกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ
ในด้านสิ่งแวดล้อม PM0.1 ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ไปจนถึงวัฏจักรของน้ำ การเติบโตของสิ่งมีชีวิต การปนเปื้อนในมหาสมุทร และธาตุอาหารในดิน ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบทุกอย่างจะย้อนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไปเรื่อยๆ
แล้ว PM0.1 มาจากไหน? สถานการณ์ทั่วไปเป็นอย่างไรบ้าง?
แหล่งกำเนิด PM0.1 ส่วนใหญ่ของเอเชียคือท้องถนนที่เต็มไปด้วยการปล่อยควันพิษในเมืองใหญ่ เช่น กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลคือแหล่งกำเนิด PM0.1 ชั้นดี ทั้งควันดีเซลยังเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 (ยืนยันว่าก่อมะเร็งแน่นอน)
องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศราว 7 ล้านคนต่อปี นอกจากเครื่องยนต์แล้ว ฝุ่นละอองขนาดเล็กยังมาจากการเผาไหม้ในครัวเรือน โดยมีประชากรกว่า 2.6 พันล้านคนกำลังเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศในบ้านและอาคาร ทั้งจากการใช้ไฟ ใช้เตาประกอบอาหาร ถ่านหิน น้ำมันก๊าด ชีวมวล เช่น ไม้ เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมูลสัตว์ รวมไปถึงยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช
การใช้หน้ากากอนามัยและเครื่องกรองอากาศคือวิธีป้องกันตนเองขั้นพื้นฐาน แต่เราเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากใส่หน้ากากอนามัยที่หนาขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น หากเราตระหนักถึงภัยร้ายในอากาศที่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเรามากขึ้นทุกวัน แล้วหันมาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุคงจะดีกว่า เริ่มตั้งแต่การงด ลด เลิกกิจกรรม ที่เป็นจุดตั้งต้นของการเกิด PM0.1 ทั้งในบ้านและพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ท้องฟ้าของโลกยังคงเป็นสีฟ้า ไม่ใช่เพียงสีเทาของฝุ่นควัน
หากทุกคนร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมทั้งทางนโยบายและการปฏิบัติ เราเชื่อว่าสุขภาพอากาศที่ดีจะทำให้สุขภาพของทุกคนดีไปพร้อมกันอย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล
1. www.euro.who.int
2. www.who.int/health-topics/air-pollution#tab=tab_2
3. doh.hpc.go.th/data/PM25
4. www.iqair.com/th/blog/air-quality/ultrafine-particles
5. www.preprints.org/manuscript/202108.0575/v1
6. learn.kaiterra.com/en/resources/three-types-of-particulate-matter#:~:text=5%2C%20as%20the%20smaller%20particle,indoors%20(up%20to%2090%25).
7. www.visualcapitalist.com/visualizing-relative-size-of-particles
8. www.researchgate.net/publication/346445284_Particulate_Matter_PM_01_Ultrafine_Particle