แนวคิดในการจัดการเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ถูกนำมาตั้งเป็นเป้าหมายของบริษัทหรือองค์กรระดับโลก ด้วยต้องปรับตัวและตอบสนองกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจากการเปิดเผยนโยบายของบริษัทยักษ์ใหญ่ เราพบว่ามีแนวทางน่าสนใจ ที่อยากเห็นผลสำเร็จจริงในปีเป้าหมายที่แต่ละบริษัทกำหนดเอาไว้
Orange
Orange ได้ประกาศอย่างมุ่งมั่นว่าจะเข้าสู่ Net Zero ภายในปี 2040 โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2025 และยังวางแผนว่าจะใช้งานพลังงานหมุนเวียนมากถึง 50% ซึ่งในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ออเรนจ์ได้ลดการปล่อยคาร์บอนลงแล้ว 35% โดยการนำรถไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2,540 คันมาใช้แทนรถยนต์สันดาปภายใน ส่วนการประชุมออนไลน์ระหว่างสาขานั้นก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 25%
นอกจากนี้ ออเรนจ์ยังมีส่วนร่วมกับโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำให้โลกดีขึ้น อาทิ Orange Marine สำหรับการปกป้องสภาพอากาศในมหาสมุทร โดยร่วมมือกับ Euro-Argo และยังมีความร่วมมือกับ NGO CREA Mont-Blanc ในการทำงานปกป้องระบบนิเวศบนเทือกเขาแอลป์ ที่ถูกทำลายลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ โดยเฝ้าติดตามผลกระทบและรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อจากนี้
Brambles
บริษัทขนส่งสัญชาติออสเตรเลียที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 60 ประเทศ ปรับกลยุทธ์โดยเข้าร่วมกับโครงการ ‘UN Race to Zero’ และตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จภายในปี 2040 ส่วนหนึ่งของโครงการคือการเปลี่ยนมาใช้แท่นวางสินค้า (Pallet) ที่เป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งในทวีปยุโรปและในทวีปอเมริกา ซึ่งการใช้แท่นวางสินค้าที่เป็นกลางทางคาร์บอนนี้ ยังช่วยสนับสนุนโครงการปลูกป่าชุมชนในประเทศยูกันดา ทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้แก่คนในท้องที่นั้นๆ และสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 8,222 ตัน
นอกจากนี้ Brambles ยังปลูกป่าอีก 1,000,000 เฮกตาร์ ในทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยป่านี้จะกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 926 ตัน ทั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งยังประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในหลายประเทศ เพื่อลดระยะทางที่รถบรรทุกขนส่งสินค้าต้องเดินทาง ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 30%
Siemens AG
Siemens AG ได้ลงนามให้คำมั่นสัญญาว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 แต่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวบริษัท เท่านั้นที่จะทำเรื่องนี้ เพราะพวกเขาทั้งให้ความรู้และผลักดันให้คู่ค้าต่างๆ ร่วมกันทำด้วยเช่นกัน
การลงทุน 65 ล้านยูโรในผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานของ Siemens AG นั้น ทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 13 ล้านยูโรต่อปี และ 70% ของการใช้ไฟฟ้าในไซต์งานทั่วโลกมาจากพลังงานหมุนเวียน และตอนนี้ในหลายๆ โครงการ องค์กร ชุมชน และทรัพยากรที่ซีเมนส์กำลังดำเนินการอยู่ ล้วนแล้วแต่พุ่งเป้าไปที่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
จากโครงการที่มีอยู่มากมาย และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน กำลังส่งผลให้บริษัทซีเมนส์กลายเป็นทั้งผู้นำและตัวอย่างในอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
City Developments Limited (CDL)
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกจากสิงคโปร์ มุ่งมั่นที่จะเป็นเจ้าของและผู้พัฒนาสินทรัพย์ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดยการลงทุนเพื่อเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด
LafargeHolcim
บริษัทวัสดุก่อสร้างแห่งแรกที่ลงนามในโครงการ Science Based Targets initiative (SBTi) บริษัทนี้ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลิตปูนซีเมนต์หลากหลายชนิดที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ
Ford
ค่ายยานยนต์อันดับ 3 ของโลกจากอเมริกา ได้ประกาศเข้าร่วมเส้นทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และคาดหวังว่าจะบรรลุเส้นชัยภายในปี 2050 โดยเริ่มต้นศึกษาและวิจัยเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซใน 3 ส่วน ซึ่งคิดเป็น 95% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ธรรมชาติทั้งหมดของบริษัท อย่างการใช้รถยนต์ การซ่อมบำรุง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของบริษัท
และจากนี้ ฟอร์ดยังวางแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในรุ่น Mustang Mach-E และ F-150 ด้วยเงินลงทุน 11.5 พันล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งจัดตั้งโรงไฟฟ้าหรือจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานของฟอร์ดทุกแห่งภายในปี 2050
Hon Hai
บริษัทอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน หนึ่งในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งเป้าว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยใช้วิธีเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการบริหารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของบริษัทในเครือ ตลอดจนกระบวนการในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด และจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (TCFD)
สิ่งเหล่านี้ถูกคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ผล เพราะ Hon Hai เป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Amazon, Apple, PlayStation และอื่นๆ อีกหลายแบรนด์ ซึ่งหาทำได้สำเร็จ ก็จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกได้อีกมาก
Polska Grupa Energetyczna (PGE)
บริษัทผลิตพลังงานไฟฟ้าเจ้าใหญ่ที่สุดของโปแลนด์ ซึ่ง 88% ของพลังงานที่ผลิตได้จากบริษัทแห่งนี้คือถ่านหิน แต่พวกเขาก็มีความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนจากถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาดอย่างพลังงานลม และได้ดำเนินโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลของโครงการนี้ทำให้ PGE สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 550-650 เมกะวัตต์ และจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมากถึง 85% ภายในปี 2030 ให้จงได้
Woolworths
ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่แห่งดินแดนจิงโจ้ ได้ให้คำมั่นว่า ภายในปี 2050 บริษัทแห่งนี้จะกลายเป็นบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนลง 63% และจะลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานลง 19% ภายในปี 2030 ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ร้านสาขาไม่น้อยกว่า 120 แห่ง และที่ศูนย์กระจายสินค้าอีก 2แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าจำนวน 16,466 เมกะวัตต์ชั่วโมงโดยประมาณ รวมถึงการประหยัดไฟด้วยการเปลี่ยนจากหลอดไฟฟ้าทั่วไปมาใช้หลอดไฟฟ้า LED และเพิ่มงบประมาณในการคิดค้นและพัฒนาระบบทำความเย็น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และลดการรั่วไหลของความเย็นลง
American Airlines
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 อเมริกันแอร์ไลน์ส ได้เผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารกำกับดูแลกิจการ ซึ่งระบุแผนการเพื่อบรรลุเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ในรายงานดังกล่าวได้ย้ำถึงเป้าหมายต่างๆ ไว้ ทั้งการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนจำนวน 2.5 ล้านกิกะจูลส์ ภายในปี 2050 การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานเชื้อเพลิงให้เพิ่มขึ้นมากถึง 15-20% ในเครื่องบินรุ่นใหม่ การปรับปรุงการจราจรทางอากาศเพื่อลดการปล่อยมลพิษ และเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม
ที่มาข้อมูล:
1. www.pier.or.th/blog/2022/0301
2. www.woolworthsholdings.co.za/sustainability/our-goals/net-zero
3. www.ipcc.ch/sr15