กรุงเทพฯ ไม่ได้มีแต่ตึกสูงระฟ้า หรือมีแต่ห้างสรรพสินค้าให้เราท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะ ที่มีสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอีกหลากชนิดร่วมอาศัยอยู่ด้วย
อาจเรียกว่าเป็นข่าวดีก็ว่าได้ กับนโยบายอันน่าสนใจของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่จะช่วยเปลี่ยนเมืองให้อากาศดี ด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มขึ้น และเอื้อต่อการเข้าถึงของคนกรุงเทพฯ อาทิ ปลูกต้นไม้ล้านต้น จัดหารุกขกรมืออาชีพมาดูแลต้นไม้ประจำเขต สร้างสวน 15 นาที ทั่วกรุง ให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งได้ด้วยการเดินในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที เป็นต้น
ซึ่งก่อนหน้านี้ ปี 2564 กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวราว 40,866 ล้านตารางเมตร คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 7.31 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งนับรวมสวนรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนถนน สวนชุมชน และยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุเอาไว้ว่า ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 1 คน ควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9-15 ตารางเมตร
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลักกระจายอยู่ 42 แห่ง สวนสาธารณะรอง 78 แห่ง อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร และกำลังมีเป้าหมายระยะยาวถึงปี 2030 เป็น Green Bangkok 2030 ด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สาธารณะสีเขียวในกรุงเทพฯ อย่างทั่วถึง ให้ได้ 10 ตารางเมตร ต่อ 1 คน และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในระยะเดิน 400 เมตร รวมถึงสร้างพื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่กรุงเทพฯ
แต่ก่อนการมาถึงสวนใหม่ๆ กรุงเทพฯ ก็พอจะมีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในแง่การใช้พื้นที่ คือไม่ใช่แค่นำพืชพรรณสีเขียวมาปลูกในพื้นที่ว่าง แต่ยังมีการออกแบบพื้นที่เพื่อการใช้สอยต่างๆ เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน และคิดเผื่อสรรพสัตว์อื่นๆ มากขึ้น ให้เราได้มีโอกาสชมนกในเมือง ชื่นชมระบบนิเวศและภูมิทัศน์กันบ้างอยู่นะ
อย่าง สวนป่าเบญจกิติ สวนสาธารณะใจกลางเมืองขนาด 300 ไร่ ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ด้วยแนวคิด Rewilding ดึงความเป็นป่าเข้ามาไว้ในเมือง ฟื้นคืนธรรมชาติและระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ที่นี่มีทั้งสวนป่า เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร เชื่อมไปยังพื้นที่สวนน้ำบริเวณส่วนหน้าของสวนเบญจกิติ และเชื่อมกับสะพานเขียวเข้าสู่สวนลุมพินีได้อีกด้วย
ความน่าสนใจอีกอย่างคือมีการออกแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) โดยตัวสวนล้อมรอบไปด้วยเกาะเล็กๆ ทำหน้าที่เสมือนเป็นอ่างเก็บน้ำในเมือง เมื่อมีฝนตกหนักจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้ท่วมออกไปสู่ชุมชนละแวกใกล้เคียง อีกทั้งจะมีการผันน้ำจากคลองไผ่สิงโตเพื่อเข้ามาบำบัดอีกด้วย
ซึ่งการบริหารจัดการน้ำ ถือว่าเป็นหัวใจในการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีความสำคัญในการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต รวมถึงยังรายล้อมด้วยต้นไม้หลากสายพันธุ์จากพืชท้องถิ่นในบริเวณกรุงเทพฯ อย่างต้นมะกอกน้ำ ต้นลำพู ต้นโพ ต้นกร่าง เป็นต้น ซึ่งบริเวณสวนป่านี้ก็ได้กลายเป็นที่อยู่ให้บรรดาสัตว์ตัวน้อยๆ อย่าง นก กระรอก และเหล่าแมลง ได้อิงอาศัยและขยายพันธุ์ต่อไป ส่งผลให้ระบบนิเวศของเมืองสมดุลครบวงจร และในไลฟ์หนึ่งของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังบอกว่ามีนกฮูกอยู่ที่สวนแห่งนี้ด้วย!
