ด้วยตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ และก่อผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนอย่างไม่มีพรมแดน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง, กรมควบคุมมลพิษ, กรุงเทพมหานคร, ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย จึงสานพลังร่วมกันแก้ไขปัญหานี้
ผ่านโครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดนจากการเผาไหม้ ระหว่างไทย – เมียนมา (The Technical Workshop and Study Visit on Transboundary Haze Pollution Management Between Thailand and Myanmar) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567
โดยร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย ในหัวข้อ การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, การขับเคลื่อนงานวิชาการกับการลดการเผาภาคเกษตร, มุมมองปัญหาหมอกควันข้ามแดนไทย-เมียนมา-ลาว, และการขับเคลื่อนชุมชนปลอดการเผาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
และเยี่ยมชมกิจกรรมส่งเสริมการลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล พร้อมชมสาธิตการทำงานของเครื่องยนต์ต้นกำลังชีวมวล ผลิตแก๊สเชื้อเพลิง ลดการเผาในพื้นที่โล่งภาคการเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ชุมชนอาสาพัฒนา เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก มีประชากรรวมกันกว่า 150 ล้านคน แนวโน้มการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันมีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรทั่วโลก
“สสส. มุ่งสร้างสุขภาวะประชาชน โดยเน้น ‘สร้างนำซ่อม’ ได้ยกระดับการดำเนินงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพด้านการลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็น 1 ใน 7 ทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574) โดยมลพิษทางอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ปัญหา
“สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน มีความเกี่ยวเนื่องกับหลายฝ่าย ไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วโดยลำพัง โครงการนี้มีการกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศ เป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ของประชาชนทั้งในราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” นพ.พงศ์เทพกล่าว
นายยอดยิ่ง ศุภศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า โครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดน เกิดขึ้นจากการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญที่กระทบกับชีวิตของประชาชนไทย–สปป.ลาว–เมียนมา และสอดคล้องกับผลการประชุมระดับผู้นำสามฝ่าย เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566
“ปัญหานี้เป็นปัญหาระยะยาวที่ฝังรากลึกในวิถีชุมชนและการทำการเกษตร และเป็นปัญหาร่วมของทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้ง 3 ประเทศ ความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ จะนำไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน และลดการเผาไหม้เพื่ออากาศสะอาดและมลภาวะที่ดีของทุกคน”
นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “ในการหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน (Satellite Fire Hotspot Monitoring) และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
“รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการภาคการเกษตร (Agricultural Management) ให้กับฝ่ายเมียนมา ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) ของไทย โดยฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและเชิงเทคนิคให้กับเจ้าหน้าที่เมียนมาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 20 คน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย จำนวน 10 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการ รวมถึงสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ด้วย ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การบรรเทาปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งในไทยและเมียนมาในอนาคตต่อไป”
ทั้งนี้ นวัตกรรมเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล เป็นหนึ่งในกิจกรรม ‘โครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพื่อสุขภาวะคนเมือง (หลวง)’ โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งนำเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ใช้งานแล้วของ กทม. มาพัฒนาเป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล
โดยนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างฟางอัดแท่งหรือเศษไม้ มาแปลงเป็นพลังงานด้วยกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น ซึ่งเป็นการผลิตแก๊สเชื้อเพลิงหรือแปรรูปชีวมวลด้วยเตาผลิตแก๊ส โดยไม่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหรือควันดำที่สร้างมลพิษทางอากาศ นับเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการลดการเผาทางการเกษตร เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 และใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างเกิดประโยชน์