นอกจากนี้ พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในเมือง ยังมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของนกอย่างมาก สังเกตได้เลยว่าหากเป็นสวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยต้นไม้แน่นๆ ฟูๆ นักเดินสวนก็จะได้เซย์ไฮกับนกแน่นอน เพราะต้นไม้เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งพักพิงชั้นดี ซึ่งนกในเขตเมืองมีบทบาทในระบบนิเวศที่ต่างกันออกไป บางชนิดกินหนอน บางชนิดชอบแมลง บางชนิดหลงใหลรสของผลไม้ ที่สำคัญเมื่อถึงฤดูหนาว ถ้ามีโอกาสได้แหงนหน้ามองท้องฟ้า คุณอาจพบกับฝูงนกพากันบินมาหาอากาศอบอุ่นในประเทศไทย
โดยสวนในเมืองเองก็สามารถพบนักเดินทางบนฟากฟ้าได้เหมือนกัน อาทิ สวนป่าของศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง หรือ สวนลุมพินี ปอดของกรุงเทพฯ พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เชิงระบบนิเวศแห่งนี้ นอกจากเหล่าคนเมืองจำนวนมากใช้ออกกำลังกาย นั่งปิกนิกใต้ต้นไม้ ก็มีเจ้านกที่พบเห็นบ่อยๆ อย่าง นกแอ่นตาล อีกา นกแอ่นบ้าน และพิราบป่า
และอีกหนึ่งแหล่งดูนกธรรมชาติ ก็คือ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่อันชอุ่มชุ่มชื่น มีความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตค่อนข้างมาก สามารถพบเจอกระรอก เต่าทอง ผีเสื้อ ผึ้ง และแมลงอื่นๆ ได้แบบง่ายๆ
รวมถึงมีสถานที่ลับ The Bird Wave Bridge (สะพานคลื่นนก) สะพานไม้ข้ามคู่น้ำที่กั้นกลางระหว่างสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนรถไฟ รายล้อมด้วยหมู่แมกไม้ กับบรรยากาศอันเงียบสงบ ดึงดูดนกหลายชนิด อาทิ นกเขาชวา นกกะปูดใหญ่ นกกาเหว่า นกแอ่นกินรัง นกปากห่าง นกตีทอง นกกระจิบ นกจับแมลงสีน้ำตาล นกเค้าแมว เป็นต้น
อีกทั้งบริเวณนี้ยังเป็นมิตรต่อสัตว์อื่นๆ อย่าง ปลา เต่า สัตว์เลื้อยคลานและตัวเงินตัวทองที่แหวกว่ายอยู่ในสระน้ำ ช่วยล่าซากเน่าเปื่อย เรียกว่าคอยควบคุมสมดุลของระบบนิเวศได้อย่างยอดเยี่ยม
มากกว่าเรื่องเล่าในบทความ และรูปถ่ายจากมือถือ ที่สวยสู้บรรยากาศจริงไม่ได้ สถานที่จริงยังเต็มไปด้วยเสียงธรรมชาติ ใบไม้พัด เสียงลม เสียงนกร้อง เสียงแมลง กลิ่นต้นไม้ ยิ่งไปตอนแดดร่มลมตก รับรองฟิน
และถึงแม้วันนี้ในแง่การเข้าถึงเชิงระยะทางสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ยังนับว่าเดินทางไปได้ยากแสนเข็ญอยู่ แต่แอบหวังว่าวันข้างหน้า กรุงเทพฯ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เหมาะกับบริบทเมือง มีสวนสาธารณะ ที่เข้าถึงได้ในแง่การใช้พื้นที่ และระยะทางที่เข้าถึงได้ในเร็ววัน เพราะเมื่อระบบนิเวศกลับคืนสู่เมือง สภาพแวดล้อมที่ดีก็จะตามมาแน่นอน
ภาพ: ศศิกานต์ เอื้อวิทยาวุฒิกุล
ที่มาข้อมูล:
1. www.prbangkok.com/th/news/detail/15/5930
2. www.facebook.com/bcst.or.th
3. ฐานข้อมูลและระบบติดตามประเมินผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร V.2